Sunday, February 04, 2007

“ทุกวันนี้ โลกเรามีเพลงมากเพียงพอแล้ว”


“ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับการแต่งเพลงบ้างล่ะเนี่ย” บ็อบถามขึ้นมาพร้อมกับหัวเราะร่วนอย่างพึงพอใจ เขาสวมกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ดื่มกาแฟจากแก้ว แทนที่จะเป็นถ้วยกาแฟ “รสชาติกาแฟดีกว่ากินจากถ้วย”บ็อบกล่าวยิ้มๆที่มุมปาก กีตาร์โปร่งสีบรอนด์วางอยู่ใกล้ ๆ กับตัวเขา ตัวเขาช่างมีอิทธิพลต่อสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูน่าสนใจไปซะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหรือว่า
เสื้อโค้ทของเขา
คงเป็นเรื่องยาก หากเราจะพูดถึงศิลปะการแต่งเพลงโดยที่ไม่ได้อ้างอิงถึงบุรุษผู้นี้ แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธว่าตัวเขาเองนั้นไม่ใช่นักแต่งเพลงที่วิเศษอะไร เขาเป็นแค่คนที่ใช้สัญชาติญาณในการเขียนเพลง เขาแค่รู้สึกว่าเพลงจะต้องประกอบด้วยเนื้อหาที่รุ่มรวยความหมายที่ลึกซึ้งเหนือกว่าเพลง
ป็อปทั่วๆไป นั่นจึงจะทำให้เพลงมีพลังและมีความงดงามเทียบเคียงได้กับบทกวีที่โด่งดัง และเมื่อนำสิ่งที่เขียนนั้นมารวมกับท่วงทำนองและดนตรี สิ่งนี้ก็สามารถที่จะสื่อสารกับจิตวิญญาณแห่งมนุษย์ได้
จอห์น เลนนอน กล่าวว่าเป็นเพราะเขาได้ฟังเพลงของดิแลน ทำให้ตัวเขาหันมาให้ความสนใจที่จะแต่งเพลงซึ่งสะท้อนออกมาจากส่วนลึกในใจของตัวเขาแทนที่จะเขียนเพลงป็อปแบบตื้นๆ “Help” เป็นเพลงที่แสดงออกซึ่งการร้องขอความช่วยเหลืออย่างจริงๆ พอล ไซมอนยังบอกว่าบ็อบนั้นมีอิทธิพลต่อการแต่งเพลงของเขาอย่างมากตั้งแต่ยุคเพลง ” Hey school girl” ร็อกแอนด์โรลในสไตล์ 50 จนถึง “The sound of silence”
บ็อบจะแก้ไขปรับปรุงเนื้อเพลงของเขาตลอดเวลา แม้ว่าในสตูดิโอที่ทำการอัดเสียงไปแล้ว เขาบอกว่า การเขียนเพลงไม่ใช่การแกะสลักบนหินซะเมื่อไร ด้วยวิธีการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยความหมายและความงดงามของบ็อบคือสิ่งที่นักเขียนเพลงต่างพร้อมที่จะขายวิญญาณเพื่อการค้นพบมัน
โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน หรือ บ็อบ ดิแลน เกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม 1941 ในมิเนโซต้า สหรัฐอเมริกา เขาได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงจาก วู๊ดดี้ กัทรี บ็อบย้ายตัวเองเข้าสู่นิวยอร์คด้วยเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เขาต้องการไปพบและดูแลวู๊ดดี้ ซึ่งกำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนิวเจอร์ซีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา มาร์จอรี กัทรี ภรรยาของวู๊ดดี้ บอกว่าดิแลนเป็นเด็กที่ดีมากและมีความเชื่อและศรัทธาในตัววู๊ดดี้อย่างมาก แต่เธอกล่าวว่าเธอไม่ชอบเสียงร้องของบ็อบสักเท่าไร และได้พยายามแนะนำให้บ็อบออกเสียงให้ชัดเจนกว่านี้เวลาที่บ็อบร้องเพลงของเขา
แต่คนที่ประทับใจในตัวบ็อบมากกว่ามาร์จอรี ก็คือจอห์น แฮมเมอร์ โปรดิวส์เซอร์ที่ชักนำบ็อบให้เซ็นสัญญาออกแผ่นเสียงกับตราโคลัมเบีย แม้ว่าอัลบั้มชุดแรกของเขาจะมีเพลงใหม่เพียงแค่สองเพลงเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพลงที่เขาเขียนอุทิศให้แด่วู๊ดดี้ “Song To Woody” และเพียงแค่อัลบั้มที่ 2 เท่านั้นเขาก็ได้สร้างเพลงซึ่งถือว่าคลาสสิคและถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงเพลงป็อป นั่นคือเพลง “ Blowing In The Wind” และเพลง “ Master Of War”
บ็อบเปลี่ยนแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเราด้วยงานระดับมาสเตอร์พีซของเขาอย่างต่อเนื่อง หลายๆเพลงจัดอยู่ในประเภทคลาสสิคตลอดกาล เช่น The freewheelin’ Bob Dylan , Blonde on Blonde , Nashville Skyline , The Basement Tape , John Wesley Harding , Blood On The Tracks , Desire , Oh Mercy และอีกมากมาย
“บางครั้งมันก็มากเกิน บางทีมันก็น้อยไป” เขาพูดถึงตัวเพลงของเขา
แม้ว่าแวน มอริสัน จะให้ฉายาแก่บ็อบว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขาเองกลับไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นกวี แต่อย่างใด “กวีจมน้ำหมดแล้ว” เขากล่าว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าสร้างบทกวีที่สวยงามขึ้นมาในโลก ดิแลนบอกว่า เขาไม่เคยคิดว่าตัวเขาเองเป็นนักเขียนเพลงมืออาชีพ สำหรับเขาการเขียนเพลงมันเหมือนการเขียนคำสารภาพ “เพลงของผมไม่ได้ถูกกำหนดโดยตารางเวลา” เขากล่าว
“ถ้าเช่นนั้น เพลงเหล่านั้นถูกเขียนขึ้นมาด้วยวิธีการเช่นไร” และนั่นคือหัวใจสำคัญที่ผมต้องการจะรู้จากปากของชายผู้นี้ เขาสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเราได้ศึกษาจากทุกอัลบั้มที่ผ่านมา อารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละเพลง รวมถึงรูปแบบและสไตล์ซึ่งได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า
อาร์โล กัทรี เคยพูดไว้ว่า “การเขียนเพลงก็เหมือนกับการหย่อนเบ็ดลงในกระแสน้ำ แล้วก็หวังว่าจะจับอะไรได้บ้าง ผมไม่คิดว่าจะมีใครนอกจากบ็อบที่สามารถจะจับอะไรได้”
บ็อบ หัวเราะร่วน
คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คุณจับได้เยอะแยะมากมายขนาดนั้น
หัวเราะอีก “บางทีอาจจะเป็นเพราะเบ็ดของผมก็ได้”
“เบ็ดชนิดไหนกันที่คุณเลือกใช้”
“คุณต้องใช้เบ็ด ไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องนั่งรอแล้วก็คาดหวังว่าเพลงมันจะเดินทางมาหาคุณ แต่การที่จะบังคับให้ได้มาคุณต้องใช้เบ็ด”
“มันได้ผล สำหรับคุณหรือ”
“อืมม ก็ไม่เชิง การพาตัวเองลงไปสู่เหตุการณ์ที่ต้องการการตอบสนองก็เหมือนกับการใช้เบ็ด ใครก็ตามที่พยายามเขียนอะไรสักอย่างโดยที่ตัวเขายังไม่เคยสัมผัสสิ่งนั้น ๆ จะทำให้เขาโดนเบี่ยงเบนออกจากความจริง
“ตอนที่คุณเขียนเพลงคุณใช้จิตสำนึกนำพาคุณไป หรือว่าคุณพยายามเดินตามความคิดของจิตใต้สำนึก”
“แรงขับเคลื่อนในเพลง เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเพลงและคุณไม่มีทางรู้ได้เลย ไม่ว่าเพลงของใครก็ตามคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าแรงขับเคลื่อนในเพลง ๆ นั้นมันคืออะไร มันจะดีมากหากคุณสามารถปล่อยตัวเองไว้ในสภาพแวดล้อมที่ยอมรับให้สิ่งต่าง ๆ จากจิตใต้สำนึกในตัวคุณได้แสดงตัวออกมา และจงปิดกั้นการควบคุมจากตัวคุณ อย่าให้มันครอบเรา ปล่อยให้มันไหลไป
หลายคนที่เรียกตัวเองว่านักเขียน พวกเขาส่วนใหญ่ก็รับข้อมูลข่าวสารมาจากทีวี หรือไม่ก็สื่อใดสื่อหนึ่งซึ่งมากระทบตัวเขาเหล่านั้น สิ่งที่เขาเขียนกันออกมามันจึงไม่ใช่นวนิยายที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว
คุณจำเป็นต้องเค้นความคิดความรู้สึกออกมาจากส่วนลึกของจิตใจออกมาให้ได้
“ทุกวันนี้ โลกเรามีเพลงมากเพียงพอแล้ว”
“คุณคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือ”
“ใช่มีมากพอแล้ว มีมากเกินพอเสียด้วยซ้ำ ว่ากันตามจริงถ้าตั้งแต่วันนี้ ไม่มีใครแต่งเพลงออกมาอีกเลย โลกก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร ทุกวันนี้มีเพลงเพียงพอแล้วให้คนบนโลกได้ฟังถ้าเขาต้องการจะฟังเพลง ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ๆ เกือบทุกคนมีแผ่นเสียงครอบครองเป็นร้อยๆแผ่น พวกเขายังไม่เคยหยิบมาฟังซ้ำเสียด้วยซ้ำ ผมจึงเชื่อว่าโลกเรามีเพลงเพียงพอแล้ว นอกเสียจากจะมีใครสักคนสร้างงานออกมาจากหัวใจอันบริสุทธิของเขาซึ่งนั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแตกต่างออกไป แต่เท่าที่ผ่านมาการเขียนเพลงเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้แม้คนโง่ ๆ ถ้าคุณเห็นผมทำได้ คนโง่ ๆ อีกหลายคนก็ทำได้(หัวเราะ) มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ทุกคนแต่งเพลงได้เหมือนกับที่ทุก ๆ คนแต่งนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ได้”
“แต่เพลงของคุณนั้นมีมากกว่าการเป็นความบันเทิงที่ป็อป ๆ”
“ป็อป ไม่มีความหมายสำหรับผม ไม่มีความหมายจริง ๆ มาดอนน่า..สุดยอด เธอเป็นมืออาชีพ เธอนำทุกอย่างมาผสมผสานรวมกันเพื่อทำงานของเธอ เธอเรียนรู้ทุกอย่างเพื่อนำมาสร้างงาน แต่การทำเช่นนั้นคุณจะต้องทุ่มเททั้งหมดกับมัน ปีแล้วปีเล่า คุณจะต้องเสียสละทั้งหมดที่คุณมีเพื่อจะทำสิ่งนั้น เสียสละทั้งหมดเท่าที่คุณมีเพื่อที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันต้องเป็นเช่นนั้น เหมือนกันหมดทุกเรื่อง”
“แวน มอริสัน บอกว่าคุณคือบทกวีที่ยิ่งใหญ่ที่ยังมีชีวิต คุณเคยคิดว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า”
“บางครั้ง บางครั้งผมก็รู้สึกเช่นนั้น แต่มันไม่จริงหรอก ไม่จริง”
“กวีไม่ขับรถ (ยิ้ม) กวีไม่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต กวีไม่ต้องมีหน้าที่เทถังขยะ กวีไม่จำเป็นต้องไปหาแหล่งกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน และอีกมากมายหลายอย่าง กวีไม่แม้กระทั่งรับโทรศัพท์ กวีไม่พูดกับใคร ๆ กวีเอาแต่เงี่ยหูฟัง และโดยทั่วไปเขาจะรู้ตัวเองว่าเขาเป็นกวี(หัวเราะ)
โลกเราไม่ต้องการบทกวีหรือบทกลอนอีกแล้ว เรามีเชคสเปียร์แล้ว ทุกอย่างมีเพียงพอแล้ว คุณนึกมาสิ ทุกอย่างมีพอแล้ว เรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างเพียงพอแล้ว บางคนบอกว่า หลอดไฟฟ้านี่ เดินทางมาไกลเกินไปเสียด้วยซ้ำ
กวีอยู่บนแผ่นดินนี้อย่างสุขุม สันโดษ และอยู่แต่ในดินแดนของพวกเขา แล้วก็อดตาย หรือไม่ก็จมน้ำตาย กวีมักมีตอนจบที่ปวดร้าว ดูอย่างจิม มอริสันนั่น ถ้าคุณจะเรียกเขาว่ากวี

No comments: