Monday, November 13, 2006

" ก้น "



สาวคนหนึ่งเคยถามคำถามที่ทำให้ผมต้องใช้เวลาคิดอยู่นานทีเดียว “ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบส่วนใดในตัวผู้หญิงมากที่สุด” ผมบอกเธอว่า น่าจะต่างจิตต่างใจนะ ถ้าส่วนตัวผมแล้วผู้หญิงต้องขาเรียวสวย ผิวสวย นอกนั้นสำหรับผมยังไงก็ได้ เธอบอกว่าเท่าที่เธฮรู้จักเพื่อน ๆ หนุ่มด้วยกันส่วนใหญ่มักจะชอบมองก้นและหน้าอก สองอย่างนี้คือประตูหน้าที่บรรดาหนุ่ม ๆ จะให้ความสนใจ
ด้วยคำถามเดียวกัน ผมถามเธอกลับบ้าง “แล้วสาวๆ สมัยนี้มองส่วนไหนของผู้ชาย” เธอบอกว่าบั้นท้ายนั่นแหละที่จะสามารถดึงดูดความสนใจให้บรรดาสาว ๆ เคลิบเคลิ้มและคลั่งไคล้ในตัวหนุ่มผู้นั้นได้ “สาว ๆ ก็ให้ความสำคัญกับก้นของชายหนุ่มด้วยหรือนี่” ถ้าไม่ออกมาจากปากของตัวแทนสาว ๆ ผมคงไม่มีวันเชื่ออย่างแน่นอน เธอบอกว่าค่านิยมชื่นชมบั้นท้ายชายหนุ่มเกิดขึ้นในเมืองนอกสาว ๆ ต่างชาติจะพิจารณาก้นของชายหนุ่มก่อนอื่นที่จะเข้าไปทำความรู้จัก ว่ากันว่า
แบรด พิต ในหนังเรื่อง ทรอย ทำให้สาว ๆ กลับมาให้ความนิยมในตัวเขาอีกครั้งจากพลังเสน่ห์แห่งบั้นท้ายของเขา ค่านิยมดังกล่าวเริ่มลุกลามมาสู่สาวไทยของเรา เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมเองก็ไม่ทราบได้ นั่นเป็นเพียงความคิดเห็นของตัวแทนเพียงคนเดียวของบรรดาสาวไทย
ผู้ชายคลั่งก้นสาว ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ผมพอจะได้ยินได้ฟังมาบ้าง แต่ผู้หญิงก็จ้องมองก้นผู้ชายเหมือนกัน เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม (เพราะไม่เคยสังเกตและไม่เคยถามใคร)
ผมเคยพบบทความหนึ่งในเว็บและได้เซฟเก็บไว้(ขออภัยที่ไม่ได้จำที่มาของบทความแต่ขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้นะที่นี้ด้วยครับ)จะขอนำมาเล่าต่อดังนี้ เขาว่าก้นสามารถบอกนิสัยใจคอของสาวผู้เป็นเจ้าของได้ดังนี้

ก้นแบบที่ 1 "ก้นกลมกลึงและผึ่งผาย"
ความกลมกลึง และ ผายใหญ่ของก้นสาว ประเภทนี้ บ่งบอกถึง ความมีเสน่ห์ ทางเพศของนางจนเต็มล้น ซึ่งคุณย่อมทราบดี ว่ายามที่ นางเคลื่อนไหวส่ายก้นนั้นจะเร้าใจขนาดไหน นางผู้นี้จะมีนิสัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบเข้าสังคม ทั้งยังเป็นสาวที่เปิดเผย พูดจา ตรงไปตรงมา และ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และด้วยความมั่นใจ ในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม นางจึง ชอบความท้าทาย เป็นพิเศษ แต่ก็เบื่อกับความ จำเจ เช่นกัน ดังนั้นควรพาเธอ เปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง เพื่อชีวิตรักที่ยืนยง
ก้นแบบที่ 2 "ก้นจิ๋วแต่แจ๋ว"
ลักษณะก้นของนางผู้นี้ แม้จะเล็กแต่ก็แน่น ปึ๋งปั๋ง เรียกว่า แม้จะ ดูปริมาณไม่มาก แต่คุณภาพคับจอ นางจะเป็นคนไม่ชอบพูดพล่ามมากนัก เพราะนางเป็นนักปฏิบัติที่ดีนักแล จนคุณ อดสะท้านในความมหัศจรรย์ไม่ได้ นางผู้มีก้นเล็กนี้ จะชอบอะไรที่สนุกสนาน และ โลดโผน ความมีชีวิตชีวาของนาง จะทำให้คุณประทับใจ แต่นางก็เป็นสาวเอาแต่ใจตัวเอง และมักไม่ปล่อยตัว ปล่อยใจ ให้เตลิดเปิดเปิง เพราะนางใช้สมองตัดสินใจ มากกว่าอารมณ ์แต่ถ้าทั้งสองอย่างมาบรรจบกันความสุขนานับประการจะตกอยู่ที่คุณ
ก้นแบบที่ 3 "ก้นแบนและแฟบ"
สำหรับนางที่มีก้นแบน มักจะแสดงออกถึงความเป็นสาวที่ รักนวลสงวนตัวเป็นที่ตั้ง เหตุเพราะความไม่มั่นใจ ในสรีระร่างกายเป็นที่ตั้ง นางจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น คุณจึงมีหน้าที่เป็นผู้สร้างอารมณ์ให้กับนางเท่านั้น เพราะนางจะชอบเก็บเนื้อเก็บตัว และ ชอบครุ่นคิดกับตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว แต่เมื่อนางคิดอยากจะให้ใครมา สัมผัสเนื้อนูนของนางแล้วนั้น นางจะจงรักภักดีไปตลอดกาล
ก้นแบบที่ 4 "ก้นย้อยและย้วย"
นางใดที่เป็นเจ้าของก้นลักษณะนี้ มักจะมีอายุเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะด้วย แรงดึงดูดของโลก ผนวกกับกาลเวลา จึงแปรผันให้นางเป็นเช่นนี้แล นางจะ เป็นสาวชอบสันโดษ ไม่ชอบความท้าทาย เป็นอย่างยิ่ง และนางก็จะไม่ฟิตเท่าที่ควร หากคุณ (ยัง) อยากมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนาง จำต้องสรรหา สถานที่ที่เป็นส่วนตัว แบบสุดๆ เท่าที่จะทำได้ เพราะนางจะรู้สึกกังวล และ ไม่กล้าเปิดเผย แต่นางก็เป็นคนที่รักสงบ และ ไม่ชอบระรานใคร
ก้นแบบที่5 "ก้นงอนและกลมกลึง"
หากนางใดได้เป็นเจ้าของ บั้นท้าย ลักษณะนี้ ถือว่ามีโชคและสิริมงคลต่อผู้เป็นเจ้าของ ทั้งทางนิตินัย และทางพฤตินัย นักแล เพราะก้นนี้ เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้นำ ความสำเร็จในชีวิต และ ความมั่งคั่ง แต่บางครั้งอารมณ์นางจะทำให้คุณ เกิดปัญหาบ้าง เพราะมีครบทุกรส ขึ้นอยู่ที่ว่า คุณจะประคับประคอง และ รู้หลบรู้หลีก ไปได้ดีแค่ไหน สำหรับเรื่องความร้อนแรงนั่นเล่า นางจะต้องการ อย่างไม่มีวันจบสิ้น นางชอบความ เร้าใจอยู่เสมอ ผู้ใดเป็นเจ้าของทั้งทางนิตินัย และ พฤตินัยของนาง จะประสบความสำเร็จในชีวิต มั่งคั่งและ ร่ำรวยเงินทอง

Fat Bottomed Girls
Queen.
album Jazz.
released in 1978

are you gonna take me home tonight
ah down beside that red firelight
are you gonna let it all hang out
fat bottomed girls
you make the rockin' world go round

hey i was just a skinny lad
never knew no good from bad
but i knew life before i left my nursery
left alone with big fat fanny
she was such a naughty nanny
heap big woman you made a bad boy out of me
hey hey

i've been singing with my band
across the wire across the land
i seen ev'ry blue eyed floozy on the way
but their beauty and their style
went kind of smooth after a while
take me to them dirty ladies every time

oh won't you take me home tonight
oh down beside your red firelight
oh and you give it all you got
fat bottomed girls you make the rockin' world go round
fat bottomed girls you make the rockin' world go round

hey listen here
now your mortgages and homes
i got stiffness in the bones
ain't no beauty queens in this locality i tell you
oh but i still get my pleasure
still got my greatest treasure
heap big woman you gonna make a big man out of me
now get this

oh you gonna take me home tonight please
oh down beside your red firelight
oh you gonna let it all hang out
fat bottomed girls you make the rockin' world go round
fat bottomed girls you make the rockin' world go round
get on your bikes and ride

oooh yeah them fat bottomed girls
fat bottomed girls
yeah yeah yeah
fat bottomed girls
yes yes


เพลงนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เพลงของวงควีน (ราชาในนามราชินี สำนวนของคุณวิฑูร วทัญญู ดีเจชื่อดังสมัยผมยังเด็ก)ที่ผมชอบมาก ความจริงก็ชอบเกือบจะทุกเพลง ผู้แต่งเพลงนี้คือมือกีตาร์ของวงไบรอัน เมย์ (Brian May) ประเด็นหลักที่ต้องการสื่อสารคือผู้หญิงสวยอาจจะไม่สวยอย่างที่เห็นก็เป็นได้ ปัจจุบันสมาชิกของควีนยังอยู่ครบคือ กีตาร์ : Brian May เบส : John Deacon
กลอง : Roger Taylor ส่วนเปียโน – นักร้องนำ – และคนเขียนเพลงส่วนใหญ่ คือ
Freddie Murcury ได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้วจากการติดเชื้อเอดส์

Wednesday, November 08, 2006

"น้ำ"


ผมลืมไปแล้วว่าครั้งแรกที่ผมต้องจ่ายเงินซื้อ ”น้ำเปล่า” กินนั้น มันตั้งแต่เมื่อไรกัน จำได้แต่ว่าตอนเด็ก ๆ นั้นไม่ว่าจะไปกินก๊วยเตี๋ยวที่ร้านไหน หากสั่งน้ำแข็งเปล่าก็จะได้รับการบริการฟรี ไม่เสียเงิน ยกเว้นวันไหนมีตังค์เหลือก็สั่งน้ำอัดลมมากิน วันนั้นไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งข้างหน้า “น้ำเปล่า” จะมีราคาและนำมาขายได้ และขายดีซะด้วย เมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวเดนมาร์ก เที่ยวบินนั้นต้องแวะค้างที่กรุงอัมมันประเทศจอร์แดนหนึ่งคืน ผมกับแม่ได้มีโอกาสแวะชิมอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เราสองแม่ลูกก็ลองสั่งอาหารพื้นบ้านของเขา ซึ่งเราทั้งคู่ไม่รู้จักสักรายการ อาศัยจิ้ม ๆ ในรายการอาหาร และสอบถามคร่าว ๆ ถึงเมนูนั้น ๆ พร้อม ๆ กับชำเลืองมองราคาไปด้วย ในหัวก็คำนวนออกมาเป็นเงินบาท เมื่อถึงเครื่องดื่ม ผมสั่งโคคา โคล่า แม่ขอน้ำเปล่า
เมื่อบริกรเดินจากไป ผมก็ยังคงหมกมุ่นอยู่กับเมนูเล่มนั้น เพราะไม่รู้จะไปสนใจอะไร จึงใช้เวลาไปกับการไล่สายตาไปบนรายการอาหารและดูราคาพร้อมคำนวณออกมาเป็นเงินบาท เมื่อไล่มาถึงน้ำเปล่า ก็ตกใจว่าน้ำเปล่ามามีในรายการอาหารและเครื่องดื่มด้วยหรือ และยิ่งให้ตกใจไปมากกว่านั้น ราคาของมันเมื่อคำนวณเป็นเงินบาทแล้วสูงมาก ผมจำราคาไม่ได้ แต่จำความรู้สึกตกใจในตอนนั้นได้ ขนาดน้ำเปล่ายังแพงขนาดนั้นแล้วโคคา โคลา ของผมมันจะราคาเท่าไรกันล่ะนี่ แต่แล้วก็ผิดคาด โคคา โคลา ของผมราคาถูกกว่าน้ำเปล่ามาก แม้กระทั่งเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เบียร์ เหล้า ก็ราคาถูกกว่า นั่นอาจจะเกือบ ๆ 30 ปีมาแล้ว ความรู้สึกของผมตอนนั้นคิดว่าเมืองทะเลทราย น้ำคงหายาก จึงนำเอามาขายในราคาสูง ๆ ได้ สู้เมืองไทยเราไม่ได้ น้ำเปล่า (หรือที่เรียกกันติดปากเวลาไปกินตามร้านว่า”น้ำแข็งเปล่า”) นั้นให้ฟรี นั่นเป็นเรื่องมูลค่าของ”น้ำ”ที่เพิ่มมูลค่าขึ้นทุกวัน จนเราไม่ทันสังเกต
ผมเคยมีคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับ”น้ำ”มากมายหลายคำถาม เริ่มต้นตั้งแต่เรียนวิชาภูมิศาสตร์ที่ตำราสอนไว้ว่า แผ่นดินกับแผ่นน้ำนั้นมีสัดส่วน 1:3 หมายถึงว่าบนโลกเรานั้นมี่พื้นดินเพียง 1 ใน 3 ของพื้นน้ำ โตขึ้นมาผมจินตนาการคำถามกับตัวเองต่อไปว่าในอนาคตสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ ก่อนหน้าที่สัดส่วนจะเป็น 1:3 นั้น สัดส่วนเคยเป็น 2:2 หรือไม่ แล้วผืนน้ำก็เพิ่มขึ้นเบียดให้ผืนดินเหลือเพียง 1 ส่วน หากเป็นเช่นนั้นในวันข้างหน้าผืนดินเราจะลดลงไปอีกหรือเปล่า จนในที่สุดโลกอาจจะเป็นน้ำทั้งหมดก็ได้ แล้วคำถามก็ได้รับคำตอบว่าเป็นไปได้เพราะน้ำแข็งที่ขั้วโลกมีโอกาสละลาย จนน้ำท่วมโลก แต่ผมก็ไม่ทราบว่ามันจะอีกนานแค่ไหน

คำถามที่ตามมาเกี่ยวกับ”น้ำ”ของผมก็คือ น้ำมีชีวิตจิตใจหรือเปล่า แล้วก็ดูเหมือนผมจะได้คำตอบเมื่ออ่านหนังสือเจอการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่ทำการทดลองและสรุปเอาไว้ว่าน้ำมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ เขานำน้ำมาส่องกล้องดูผลึกของน้ำซึ่งก่อนส่องก็จะพูดคำเพราะ ๆ ให้น้ำฟัง แล้วนำมาส่องดูผลึก ๆ จะสวยงามมาก จากนั้นก็นำน้ำแก้วเดียวกันนั้นมาพูดคำหยาบคายต่าง ๆ นา ๆ ให้ฟัง ผลึกของน้ำจะดูน่ากลัว และยังทำการทดลองอีกหลาย ๆ วิธีผมจำไม่ได้ซะแล้ว ซึ่งก็ได้บทสรุปออกมาว่า”น้ำ” มีชีวิต จิตใจและมีอารมณ์
และยังเคยอ่านหนังสือพบว่า ถ้าคุณตื่นนอนตอนเช้าแล้วยังไม่ต้องแปรงฟันแต่ดื่มน้ำอุณหภูมิปกติให้ได้ในคราวเดียว 5 แก้ว จนเป็นนิสัยไปตลอด ร่างกายของคุณจะแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ระบบขับถ่ายและระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะทำงานได้อย่างดี ผมไม่ทราบว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ลองดูก็ไม่เห็นจะเสียหาย เพราะอย่างไรเสียน้ำก็มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ดี

ทุกวันนี้เมื่อเข้าร้านอาหารผมมักจะสั่งโค้ก เพราะราคาก็ไล่ ๆ กันกับน้ำ และตัวเองก็รู้สึกเอาเองว่า ในราคาที่ใกล้เคียงการดื่มน้ำอัดลมน่าจะคุ้มค่ากว่าน้ำเปล่า(คิดโง่ ๆ หรือเปล่าไม่รู้) นอกเสียจากบางครั้งที่รู้สึกว่าพุงตัวเองชักยื่น ๆ และอึดอัดก็จะสั่งน้ำเปล่า เพราะน้ำอัดลมนั้นมีส่วนทำให้พุงป่องอย่างแรง ถึงเวลานี้จึงอยากรู้นักว่าไอ้น้ำอัดลมนี่มันเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไรกันนะ เท่าที่จำได้เกิดมาผมก็เจอกับมันแล้ว และที่จำได้ลึก ๆ(หมายถึงถ้าไม่นั่งคิดจริง ๆ ก็อาจลืมไปแล้ว)ก็คือหนังโฆษณาของโคคา โคลา ซึ่งตอนนั้นผมน่าจะอายุไม่เกินแปด เก้าขวบ เป็นหนังโฆษณาที่ใช้เพลงเป็นตัวสื่อ มาค้นพบภายหลังว่าหนังโฆษณาชุดนั้นออกอากาศไปทั่วโลกในปี 1971 ชื่อเพลง
“I like to buy the world a Coke” แต่งโดย Roger Cook และ Roger Greenaway จากนั้นเพลงก็ฮิตและถูกนำมาแต่งเนื้อเพลงใหม่และขับร้องเพื่อการพาณิชย์โดยเฉพาะโดยวง The New Seekers และ The Hillside Singers โดยครั้งแรกนั้นวง The New Seekers นั้นไม่ว่างที่จะบันทึกเสียง วง The Hillside Singers จึงได้รับเลือกให้บันทึกเสียงและออกซิงเกิ้ลแรกไปก่อน แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ The New Seekers ได้บันทึกเสียงและออกซิงเกิ้ลซึ่งนับเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 และเวอร์ชั่นของThe New Seekers นี้เองที่พาให้เพลง “I like to teach the world to sing” ขึ้นสู่ top 10 บนชาร์ตของอเมริกา อาจจะนับได้ว่าเพลงโฆษณานั้นได้ช่วยโปรโมทให้เพลง ๆ นี้ดังล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เมื่อเพลงได้ถูกบันทึกออกมาเป็นซิงเกิ้ลจึงโด่งดังและได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว อิทธิพลจากทีวีเริ่มเข้ามามีบทบาทกับความนิยมของบทเพลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระมัง
I’d like to teach the world to sing
I'd like to build the world a home
And furnish it with love
Grow apple trees and honey bees
And snow-white turtle doves

Chorus:
I'd like to teach the world to sing
In perfect harmony
I'd like to hold it in my arms
And keep it company
(that's the song i hear)
I'd like to see the world for once
(let the world sing today)
All standing hand in hand

And hear them echo through the hills
For peace throughout the land
That's the song i hear
(that's the song i hear)
Let the world sing today
(let the whole wide world keep singing)
A song of peace that echoes on
And never goes away

(repeat 1st stanza and chorus)

Put your hand in my hand
Let's begin today
Put your hand in my hand
Help me find a way

(repeat chorus til fade)

Friday, October 13, 2006

ฝนกับฝัน




วันนี้ วันที่ผมกำลังนั่งเขียนบันทึกนี้เป็นคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ฝนข้างนอกกำลังตกลงมาดั่งฟ้ารั่ว ความจริงตั้งแต่ต้นเดือนมาแล้วที่ฝนตกลงมาด้วยปริมาณที่เกินความต้องการ หลังจากที่อากาศร้อนเกินความต้องการก่อนหน้านี้มาแล้ว ผมรู้สึกอยู่ก่อนแล้วว่าหากอากาศร้อนขนาดนี้ เมื่อเข้าหน้าฝนจะต้องเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาอย่างแน่นอน เท่าที่จำได้ผมเคยเจอกับปัญหาน้ำท่วมเช่นนี้มาก่อนหน้าถึงสองครั้ง ครั้งแรกในปี 2526 ครั้งที่ 2 ในปี 2538 และครั้งนี้ปี 2549 นับโดยเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 10 ปีครั้ง สำหรับครั้งนี้ ณ วันนี้มีจังหวัดที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคกลาง ลพบุรี สิงห์บุรี อยุธยา นครสวรรค์ และอื่นๆ ส่วนในกรุงเทพฯนับว่ายังไม่เกิดปัญหาหนักมาก จะมีก็เพียงบางครั้งในเวลาสั้น ๆ ยังไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ดั่งเช่นจังหวัดอื่น ๆ

ตอนนี้ในขณะที่ผมนั่งเขียนบันทึก ฝนข้างนอกยังส่งเสียงดังสลับกับเสียงคำรามของสายฟ้าอย่างต่อเนื่อง วิทยุที่เปิดทิ้งไว้ ดีเจเริ่มเปิดเพลงที่เกี่ยวข้องกับฝนอย่างต่อเนื่อง คิดว่าคืนนี้ดีเจท่านนี้คงจับประเด็นและเล่นเพลงเกี่ยวกับฝนไปจนจบแน่นอน แปลกที่เมื่อเราได้ฟังเพลงที่เกี่ยวข้องกับฝนอย่างต่อเนื่อง เราจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนเลยว่าเพลงเหล่านั้นมันช่างโรแมนติกไปซะทุกเพลง ฝนถูกจับมาเป็นเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศของเนื้อหาในบทเพลงได้อย่างดี ไม่ว่าเนื้อหาในเพลงจะสมหวังหรือผิดหวัง อย่างน้อยมันทำให้ผมรู้สึกถึงความสวยงามของความรักได้

ฝน ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในที่หนึ่ง กับฝนที่กำลังทำให้คนในอีกที่หนึ่งล่องลอยไปในความฝัน เป็นฝนเม็ดเดียวกันจากฟ้าเดียวกัน ฝนเม็ดนั้นอาจจะไม่เป็นที่ต้องการของนักธุรกิจที่กำลังจะออกไปพบลูกค้าเพื่อการเจรจาการค้าครั้งสำคัญ แต่สำหรับเด็ก ๆ ฝนเม็ดนี้คือสิ่งที่พวกเขารอคอยที่จะออกไปวิ่งเล่นหยอกล้อดุจเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน ฝนเม็ดนี้สำหรับหนุ่มสาวมันอาจนำพาความทรงจำเก่า ๆ ความรักเก่า ๆ กลับมาในความคิดคำนึง แม้ไม่นาน แต่ก็ชื่นใจไม่น้อย ด้วยความที่ฝนเม็ดเดียวกันมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตอันต่างกันของผู้คน บางครั้งเราจึงเห็นเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นน้ำฝนจนน้ำกระจายไปใส่ผู้ใหญ่ซึ่งมีกิจธุระต้องรีบไปทำ จนต้องตะโกนด่าทอเด็ก ๆ ออกมาอย่างรุนแรงแข่งกับเสียงฝนระคนกับเสียงหัวเราะสนุกสนานอย่างไม่สนใจใยดีของเด็ก ๆ

ระหว่างเก่ากับใหม่ ระหว่างใหญ่กับเล็ก ขาวกับดำ น้อยกับมาก บางทีที่ตรงนั้นอาจเป็นจุดพอดี ที่เรียกกันว่า สายกลาง อันเป็นจุดลงตัวที่จะยุติปัญหาความไม่พอดี
ขนาดใหญ่ไป ขนาดเล็กไป จึงต้องใช้ ขนาดกลาง เข้าแก้ไขปัญหา
น้อยไปก็ไม่พอ มากไปก็เกินต้องการ นานไปก็เบื่อ เร็วไปก็ไม่ทัน
บทเพลงที่เกี่ยวข้องกับฝนยังคงดำเนินต่อไป
“นานอีกหน่อย” ของใหญ่ โมโนโทน
“ฝน” ของเบิร์ดกะฮาร์ท
“รักปอน ปอน” ของไมโคร .......
ดึกมากแล้ว ผมเตรียมตัวเข้านอน แล้วผมก็ได้ยินเพลงนี้ออกมาจากลำโพงก่อนที่จะล้มตัวลงนอน
Listen to the rhythm of the falling rain
Telling me just what fool I’ve been
I wish that it would go and let me cry in vain
And let me be alone again.
ผมได้รู้จักกับเพลงนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มารู้สึกประทับใจในตัวเพลงจริง ๆ ก็เมื่อเริ่มที่จะเป็นหนุ่ม จนถึงทุกวันนี้แม้จะไม่มีโอกาสได้ฟังมันบ่อยนัก แต่ในค่ำคืนนี้ คืนที่ฝนฟ้าคะนอง ท่วงทำนองแห่งเพลงพาผมกลับไปยังวัยหนุ่ม พาผมหวนไปพบกับความรักในครั้งนั้น แม้ว่าผมจะจำเธอคนนั้นไม่ได้แล้ว แต่ก็ทำให้ผมคิดถึงละโหยหาวันเวลาแห่งวัยหนุ่มอีกครั้ง
“RHYTHM OF THE RAIN” แต่งโดย John Claude Gummoe นักร้องนำ หนึ่งในสมาชิกแห่งวง
The Cascades เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับพวกเขาอย่างสูงในปี 1963 ถึงกับมีการกล่าวถึงเพลงนี้ว่าเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่เพลงสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของ The Beatles
John Gummoe เติบโตมากับวัยเด็กที่ไม่เพียบพร้อม พ่อของเขาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง คุณแม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่นั่นก็เป็นข้อดีที่ทำให้เขามีแรงบันดาลใจที่จะผลักดันตัวเองไปข้างหน้า โดยตั้งใจที่จะไม่เป็นอย่างพ่อของเขาอย่างเด็ดขาด เขาตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงเลย
ฝนเริ่มเบาลงแล้ว ผมคงหลับไปแล้ว
ในคืนนั้นความฝันของผมเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเลือนลาง ผมฝันถึงบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของผม
บางอย่างที่ผมสร้างขึ้นมาและยังจะคงอยู่ แม้ในวันที่ผมไม่อยู่แล้วก็ตาม

Wednesday, July 26, 2006

"Somewhere Over the Rainbow"


คุณเห็น”รุ้งกินน้ำ”ครั้งสุดท้ายเมื่อไร สำหรับผมจำไม่ได้ซะแล้ว อยู่ดีดีในวันที่ฝนฟ้าตกหนักและหยุดลง อากาศเย็นสบาย ผมนั่งดูหน้าบ้านจ้องมองไปบนท้องฟ้าและก็ให้รู้สึกคิดถึง”รุ้งกินน้ำ”ขึ้นมา เคยจำได้ว่าสมัยเรียนหนังสือตอนเป็นเด็ก ในชั่วโมงวาดเขียน(หรือชั่วโมงน่าเบื่ออื่น ๆ ) ผมมักจะวาดภาพรุ้งกินน้ำบ่อย ๆ เพราะมันสวยและวาดไม่ยากนัก แม้จะวาดภาพวิวซึ่งเป็นภาพยอดนิยมสำหรับผมก็จะต้องมีรุ้งกินน้ำประกอบอยู่ด้วยเสมอ แม้คุณครูจะพร่ำสอนว่ามันเป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ อย่างผมในขณะนั้นอดคิดไม่ได้ว่าบนนั้นจะมีเทวดาอาศัยอยู่หรือเปล่า
“อย่าชี้นะ ถ้าชี้รุ้งนิ้วจะกุด” เด็กโตคนหนึ่งเคยเตือนผมไว้ พร้อมบอกวิธีแก้ให้เสร็จ
“หากเผลอชี้ไปแล้ว ต้องเอานิ้วไปจิ้มก้นตัวเอง แล้วเอามาดม” นั่นคือวิธีแก้ไม่ให้นิ้วกุด และยิ่งทำให้ผมรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรุ้งกินน้ำยิ่งขึ้น ถึงบัดนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าผู้ใหญ่ท่านทำไมจึงไม่อยากให้เราชี้รุ้ง เคยถกเรื่องนี้กับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง คือนายโด๊ด อดีตมือคีย์บอร์ดวง วายน็อตเซเว่น โด๊ดออกความเห็นว่า อาจะเป็นเพราะเด็ก ๆ สมัยก่อนต้องวิ่งเล่นกะดินกะทราย มือไม้อาจจะสกปรกเปรอะเปื้อน การยกมือขึ้นชี้ฟ้า(ชี้รุ้ง)อาจจะทำให้ฝุ่นที่ติดมือปลิวเข้าตา เพราะว่าช่วงรุ้งมาหลังฝนตกลมมักจะแรง ผมฟังแล้วก็ไม่ค่อยคล้อยตามเท่าไร แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าผู้ใหญ่คงไม่มาห้ามเด็ก ๆ อย่างเราอย่างไม่มีเหตุผลแน่ ๆ
“กูว่าผู้ใหญ่ท่านเชื่อว่ารุ้งเป็นปรากฏการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ว่ะ” ผมออกความเห็นค้านสิ่งที่โด๊ดคิด
“ท่านก็เลยคิดว่าไม่ควรไปชี้ เพราะอาจจะเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์” โด๊ดไม่เถียง ไม่รู้ว่าเห็นด้วยหรือว่ายังคิดเหตุผลคัดค้านอื่น ๆ ไม่ออก
“หรือท่านจะคิดว่ารุ้งกินน้ำเป็นภาพเขียนของเทวดา” เมื่อค้านไม่ได้โด๊ดเลยหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อของผม
“เออ แล้วรุ้งทำไมกินน้ำอย่างเดียววะ ทำไมรุ้งไม่กินข้าวบ้าง” ความคิดผมเตลิดไปใหญ่ แบบไม่จริงจังนัก
“ฝนตก น้ำเยอะ รุ้งก็เลยลงมากินน้ำ เขาเลยเรียกรุ้งกินน้ำพี่” โด๊ดอธิบายดุจผู้เชี่ยวชาญทางปรากฏการณ์วิทยา
ทำให้ผมคิดได้ว่า อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยนั้นเราทำไร่ทำนากันส่วนใหญ่ เมื่อฝนตก น้ำท่วมไร่นา ก็จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่เมื่อรุ้งกินน้ำ ปรากฏขึ้น มาช่วยกินน้ำ ก็เป็นการช่วยชาวไร่ชาวนาให้รอดจากการถูกน้ำท่วม ชาวบ้านจึงถือว่ารุ้งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาช่วยชาวบ้านกินน้ำ
ระยะหลัง ๆ เราไม่ค่อยได้เห็นรุ้งกินน้ำบ่อยนักหรือแทบไม่ได้เห็นเลย เราจึงเจอปัญหาน้ำท่วมบ่อย ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพ
“รุ้ง” มีส่วนร่วมในชีวิตของเด็ก ๆ รุ่นผมอยู่มากทีเดียว อย่างน้อยก็น่าจะมากกว่าเด็ก ๆ ในวันนี้ ที่กล้าพูดแบบนี้ เพราะว่า “รุ้ง”ปรากฏตัวขึ้นบนท้องฟ้าบ่อยมากเมื่อตอนผมเด็ก ๆ เมื่อเห็นบ่อย เมื่อถึงเวลาวาดรูป เด็ก ๆ จึงนำภาพรุ้งไปไว้บนกระดาษวาดเขียนของเขาบ่อย ๆ เช่นกัน
“รุ้ง”ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับจินตนาการของเด็ก ๆ ในสมัยนั้น หลายครั้งในวันนั้นผมอดคิดไม่ได้ว่าบนสายรุ้งสีสดทั้ง 7 สีนั้น จะมีเมืองอยู่บนนั้นได้หรือไม่ และเมือง ๆ นั้นคงจะสวยงามและสีสันสดใสทีเดียว

"Somewhere Over the Rainbow"
Music by Harold Arlen
Lyrics by E.Y. Harburg


Somewhere over the rainbow
Way up high,
There's a land that I heard of
Once in a lullaby.
Somewhere over the rainbow
Skies are blue,
And the dreams that you dare to dream
Really do come true.

Someday I'll wish upon a star
And wake up where the clouds are far
Behind me.
Where troubles melt like lemon drops
Away above the chimney tops
That's where you'll find me.

Somewhere over the rainbow
Bluebirds fly.
Birds fly over the rainbow.
Why then, oh why can't I?

If happy little bluebirds fly
Beyond the rainbow
Why, oh why can't I?

เพลง ๆ นี้ประพันธ์เนื้อร้องโดย E.Y. Harburg ประพันธ์ดนตรีโดย Harold Arlen ขับร้องโดยจูดี้ การ์แลนด์ (Judy Garland)c] และตัวเธอรับบทเป็น โดโรธี เด็กช่างฝันในภาพยนตร์เรื่อง
The Wizard of OZ ออกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ.1939 จัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิคยอดเยี่ยมตลอดกาลของอเมริกา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 รางวัลรวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1939
วันนี้ ฝนตกหนักทั้งวันเช่นเดียวกันกับเมื่อวันวาน จิตนาการของผมกำลังเลือนหายไป เพราะความจริงที่วิ่งเข้ามาในชีวิตมันช่างมากมายเหลือเกิน ผมเหนื่อย ผมหน่าย จิตนาการจึงค่อย ๆ เลือนหายไปพร้อม ๆ กับสายรุ้ง ที่ไม่มีวันรุ่งอยู่บนฟ้าอีกแล้ว

Thursday, June 15, 2006

คิดถึงสังคัง




เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันนั้น ประมาณปีพ.ศ. 2511 – 2512 สนามซีเมนต์ขนาดประมาณสนามบาสเก็ตบอล ถูกใช้เป็นสนามฟุตบอลขนาดย่อม ลูกฟุตบอลพลาสติกขนาดเล็กถูกเตะไปเตะมาจากผู้เล่นทั้ง 14 คน ข้างละ 7 คน ความยากของเกมส์ นอกจากจะต้องพาลูกฟุตบอลหลบหลีกฝ่ายตรงข้ามแล้วนั้น นักฟุตบอลรุ่นจิ๋วในสนามจะต้องหลบเลี่ยงการวิ่งเข้าชนจากผู้เล่นทีมอื่น ๆ ในสนามซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 6 ทีม นั่นหมายความว่าสนามเล็ก ๆ นั้นจะมีผู้เล่นในสนามทั้งหมดอย่างน้อย 42 คน เป็นเกมส์ที่ต้องใช้ความเร็วและโชคเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้าหกโมงครึ่งไปจนถึงเวลาแปดโมง กระดิ่งดังขึ้น เกมส์จึงยุติลง นักกีฬาตัวจิ๋วทั้งหมดเตรียมล้างหน้าล้างตาเพื่อเตรียมตัวเข้าแถวเคารพธงชาติ เมื่อถึงเวลาพักเที่ยง เป็นอันรู้กันว่านักกีฬาจะพากันไปกินข้าวกลางวันอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะมารวมตัวกันที่สนามและจับจองพื้นที่ให้ได้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทีมอื่น ๆ จะพากันมาแน่นสนามและทำให้เกมส์เล่นลำบาก และหากวันใดไม่มีการบ้านก็ยังมีเกมส์ตอนเย็นแถมอีก เป็นเช่นนี้ตลอดช่วงเวลาที่เรียนชั้นประถม 4 จนถึงประถม 7
ครั้งหนึ่งยังจำได้ว่าครูประจำชั้นคงทนเห็นพวกเราเนื้อตัวเปียกปอนกันตั้งแต่ชั่วโมงแรกไม่ไหว จึงอยากจะให้พวกเราพร้อมที่จะเรียนหนังสือมากกว่านี้ การที่เนื้อตัวเปียกโชคทั้งเสื้อทั้งกางเกงตั้งแต่ชั่วโมงแรกแบบนี้ มันจะไปเรียนหนังสือรู้เรื่องได้อย่างไร
“ไหน พวกนักฟุตบอลทั้งหมดออกมายืนหน้าชั้นซิ” คุณครูยอมเสียเวลาสอนหนังสือ ในมือถือไม้เรียว ใหม่เอี่ยม ยาวและเรียว สมชื่อจริง ๆ
พวกเราทั้งหมดกว่าสิบคนจึงก้าวออกไปยืนหน้าชั้น ในใจนึกหวั่น วันนี้คงไม่รอดไม้เรียวเป็นแน่
“เอ้า นักฟุตบอลทุกคน ไหนใครเล่นตำแหน่งอะไรกันบ้าง” คุณครูถามพร้อมกับตวัดไม้เรียวจอมเฮี๊ยบเป็นการขู่ขวัญ หากคำตอบที่ได้ไม่ป็นที่พอใจ
“ศูนย์หน้าครับ” คนแรกซึ่งอยู่หัวแถวตอบ
“ศูนย์หน้า” คือตำแหน่งที่ทุกคนพยายามที่จะเป็นเมื่ออยู่ในเกมส์ เพราะรู้สึกว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญสุด ได้ยิงประตู เท่สุด แต่ที่สำคัญเราไม่รู้จักตำแหน่งอื่น ๆ กันหรอก เด็กขนาดนั้น เล่นเอามันส์อย่างเดียว ดังนั้นคำตอบของคนต่อ ๆ มาจึงเป็น”ศูนย์หน้า” กันหมดทุกคน เรียกว่าเป็นศูนย์หน้ากันทั้งทีม ก็สนามขนาดนั้น คนในสนามกว่าครึ่งร้อย จะไปเล่นตามตำแหน่งก็คงไม่สนุก มันก็ต้องมั่ว ๆ ไปแบบนั้นล่ะ สนุกดี
เมื่อทั้งทีมมีแต่”ศูนย์หน้า” ครูประจำชั้นก็เลยหวดซะคนละสามที หวดลงไปบนกางเกงซึ่งยังเปียกโชกอยู่ เสียงดังเปรี๊ยะ เปรี๊ยะ เปรี๊ยะ .....
“เล่นฟุตบอล ยังเล่นกันไม่เป็นเลย มีอย่างที่ไหนเป็น”ศูนย์หน้า”กันทั้งทีม” นี่คือเหตุที่ครูต้องตี ความจริงคุณครูก็คงหาเรื่องตีเราอยู่แล้วล่ะ แต่วันนั้นท่านก็หาเรื่องตีเราได้ง่ายขึ้น
จากเหตุการณ์วันนั้นเกมส์ตอนเช้าน่าจะยุติลง แต่เราก็ไม่อาจยับยั้งเสน่ห์แห่งลูกฟุตบอลพลาสติกใบเล็กซึ่งบัดนี้ได้รับการพัฒนาโดยการผ่าออกแล้วยัดไส้เข้าไปอีกหนึ่งใบเพื่อให้มันมีน้ำหนักและสามารถคอนโทรลได้โดยที่ลูกไม่เหิรมากเกินไป แต่เกมส์ในตอนเช้าเราก็จะเลิกให้ไวหน่อย หากชั่วโมงแรกเป็นของคุณครูประจำชั้น ส่วนเกมส์ตอนกลางวันนั้นก็ยังเข้มข้นเหมือนเดิมเป็นเช่นนี้ตลอดเทอม ทุกเทอม ทุกชั้น ทุกวันจนกระทั่งจบประถม 7 นั่นไม่นับเกมส์ตอนเย็นซึ่งก็มีประจำเกือบทุกเย็น ซึ่งเราจะไปเล่นกันที่สนามใหญ่ (สนามหญ้า) ในกรมทหารแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะเป็นเย็นวันศุกร์
ช่วงเวลาดังกล่าว นักกีฬารุ่นจิ๋วทุกคนหาได้รู้ตัวไม่ว่ากำลังถูกคุกคามจาก ”ความคัน” ซึ่งกำลังคืบคลานเข้าไปในกางเกงของพวกเขาอย่างช้า ๆ อาการคันที่ทั้งบุกและรุก ล่วงล้ำ เข้ายึดเกาะและกัดแทะบริเวณอัณฑะ ทำให้ผู้เป็นเจ้าของไข่น้อย ๆ ทั้งคู่เกิดอาการคัน คันอย่างชนิดที่ว่าไม่สามารถหยุดเกาได้ ยิ่งเกาก็ยิ่งมันส์ เจ้าเชื้อราที่เรียกกันว่า”สังคัง”
เชื่อว่าเด็ก ๆ ทุกวันนี้คงมีน้อยคนมากที่จะรู้จัก “สังคัง” สำหรับคนที่อยู่ในยุคนั้น เชื่อว่าน่าจะรู้จักและเชื่อว่าน่าจะเคยสนิทติดเชื้อจากเจ้า”สังคัง”ตัวนี้ “ซีมา”คือยาแก้ ที่เด็กสมัยนั้นใช้ปราบสังคัง แต่ในขณะที่ใช้” ซีมา” ทาลงไปบนไข่ที่สังคังเกาะ อาจจะต้องใช้ความอดทนสูงสักหน่อย เพราะมันจะแสบมาก ดังนั้นก่อนที่จะลง”ซีมา” ต้องเตรียมหาพัดลมมาเปิดรอไว้เสียก่อน และควรจะเปิดเบอร์ 3 แรงสุด แล้วเล็งพัดลมให้เป่าลงตรงเป้าหมายในขณะที่ทา” ซีมา”ลงไป ก็จะช่วยบรรเทาความแสบลงไปได้บ้าง สัก4-5 วัน ผิวหนังบริเวณที่โดน”ซีมา”ก็จะเริ่มลอกและหลุด จากนั้นอาการคันมันก็จะหายไป และก็พร้อมจะเป็นขึ้นมาใหม่เมื่อมีการหมักหมมเกิดขึ้นอีก ซึ่งย่อมเกิดขึ้นแน่นอนกับนักฟุตบอลรุ่นจิ๋วอย่างพวกเรา

คืนวันนี้ ตี 2 กับอีก 3 นาที เกมส์ฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมันนี เป็นเกมส์ระหว่างอิตาลีและกานา เริ่มต้นคิกออฟ เป็นวันที่ 4 แล้ว หลังจากที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ทั้งโลกให้ความสนใจ ฟุตบอลโลกมาถึงทีไรธุรกิจอื่น ๆ มักจะต้องหวาดกลัว เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคจะไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นนอกจากฟุตบอล โฆษณาในช่วงบอลโลกเราจึงเห็นแต่โฆษณาที่อิงบอลโลก หนังสือพิมพ์พูดถึงแต่บอลโลก พนักงานหยุดคิดเรื่องงานไว้ชั่วคราวเพื่อบอลโลก แม้แต่ตัวผมเองก็ยังมารอนั่งดูบอลโลกแม้จะดึกแค่ไหนก็ตาม แต่มาสะดุดนิดหน่อยเมื่อมานึกได้ว่าพรุ่งนี้ต้องไปส่งลูกเรียนพิเศษ ลูกชายผมไม่สนบอลโลก ทำให้ต้องคิดต่อไปว่าทำไมเขาถึงไม่สนใจฟุตบอลโลก ทำให้ได้ข้อสังเกตว่าเด็ก ๆ สมัยนี้ไม่ได้เล่นบอลเหมือนสมัยผม เด็ก ๆ สมัยนี้มักจะถูกปลูกฝังให้เรียน เรียนให้มากกว่าเพื่อน ๆ จะได้สอบชนะเพื่อน ๆ ผู้ปกครอง ครู ให้ความสำคัญกับการ ”เล่าเรียน” มากกว่าการ ”เรียนรู้” ผมเองไม่ทราบว่าที่โรงเรียนทุกวันนี้ ยังมีสนามให้เด็กวิ่งเล่นอยู่หรือเปล่า หรืออาจจะเอาพื้นที่ไปทำอย่างอื่นหมดแล้ว ขึ้นอาคารใหม่ หรือทำที่จอดรถ ทั้งนี้ไม่ต้องคิดถึงนอกโรงเรียน พื้นที่ ๆ จะเป็นสนามฟุตบอลหรือสนามกีฬา ดูเหมือนว่าหายากมาก พื้นที่ว่างมักจะถูกทำเป็นคอนโดฯ ตึกสำนักงาน หรือไม่ก็ศูนย์การค้า เด็ก ๆ สมัยนี้ สนามฟุตบอลของพวกเขาจึงเหลือขนาดแค่เพียงจอทีวี ไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องทนร้อนไม่ต้องใช้เท้าเล่น อาศัยความว่องไวของปลายนิ้วโป้งจากสองมือก็เพียงพอแล้ว

ฟุตบอลโลกปีนี้ทำให้ผมคิดถึงเด็ก ๆ คิดถึงสนามเด็กเล่นที่เคยวิ่งเล่น สงสัยว่าเด็ก ๆ ทุกวันนี้จะมีเวลาวิ่งเล่นกันบ้างไหมหนอ แล้ว “สังคัง” ยังมีอยู่ไหมในกางเกงของเด็ก ๆ สมัยนี้

Where Do The Children Play?
Well I think it's fine, building jumbo planes.
Or taking a ride on a cosmic train.
Switch on summer from a slot machine.
Yes, get what you want to if you want, 'cause you can get anything.

I know we've come a long way,
We're changing day to day,
But tell me, where do the children play?

Well you roll on roads over fresh green grass.
For your lorry loads pumping petrol gas.
And you make them long, and you make them tough.
But they just go on and on, and it seems that you can't get off.

Oh, I know we've come a long way,
We're changing day to day,
But tell me, where do the children play?

Well you've cracked the sky, scrapers fill the air.
But will you keep on building higher
'til there's no more room up there?
Will you make us laugh, will you make us cry?
Will you tell us when to live, will you tell us when to die?

I know we've come a long way,
We're changing day to day,
But tell me, where do the children play?

Cat Stevens
Tea For The Tillerman
Released 1970
Produced by : Paul Samwell-Smith



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
14 มิถุนายน 2549

Friday, March 03, 2006

แปลกปลอมและเปลี่ยนแปลง

ผมเริ่มเขียนคอลัมน์นี้เมื่อต้นปี จำได้ว่าวันจันทร์แรกของเดือนมกราคม เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ทุกเรื่องที่ตีพิมพ์ ท้ายเรื่องผมจะทิ้งอีเมลของตัวเองไว้ ด้วยความหวังแบบเด็ก ๆ ที่ยังมือใหม่ว่าจะมีใครเขียนเข้ามาคุยด้วย เรียกว่าอ่านคอลัมน์แล้วเกิดชอบก็เขียนมาติติง หรือพูดคุย ถกเถียงถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ผมหยิบขึ้นมาเขียน ผมแวะเข้าไปเช็คเมลดูทุกวัน แต่มันก็ว่างเปล่า ไม่มีแฟนคอลัมน์ ไม่มีใครเขียนมาคุย ทำให้คิดเลยไปอีกว่าอาจจะไม่มีใครอ่านด้วยซ้ำ ในขณะที่กำลังใจกำลังจะหดหายแล้ววันหนึ่งเมื่อผมเปิดเมลขึ้นมาก็พบจดหมายฉบับหนึ่งเป็นฉบับแรก จาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค แชนแนล อยากให้ผมช่วยประชาสัมพันธ์รายการทางยูบีซี 24 ชื่อรายการ “Strange Days on Planet Earth” ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ตอน เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.นี้ โดยเนื้อหาหลักใหญ่ ๆ จะเน้นถึงความสำคัญของธรรมชาติ พูดถึงผลกระทบที่มีความสัมพันธ์ต่อกันกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อโลก และสิ่งที่โลกมีปฏิกิริยาโต้ตอบ ดำเนินรายการโดยพระเอกมาดเท่ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ตัวรายการจะดำเนินเรื่องเหมือนภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ โดยจะนำเสนอเกี่ยวกับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่บนโลก และไขความลี้ลับ ปะติดปะต่อเพื่อหาคำตอบสำหรับปริศนาต่างๆ จนได้ค้นพบว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน ในตอนที่ชื่อว่า Invader พูดถึงพืชและสัตว์พันธุ์ประหลาด ๆ ได้แพร่พันธุ์เข้าไปในทุกทวีป แพร่กระจายโรค กัดกินตัวอาคาร ทำลายผืนดินอย่างเงียบ ๆ และนี่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้งหลังจากการสิ้นสุดขอยุคไดโนเสาร์ อะไรคือสาเหตุของการบุกรุกครั้งนี้และเราในฐานะมนุษย์จะหยุดการบุกรุกนี้ได้หรือไม่อย่างไร สารคดีชุดนี้จะออกอากาศทางยูบีซี 24 ตลอดทั้งเดือนมีนาคมนี้ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงนำมาช่วยประชาสัมพันธ์ให้ และบังเอิญผมเองก็กำลังเตรียมเรื่องที่เกี่ยวกับ ”สิ่งแปลกปลอม” ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงกับสังคมเรา แต่อาจจะไม่ได้น่ากลัวระดับโลกเหมือนในสารคดีชุดดังกล่าว เป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ดีดีผมก็เกิดรู้สึกขึ้นมา ยุคนี้เป็นยุคของการติดต่อสื่อสาร ทุกวันนี้เรามีอุปกรณ์สื่อสารที่ย่นระยะเวลาได้มาก รวดเร็ว สะดวก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี แทบจะทุกคนมีโทรศัพท์ติดตัว ติดต่อกันได้ตลอดเวลา นัดหมายกันก็ไม่ต้องกลัวว่าจะหากันไม่เจอ แค่นัดบริเวณก็สามารถโทรเช็คกันได้ไม่มีหลง ทำให้อดนึกถึงสมัยก่อนไม่ได้ หนุ่มสาวในสมัยก่อนนั้นลำบากกว่าสมัยนี้เยอะสมัยนั้นเวลาหนุ่มสาวจะนัดหมายเพื่อพบเจอกันแต่ละครั้ง เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานัดกันเป็นอาทิตย์ ผมจำได้ถึงวันนั้น จำได้ถึงการต้องเดินหาซื้อกระดาษเขียนจดหมายลายสวย ๆ ซึ่งจะดีขึ้นอีกมากหากมีกลิ่นหอม จากนั้นก็เลือกซองที่เข้ากันกว่าจะเลือกได้ถูกใจบางทีก็เป็นชั่วโมง จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือทุกตัวอักษรที่บรรจงเขียนลงบนกระดาษนั้นต้องกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันต้องระวังไม่ให้กระดาษเลอะเทอะ บางครั้งต้องวางเลย์เอาท์ให้งดงาม เพื่อแสดงถึงความรักที่มีต่อเธอ เมื่อเขียนเสร็จซึ่งอาจจะหนึ่งหน้าหรือสองหน้าก็ต้องค่อย ๆ พับให้พอดีซอง ปิดซอง ปิดแสตมป์ ทุกขั้นตอนทำอย่างบรรจง หลังจากหย่อนลงตู้ไปรษณีย์ไปแล้ว ก็เฝ้ารอบุรุษไปรษณีย์ที่จะถือสาส์นจากเธอกลับมา ลุ้นว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร การนัดหมายมันช่างกินเวลา กินพลังงาน แต่ทุกขั้นตอนช่างละเอียดอ่อนดุจงานศิลปเลยทีเดียว การพบกันแต่ละครั้งจึงมีค่ามาก ในวันนั้นบ้านไหนมีโทรศัพท์ก็นับว่ามีอันจะกินพอสมควรเพราะค่าติดตั้งนั้นแพงมาก และต้องติดต่อขอติดติดตั้งนาน บางครั้งหกเดือน บางครั้งยังไม่มีคู่สายผ่านก็รอเป็นปี แต่วันนี้โทรศัพท์แย่งกันให้บริการ ยิ่งกว่านั้นทุกคนยังมีมือถือ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างง่ายขึ้น นึกจะนัดแฟนก็กดมือถือเดี๋ยวก็ได้คุย ได้เจอ
บางทีนัดกันแล้ว เกิดไม่อยากไปหรือมีธุระก็กดมือถือยกเลิกนัด บางครั้งอยู่ห่างกันแค่สองสามช่วงตึกก็กดมือถือ “เธออยู่ไหนแล้ว” ทั้ง ๆ ที่หลังแทบจะชนกัน มันสะดวกขนาดนั้น จดหมายยาว ๆ แบบเมื่อก่อนก็หายไปจากสังคมพร้อมกับความพิถีพิถัน หายไปพร้อม ๆ กับความอ่อนโยนของอารมณ์ หายไปพร้อมกับชีวิตที่เคยเดินไปอย่างช้า ๆ แต่ทว่าท่วงท่างดงาม กลายมาเป็นความรวดเร็ว ทุกอย่างต้องสั้น กระชับ สะดวก และสบาย ลองคิดเล่น ๆ ดูนะครับ หากวันนี้มือถือคุณหาย หรือคุณลืมเอามาจากบ้าน มันจะมีผลอย่างไรบ้างกับชีวิตในวันนี้ของคุณ ค่อย ๆ คิดนะครับ ไม่ต้องรีบ

เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
sedthasit@msn.com

Sunday, February 19, 2006

ผิดที่ ผิดทาง



วันนี้ผมได้รับฟอร์เวิร์ดเมลจากเพื่อน ๆ ที่อยู่ในลิสต์ของผม เมื่อเปิดอ่านดู เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะตลกแต่ก็ให้ข้อคิดที่ดีทีเดียว เมลชิ้นนี้ถูกส่งมาในรูปของโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ เป็นเรื่องของอูฐแม่ลูกคุยกัน เจ้าอูฐตัวลูกมีความสงสัยในร่างกายของตัวเอง จึงเอ่ยปากถามอูฐผู้แม่เป็นข้อ ๆ เริ่มต้นจาก “แม่ครับ ทำไมเราต้องมีหนอกบนหลังด้วย” แม่ก็ตอบลูกชายว่า “เพราะเราต้องอยู่ในทะเลทราย จำเป็นที่จะต้องมีที่เก็บสำรองน้ำไว้”
“แล้วทำไมขาของเราจึงยาวและเท้ากลมแบบนี้ล่ะฮะ” ลูกอูฐยิงคำถามต่อ
“ก็เพราะเราต้องเดินบนทรายที่ร้อนระอุน่ะลูก ด้วยขาที่ยาวและเท้าที่กลมนี่จะช่วยให้เดินในทะเลทรายได้ดีกว่า”
“แล้วขนตาที่ยาวผิดปกตินี่ล่ะครับ”
“ก็เพื่อที่จะป้องกันลม ทราย แสงแดด ในทะเลทรายยังไงล่ะจ๊ะลูก” แม่ตอบด้วยความเอ็นดู
เมื่อผมคลิกเปลี่ยนหน้าต่อไป ผมก็อดขำและอดคิดไม่ได้ ต่อคำถามสุดท้ายของเจ้าอูฐตัวลูก
“ผมเข้าใจแล้ว ..คำถามสุดท้ายนะครับแม่ แล้วเรามาทำ”...”อะไรในสวนสัตว์แห่งนี้”
ภาพซูมออกเห็นแม่ลูกคู่นี้ยืนคุยกันอยู่ในกรงภายในสวนสัตว์
ปิดท้ายด้วยประโยคนี้ครับ Skills ,Knowledge ,Abilities and Experiences are only useful if you are at the right place.
จบด้วยคำถามที่ว่า Where are you now?
ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์คงไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากมันอยู่ผิดที่ผิดทาง คนที่พูดเก่งคงไม่ได้ใช้พรสวรรค์ในส่วนนั้นของเขาเท่าไรหากต้องไปทำบัญชี คนที่มีพรสวรรค์ในการเขียนเพลง หากเจ้าตัวไม่รู้ตัวเองหรือบางทีรู้แต่ไม่มีโอกาสหรือรู้แต่ไม่กล้าแสดงออก แล้วหันไปทำอย่างอื่น นั่นอาจเท่ากับปิดโอกาสตัวเอง และก็เป็นได้แค่คนทำงานทั่ว ๆ ไป ไม่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองหรือให้กับองค์กรอีกด้วย เรียกว่าเสียเวลาทั้งกับตัวเองและผู้อื่น
หากเอ่ยชื่อ เจอร์รี กอฟฟิ่น (Gerry Goffin) นักแต่งเพลงชื่อดังหลายคนอาจจะฟังไม่คุ้นชื่อ แต่หากพูดถึงเพลงเหล่านี้เช่น “The Locomotion” “ Up on the Roof “ “One Fine Day “ “Chains “ “Natural Woman ““ Saving all my love for you” “ Will You Love Me Tomorrow” หลายคนน่าจะคุ้นขึ้นมาบ้าง เจอร์รี่เป็นนักเขียนเพลง เขาหลงใหลในการเขียนเพลงตั้งแต่เรียนอยู่ที่ควีนส์ คอลเลจ ในปี 1958 ซึ่งเขาได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งต่อมากลายมาเป็นคู่ขาในการแต่งเพลงและคู่ชีวิตในเวลาต่อมาเธอคือคาโรว์ คิง (Carol King) เมื่อเริ่มออกเดทกัน ทั้งคู่พบว่าเปียโนนั้นน่าสนใจและน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าการไปดูหนังเสียอีก จากนั้นก็เริ่มแต่งเพลงด้วยกัน


เจอร์รี่ เขียนเนื้อเพลงมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบแต่ก็ไม่เคยพบคู่หูที่เขารู้สึกดีสักคนจนกระทั่งมาพบ
คาโรว์ ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1959 ใช้เวลากลางวันทำงานประจำเพื่อที่จะได้แต่งเพลงต่อไปได้
เจอรี่กับคาโรว์ยังคงรักที่จะแต่งเพลงแม้ในวันนั้นมันจะไม่มีอะไรยืนยันถึงความมั่นคงในอาชีพนี้เลย
“คาโรล มีขีดความสามารถสูงมากในการแต่งทำนองที่ยอดเยี่ยม เธอลึกซึ้งเรื่องโครงสร้างของคอร์ดมาก ทุกเพลงที่เธอแต่ง เธอจะไม่มีวันที่จะใช้โครงสร้างของคอร์ดแบบทั่ว ๆ ไป ถือเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผมที่ได้ร่วมงานกับเธอ เธอเรียนเพื่อที่จะไปเป็นครู ส่วนผมเรียนเพื่อที่จะเป็นนักเคมี และผมคิดว่าเราทำมันออกมาได้ดีทีเดียวล่ะ(หัวเราะ)พ่อแม่ของคาโรลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับอาชีพเขียนเพลง พ่อของผมสนับสนุนแต่แม่ของผมไม่เห็นด้วย แม่ว่าผมจะบ้าไปแล้วเหรอ นั่นเพราะคะแนนเรียนของผมร่วงหมดอย่างไม่เป็นท่า” เจอรี่รำลึกถึงวันเก่า ๆ
“ผมจำได้ผมบอกกับแม่ว่า ผมสามารถจัดการทุกอย่างได้ ผมสามารถทำทั้งสองอย่างให้ดีพร้อม ๆกันได้ คาโรลช่วยติวผมทั้งวันแต่ผลสอบของเธอเองกลับร่วง”(หัวเราะ)
จนกระทั่งอายุ 32 ปีเจอร์รี่ก็ยังสงสัยอยู่ว่าไอ้อาชีพเขียนเพลงนี่มันจะเหมาะสำหรับใครสักคนได้จริง ๆ ล่ะหรือ เขากลับไปเรียนและทำงานเป็นนักเคมีรับเงิน 11,000 เหรียญต่อปี แต่ในที่สุดเขาก็บอกกับตัวเองว่า “นั่นมันไม่ใช่ตัวเขา” แล้วก็หันกลับไปเขียนเพลง
“ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับไอ้หลอดทดลองพวกนี้อีกต่อไปแล้ว”
จากนั้นทั้งคู่ก็เริ่มแต่งเพลงร่วมกันอย่างจริงจังเริ่มต้นจาก 150 เพลงที่จัดว่าเป็นเพลงที่แย่มาก ๆ จนทั้งคู่ได้เพลงฮิตเพลงแรกมานั่นคือเพลง “Will You Love Me Tomorrow?” ซึ่งขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย The Shirrelles ในปี 1961 ขึ้นถึงอันดับ 1 ในอเมริกา และอันดับ 4 ในอังกฤษ กอฟฟินและคิง กลายมาเป็นคู่นักแต่งเพลงที่แต่งเพลงฮิตติดต่อกันตั้งแต่วันนั้น เป็นคู่ที่ทุกคนใผ่ฝัน แม้ในวันที่พอล แมคคาร์ทนี่และจอห์น เลนนอน เริ่มต้นที่จะเขียนเพลงร่วมกัน พวกเขาบอกว่าอยากที่จะเป็นเช่นกอฟฟิ่นและคิง

เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
sedthasit@msn.com

Monday, January 23, 2006

ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว


“ผมเป็นมือกีตาร์ของวง และกีตาร์ที่ใช้ก็ต้องเป็นกีตาร์ไฟฟ้า เพราะเพลงของพวกเรานั้นเป็นเพลงร็อกที่ค่อนข้างหนัก ผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับกีตาร์อะคูสติกนัก ดังนั้นวันหนึ่งผมจึงอยากลองที่จะขยายขอบเขตการเล่นกีตาร์ของตัวเอง พยายามฝึกเล่นปิ๊คกิ้ง ผมอยู่ในห้องและก็หัดเกากีตาร์โปร่งของผมไปเรื่อยเปื่อย แล้วภรรยาผมก็เดินเข้ามาในห้อง เธอเดินตามเสียงกีตาร์ของผมเข้ามา
“เพราะดีนะ คุณน่าจะลองเขียนเนื้อเพลงใส่ลงไป” เธอเอ่ยกับผม
“ผมแค่ฝึกเล่นเท่านั้นเอง มันยังใช้ไม่ได้หรอก” ผมรีบปฏิเสธคำแนะนำของเธอ
“แต่มันเพราะทีเดียวนะ อย่าลืมใส่เนื้อลงไปล่ะ” เธอไม่ยอมแพ้
แล้วเธอก็เคี่ยวเข็ญให้ผมแต่งเพลงนี้ออกมา จนในที่สุดผมก็จำต้องเขียนมันออกมาให้เธอ

วันต่อมา ในขณะที่เรากำลังซักซ้อมเตรียมงานบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้ม Point of Know Return
ทุกเพลงพร้อมหมดแล้ว แต่ใครคนหนึ่งถามผมว่า
”นายมีเพลงอื่นอีกหรือเปล่า”
ผมลังเลสักครู่ ก่อนที่จะตอบออกไปแบบไม่ค่อยแน่ใจ
“เอ้อ ความจริงก็มีอยู่อีกเพลงหนึ่ง แต่พวกนายคงไม่ชอบหรอก มันไม่ใช่แคนซัส”
ผมอิดเอื้อนที่จะเล่นมันให้พวกเขาฟัง แต่ก็ทนรบเร้าไม่ไหว ในที่สุดผมจึงเล่นมันด้วยกีตาร์โปร่งตัวนั้น ผมแปลกใจมาก เมื่อทุกคนรู้สึกชอบเพลงนี้
“เราต้องทำเพลงนี้ให้เสร็จ”
มีการถกถียงกันภายในวง เพราะผมปฏิเสธเพลงนี้ตั้งแต่แรก ผมบอกพวกเขาว่า
“นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่แคนซัส”
ถึงวันนี้ทุกคนคงรู้แล้วว่า ผมถูก หรือ ผิด
“Dust In The Wind”กลายเป็นเพลงฮิตที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลเพียงเพลงเดียวของวงเรา!”

ผมเริ่มต้นเรื่องราวในวันนี้ด้วยคำบอกเล่าของ Kerry Livgren (Songwriting/Guitarist)
มือกีตาร์และนักแต่งเพลงของ KANSAS วงโปรเกรสซีฟร็อคที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดวงหนึ่งในยุค 70’-80’ และยังออกผลงานต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในวันนี้เด็กรุ่นใหม่ อาจจะไม่รู้จักดนตรีของวงนี้นัก แต่สำหรับผมแล้วในช่วงของวัยรุ่น งานของแคนซัสถือเป็นงานที่โลดโผนมากในความรู้สึกของผม เพลง “Lonely Wind”เป็นเพลงแรกที่ผมได้รู้จักแคนซัส จากนั้นเพลงอื่น ๆ ก็ได้ถูกตามล่าไม่ว่าจะเป็น “Song for America” , Carry On Wayward Son”,”Point of Know Return” และ “Dust In The Wind” การนำเครื่องสายหรือไวโอลินมาใช้ในบทเพลงร็อกดูจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากสำหรับผมในวันนั้นและเป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกร้องความสนใจให้กับทางวง แต่ที่วิเศษไปกว่านั้นนั่นก็คือพวกเขาทำได้อย่างน่าฟัง เกิดเป็นสไตล์ส่วนตัวขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ มันคล้ายกับว่าผมกำลังฟังเพลงคลาสิคที่ไม่น่าเบื่อ หรือไม่ก็ฟังเพลงร็อกที่ไม่ได้เอาแต่แผดเสียง หากแต่งดงามในท่วงท่าของดนตรี การเรียบเรียง เสียงประสานและเนื้อหาของบทเพลง
แม้ตัวผมเองจะชื่นชอบวงดนตรีวงนี้มาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม มีอัลบั้มเรียกว่าแทบจะทุกชุด ตั้งแต่เป็น
คาสเซ็ท(รายได้น้อย) จนมาเริ่มสะสมเป็นแผ่นซีดี(เริ่มมีเงินขึ้นมาบ้าง) แต่มาจนถึงเมื่อวานนี้ ผมยังไม่เคยได้ดูวงดนตรีวงนี้เล่นสดสักที
ไม่สามารถหาซื้อคอนเสิร์ตไม่ว่าจะในรูปแบบใด วิดีโอ วีซีดี ดีวีดี กว่าผมจะได้ดูการแสดงสดของวงนี้ก็เพิ่งจะเมื่อวานนี้เอง(ในรูปแบบของดีวีดี)ปรากฎว่าภาพที่ผมเห็นสมาชิกทุกคนเป็นผู้สูงอายุกันหมดแล้วรวมทั้งผมซึ่งเป็นคนดูด้วย เป็นภาพบันทึกการแสดงสดเมื่อปี 2002 แม้สภาพร่างกายจะเปลี่ยนแปลงและร่วงโรยไปอย่างไร แต่ฝีมือของทั้งหมดยังคงเฉียบคม ดนตรีของพวกเขายังคงมีเอกลักษณ์และชวนติดตามเช่นเดิม ผมนั่งดูและฟังอย่างตื่นเต้นเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เห็นวงนี้เล่นสดแม้จะช้าไปสักหน่อยแต่ดนตรีของพวกเขายังคงเก๋าไม่ได้ร่วงโรยไปแม้แต่น้อย ในชั่ววูบแห่งความรู้สึกนั้น มันเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตสั้น ศิลปยืนยาว”

“ผู้คนส่วนใหญ่พยายามที่จะตีความ ค้นหาความหมายของสิ่งที่ผมเขียนลงในเพลง ๆ นี้ ความจริงแล้วผมอ่านมันพบในหนังสือกวีของอินเดียน (American Indian Poetry) ในหนังสือเขียนไว้ว่า “For all we are is dust in the wind” มันเป็นความจริงของทุกชีวิตบนโลก
เราประสบความสำเร็จ มั่งคั่งด้วยเงินทองและชื่อเสียง บรรลุเป้าหมายในชีวิต
แต่สุดท้ายพวกเราทุกคนก็กำลังเดินทางกลับสู่ผืนดินอีกครั้ง
นั่นคือสิ่งที่เพลงนี้พยายามสื่อถึง แต่น่าแปลกที่ผู้คนพยายามที่จะตีความมันไปต่าง ๆ นา ๆ และผลของมันก็คือเพลงนี้สามารถขึ้นชาร์ตเพลงคันทรี ขึ้นชาร์ตเพลงป็อป ขึ้นชาร์ตเพลงอิสซี่ ลิสซึ่นนิ่ง มันข้ามเส้นแบ่งประเภทของเพลงได้อย่างน่าประหลาด”
Dust in The Wind” / Artist : Kansas
Featured on Point of Know Return. Released 1977/Kirshner
Words & Music by Kerry Livgren



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
sedthasit@msn.com

Monday, January 16, 2006

เพลงเศร้าที่สุดในโลก (2)



หากเลือกได้ผมคงเลือกที่จะมีความสุขมากกว่าความทุกข์ คงเลือกที่จะอยู่กับเรื่องสนุก ๆ มากกว่าอยู่ในที่เครียด ๆ อยู่กับคนสวย ๆ มากกว่าคนหน้าบึ้ง ชอบดูหนังสนุก ๆ มากกว่าหนังเศร้า แต่พอมาถึงเพลง ผมกลับชอบฟังเพลงช้าและเพลงเศร้า เอาเข้าจริง ๆ น่าจะมีคนที่เป็นเช่นผมอยู่ไม่น้อย เพราะทราบหรือไม่ว่าค่ายเพลงที่ทำเพลงออกมาขายนั้น เขาจะให้ความสำคัญกับเพลงช้า ๆ เพลงเศร้า ๆ ค่อนข้างมาก เพราะอะไรหรือครับ เพราะมันเป็นเพลง”ขาย”ครับ อัลบั้มจะขายดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับอัลบั้มนั้นมีเพลงช้าที่”โดน”หรือไม่เท่านั้นเอง
ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง ๆ แฟนคลับของปาล์มมี่และมิสเตอร์ทีม เมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่ที่อาร์พีจี ในแกรมมี เราพูดคุยกันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปบันเทิงในด้านต่างๆ ทั้งหนัง หนังสือ และเพลง ผมถามเธอว่าเรื่องราวประเภทไหนที่เธอชอบเป็นพิเศษ คำตอบคือเรื่องเศร้า โดยเฉพาะเพลงเศร้า ทำไมล่ะหรือ
“เพราะมันทำให้หนูร้องไห้”
หากในวันนั้นผมถามเธอต่อไปว่า แล้วเธอคิดว่าเพลงอะไรที่เศร้าที่สุดสำหรับเธอ ผมคิดว่าผมคงได้คำตอบมาหลายเพลง เพราะด้วยคำถามเดียวกันหากผมเป็นฝ่ายถูกยิงคำถาม คำตอบของผมก็คงมากมายเช่นกัน เพราะผมคิดว่าน่าจะมีเพลงมากกว่าหนึ่งซึ่งทำให้เธอร้องไห้ ผมเองนั้นยังไม่เคยถึงขั้นฟังเพลงใดเพลงหนึ่งแล้วถึงกับร้องไห้ อย่างมากเพลงก็แค่ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เพลง ๆ นั้นเคยเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าวมักจะเป็นเรื่องของความรัก
ด้วยเหตุที่เราใช้เพลงเป็นสื่อเพื่อโยงเข้าหาตัวเราเองนี่กระมัง บางครั้งมันจึงทำให้เราเสียน้ำตาไปกับมันได้ แต่เพลงที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เสียน้ำตา แต่มันคร่าชีวิตคนเลยทีเดียว
“GLOOMY SUNDAY” เพลงแห่งความตาย เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นโดย 2 นักดนตรีไส้แห้งชาว
ฮังกาเรียน เรซโซ เซเรส (Rezso Seress)และลาสซ์โล จาเวอร์(Laszlo Javor) เมื่อปี 1933
มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเพลงนี้ทำให้คนในฮังการีฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งตัวเซเรสเองก็กระโดดลงมาจากอาพาร์ทเมนต์ของเขาเองและเสียชีวิตลงในปี 1968
คนแรกที่ยอมมอบชีวิตให้กับเพลง ๆ นี้คือนายโจเซฟ เคลเลอร์(Joseph Keller) ช่างซ่อมรองเท้าในกรุงบูดาเปส ตำรวจพบข้อความบางตอนจากเนื้อเพลงในหนังสือลาตายของเขา มันเป็นเนื้อเพลงของ”GLOOMY SUNDAY”
จากนั้นมาเพลง ๆ นี้ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตายมากกว่าหนึ่งร้อยราย หลายรายกระโดดลงแม่น้ำดานูบเสียชีวิตแต่ในมือกำเนื้อเพลง”GLOOMY SUNDAY” ไว้แน่น
สุภาพบุรุษคนหนึ่งออกจากไนท์คลับในคืนหนึ่ง แล้วระเบิดสมองตัวเอง หลังจากที่เพิ่งขอให้วงดนตรีเล่นเพลง”GLOOMY SUNDAY”ให้ฟัง
เพลงได้รับการถ่ายทอดและแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยแซม เลวิซและเดสมอน คาร์เตอร์(Sam M.Lewis and Desmond Carter) และขับร้องเป็นคนแรกโดย ฮาล เคมพ์(Hal Kemp) ในปี1936 ตามมาด้วยอาร์ตี้ ชอว์(Artie Shaw) และบิลลี่ ฮอลิเดย์(Billy Holiday)ในปี 1941ซึ่งเวอร์ชั่นของ
บิลลี่นี่แหละที่ทำให้เพลงนี้โด่งดังไปทั่วโลก
เมื่อครั้งที่เซเรสเขียนเพลงนี้ขึ้นมาไม่มีบริษัทเพลงใดสนใจ แต่เมื่อมันถูกผลิตตออกมาไม่นาน มันก็กลายเป็นเพลงฮิตและมียอดขายระดับเบสเซลเลอร์เลยทีเดียว เมื่อเพลงขายดี เซเรสติดต่อแฟนเก่าของเขาเพื่อขอคืนดี หลังจากที่เธอตีจากเขาไปก่อนหน้านี้ วันต่อมาพบเธอเสียชีวิตด้วยยาพิษ ข้าง ๆ ร่างไร้วิญญาณมีข้อความสองคำเขียนทิ้งไว้ ......“GLOOMY SUNDAY”
เมื่อถามเซเรสว่าเขาคิดอะไรอยู่ในหัวตอนที่เขียนเพลงนี้ เขาตอบว่า “มันเหมือนกับว่าผมเป็นจำเลยที่ยืนอยู่ท่ามกลางความตายอันลึกลับ ชื่อเสียงอันอ่อนนุ่มเฆี่ยนตีผม ผมร้องอย่างโหยหวนด้วยความผิดหวังเสียงร้องที่มาจากก้นลึกแห่งหัวใจ ผมใส่ความรู้สึกทั้งหมดเหล่านั้นลงไปในเพลง มันคล้ายกับว่าหลาย ๆ คนที่รู้สึกเช่นเดียวกันกับผม ได้พบความเจ็บปวดของพวกเขาเองในเพลง ๆ นี้ของผม”
“GLOOMY SUNDAY” เพลงที่เศร้าที่สุดในโลก(ส่วนตัวของผม)
ใครมีเพลงอื่นที่เศร้ากว่าเพลงนี้เขียนมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ
Sunday is gloomy,my hours are slumberless.
Dearest,the shadows I live with are numberless.
Little white flowers will never awaken you,
Not where the black coach of sorrow has taken you.
Angels have no thought of ever returning you.
Would they be angry if I thought of joining you?
Gloomy is Sunday;with shadows I spend it all.
My heart and I have decided to end it all.
Soon there’ll be candles and prayers that are sad,I know.
Death is no dream,for in death I’m caressing you.
With the last breath of my soul I’ll be blessing you.
Gloomy Sunday.



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
sedthasit@msn.com