Friday, December 23, 2005

เพลงเศร้าที่สุดในโลก (1)


ว่ากันว่า “ภาษา” นับเป็นมรดกล้ำค่าที่สุดของมวลมนุษย์ชาติ ด้วย”ภาษา”นี่แหละที่ทำให้มนุษย์เราครองโลกมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเราสามารถที่จะสื่อสารและเข้าใจกันและกันได้ ซึ่งนั่นทำให้เรานั้นอยู่เหนือกว่าเหล่าสรรพสัตว์ทั้งมวล เมื่อสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันได้จึงเกิดเป็นสังคมและการอยู่ร่วมกัน ในแต่ละวันเรารับข้อมูล จากคนอื่น ๆ และจากสังคม ในเวลาเดียวกันเราก็ส่งข้อมูลไปสู่คนอื่น ๆ และสู่สังคม ข้อมูลที่รับเข้าและส่งออกทุกวันนี้กระมังที่ทำให้เราฉลาดขึ้น รอบรู้มากขึ้น บางเรื่องที่เราไม่รู้และอยากรู้เราก็ถามไถ่ ค้นหาเอาจากคนอื่นหรือจากสังคมได้ บางครั้ง บางเรื่องที่เรารู้ เราก็ส่งต่อให้คนอื่น ๆ
เมื่อมนุษย์สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในสังคม ในโลก สร้างกันต่อเนื่องมาหลายพันปี จนบัดนี้เรามีผลงานมากมายที่เกิดขึ้นมาจากภูมิปัญญาของมนุษย์ และยังคงเดินหน้าคิดค้นและสร้างสรรค์กันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเทคโนโลยี วิศวกรรม เกษตรกรรม รวมไปถึงงานด้านศิลปะบันเทิง เมื่อมีมาก ๆ เข้า เราก็เริ่มมีการจัดอันดับ”ที่สุด” กัน และผู้ที่ดูแลเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจังคอยติดตามค้นหาและบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่เรารู้จักกันดีก็คือ กินเนส เราอยากรู้ว่าภูเขาสูงที่สุดในโลกคือภูเขาอะไร เราอยากรู้ว่าประเทศที่เล็กที่สุดในโลกคือประเทศอะไรก็สามารถรู้ได้ เรารู้ว่าประเทศที่ประชาชนมีเซ็กส์กันถี่ที่สุดก็คือฝรั่งเศส เรารู้ว่าคนที่สูงที่สุดในโลกคือใคร ผมเองในช่วงก่อนวันคริสต์มาสที่ผ่านมา ผมลองโฉบเข้าไปในเว็บไซด์ของกินเนสแล้วก็คลิกเข้าไปดูอันดับ”ที่สุด”ในส่วนของเพลงและก็เลือกข้อมูลบางอย่างที่ตัวเองชอบมาฝาก คิดเสียว่ามาเล่าให้ฟังสนุก ๆ ครับ เพลงคริสต์มาสที่ขายมากที่สุดในโลกคือเพลง”White Christmas” ขับร้องโดยบิง ครอสบี้(Bing Crosby)บันทึกเสียงในปี 2485 ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาเพลงนี้จะถูกนำออกมาผลิตออกจำหน่ายทุกปี จนถึงวันนี้ขายไปแล้วกว่า 100 ล้านก็อปปี้
“ที่สุด”ต่อมาก็คือเพลงที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการบันทึกเสียงจนออกจำหน่าย นั่นคือบันทึกการแสดงสดในเพลง “Sgt. Peper’s Lonely Hearts Club Band” โดยพอล แม็คคาร์ทนีและวงU2 บนเวทีคอนเสิร์ต Live 8 เมื่อ 2 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาทั้งหมด 44 นาที 39 วินาที ตั้งแต่เริ่มบันทึกเสียงจนกระทั่งให้บริการดาวน์โหลดเพื่อจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต
“ที่สุด”ต่อมาคือฟรีคอนเสิร์ตที่มีคนดูมากที่สุดเป็น คอนเสิร์ตของร็อด สจวต แสดงที่ชายหาด
โคปาคาบานา ในเมืองริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล เย็นย่ำของวันขึ้นปีใหม่ในปี 2537
คนดูทั้งสิ้นในวันนั้น 3.5 ล้านคน
เพลงที่ถูกนำไปบันทึกเสียงในเวอร์ชั่นต่าง ๆ มากที่สุดคือเพลง Yesterday ซึ่งแต่งโดยพอล แม็คคาร์ทนี และ จอห์น เลนนอน นับตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งเพลงได้ถูกแต่งขึ้นมาจนถึงปี 2529 เพลงนี้ได้ถูกบันทึกเสียงโดยนักร้องต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 1,600 เวอร์ชั่น
ข้อมูลสุดท้ายที่เอามาฝากวันนี้ก็คือ อัลบั้มที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก ยาวถึง 90 คำ เป็นอัลบั้มของนักร้องสาวชาวนิวยอร์คเกอร์ Fiona Apple อัลบั้มนี้วางจำหน่ายเมื่อ 9 พ.ย. 2542 อัลบั้มนี้มีชื่อว่า
When The Pawn Hits The Conflicts He Thinks Like A King What He Knows Throws The Blows When He Goes To The Fight And He'll Win The Whole Thing Fore He Enters The Ring There's No Baby To Batter When Your Mind is Your Might So When You Go Solo. You Hold Your Own Hand And Remember That Depth Is The Greatest Of Heights And If You Know Where You Stand. Then You'll Know Where To Land And If You Fall It Won't Matter, Cuz You Know That You're Right

อย่างไรก็ตามการวัด”ที่สุด”ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะเรายังต้องใช้ตัวเลขเป็นตัวชี้ชัด แล้วถ้ากรณีที่ไม่สามารถวัดด้วยตัวเลข เราจะรู้ได้ถึงความเป็น”ที่สุด”ในเรื่องบางเรื่องได้ล่ะหรือ เช่นผมลองถามตัวเองว่า คนดีที่สุดในโลกคือใคร หรือ เพลงที่เศร้าที่สุดในโลกนี้คือเพลงอะไร แน่นอนผมไม่สามารถหาคำตอบได้ในกินเนส เพราะเรื่องนี้ต้องใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นตัวชี้ แต่หลังจากพยายามที่จะหาคำตอบให้ได้ ผมก็เจอเพลง ๆ หนึ่ง จะนำมาเล่าคราวหน้านะครับ ก่อนจะถึงวันนั้นท่านผู้อ่านลองคิดเล่น ๆ ดูทีครับว่าเพลง ๆ นั้นคือเพลงอะไร

Thursday, December 22, 2005

เพลงรักทำให้เราตาสว่าง



แม้ชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ The Art of writing Love songs จะว่าด้วยการเขียนเพลงรัก หากแต่ว่าเนื้อหาภายในเล่มกลับว่าด้วยเรื่องความรักที่น่าสนใจในรูปแบบต่างๆ ด้วยที่ผู้เขียนมีความเชื่อว่า การจะเขียนเพลงรักให้ได้ดีนั้น จำต้องเรียนและรู้จักความรักทุกรูปแบบ ทุกแง่มุมเสียก่อน จึงจะสามารถสร้างเพลงรักที่ซาบซึ้งและเข้าถึงหัวใจผู้ฟังได้ แม้ว่าการยกตัวอย่างเพลงในหนังสือเล่มนี้จะเป็นเพลงภาษาอังกฤษแต่
คุณเมฆฝน ผู้รับภาระถอดความก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างแนบเนียน แต่ประเด็นสำคัญของหนังสือกลับไม่ได้อยู่ตรงนั้น หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พยายามสอนให้คุณเขียนเพลงจากภาษาอังกฤษ หากแต่เป็น มุมมอง วิธีคิด วิธีหาข้อมูลที่จะนำมาเขียนเพลงต่างหาก ที่เป็นประเด็น เพลงภาษาอังกฤษที่ยกตัวอย่างมานั้นก็เพื่อช่วยทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเท่านั้น หากคุณเป็นนักเขียนเพลงอยู่แล้ว หรือหากกำลังอยากจะหัดเขียนเพลง หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยให้คุณเข้าใจ”ความรัก” ได้มากยิ่งขึ้น และน่าที่จะช่วยให้คุณเขียนเพลงรักที่จับใจใครต่อใครได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักแต่งเพลง ไม่ได้อยากเป็นนักแต่งเพลง หนังสือเล่มนี้ก็ยังอ่านสนุกอยู่ดี
เราทุกคนคงเคยรู้จักความรักกันมา มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โอกาส ทุกคนคงเคยถูกเจ้าความรักนี้ ”กระทำ”
ไม่ว่าจะ “กระทำดี” หรือว่า “กระทำร้าย” เราได้พบกับความรู้สึกมากมายทั้งสุข เศร้า เซ็ง ตื่นเต้น ผิดหวัง สมหวัง
เริงร่า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือกินไม่อั้น ฝันดีทั้งคืน ไม่น่าเชื่อว่า เจ้าความรักตัวนี้จะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราได้มากมายขนาดนั้น เพลงรัก ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจในยามที่รู้สึกเจ็บจากความรัก(เพลงรักที่โด่งดังมักจะทำหน้าที่นี้ ส่วนเพลงรักที่แสดงความยินดีในยามรักสมหวังมักจะประสบความสำเร็จน้อยกว่า)
ทุกครั้งที่เจ็บปวดมาจากความรัก มนุษย์เยียวยาตัวเองด้วยเพลงรัก
เช่นนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าความรักทำให้คนตาบอด เพลงรักน่าจะช่วยให้คนเราตาสว่างขึ้น และนี่คือที่มาของ “เพลงรักทำให้เราตาสว่าง” เล่มนี้

คำนิยมโดยบอยตรัย
ว่ากันว่า ความรักจะทำให้คนตาบอด
คนเขียนเพลงรัก อาจจะต้องข่มตาให้บอดอยู่บ่อยๆ บอดเพราะเราอาจจะไม่รู้จักมันเพียงพอ และในความบอดมืดนั้นบางคนจึงต้องคลำหาเทียนเพื่อเอาไว้ไปนั่งเขียน แต่ใครจะรู้ หนทางสู่ความเข้าใจในความรักนั้น อาจจะไม่ใช่ในโลกมืดมิดข้างนอกนั้นหรอก เพียงแค่กลับเข้ามาค้นหาภายในจิตใจของตัวเอง ลองทำความรู้จักพื้นฐานของจิตใจและความต้องการของเราในหลายๆ แง่มุมดูบ้าง บางครั้งก็อาจจะเกิดมุมมองในความรักที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนวิธีการเขียนเพลงรักอย่างสำเร็จรูป แต่เป็นคล้ายๆ จิตแพทย์ที่นั่งสอบถามนักแต่งเพลงอยู่ข้างๆ เตียง คอยจดว่าพวกเขาคิดอะไรและคิดอย่างไรในตอนที่แต่งเพลงเหล่านั้น โดยการรวบรวบเอาตัวอย่างของมุมมองของเพลงในหลายๆ แง่มุม ที่มาที่ไปของกระบวนการ และภาพที่อยู่ในหัวของนักแต่งเพลงออกมาให้เราเห็น

คำนิยมโดย วิภว์ บูรพาเดชะ
บรรณาธิการบริหาร HAMBURGER

ผมเคยมีประสบการณ์คลุกคลีกับการแต่งเพลงอยู่บ้าง จึงรู้สึกสนใจไม่น้อยเมื่อพี่ป้อม-บวรศักดิ์ จำปาวัลย์ ส่งต้นฉบับ "เพลงรักทำให้เราตาสว่าง" มาให้อ่าน
ในเบื้องแรกนั้นสนใจเพราะอยากรู้ว่า หนังสือที่เหมือนคู่มือสอนการแต่งเพลงรักเล่มนี้ จะสอนกลวิธีขั้นตอนในการแต่งเพลงที่เหมือนหรือต่างจากที่ผมเคยได้เรียนรู้และเคยได้ใช้มาหรือไม่
แต่เมื่ออ่านๆ ไป ผมกลับพบว่า "เพลงรักทำให้เราตาสว่าง" ไม่ได้พูดถึงการแต่งเพลงรักเสียทีเดียว
ระหว่างการเดินทางข้ามบรรทัดสู่อีกบรรทัด ผมกลับได้ทำความรู้จักกับวิธีการมองดูความรักในมุมมองที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และแปลกใหม่ โดยวิธีการมองความรักดังกล่าวนั้น มีจุดประสงค์เพียงเพื่อจะทำให้เราสามารถแต่งเพลงรักได้ดีนั่นเอง
หนังสือเล่มนี้พาเราไปสำรวจความรักในแง่มุมต่างๆ พาเราไปตั้งคำถามและหาคำตอบของตัวเอง ชักชวนเราให้หันไปมองดูผู้คนด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ และพาเราเดินมุ่งหน้าไปสู่โลกจินตนาการที่เราอาจไม่เคยคิดว่ามันมีอยู่จริง
ด้วยความที่บทเพลงทั้งหลายที่ใช้อ้างอิงเป็นเพลงสากล และเนื้อหาก็เน้นไปที่การเขียนเนื้อเพลงเสียมากกว่าการแต่งทำนอง ผมจึงไม่แน่ใจว่า หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงจะทำให้คุณเขียนเพลงรักแบบไทยๆ ในท้องตลาดได้หรือเปล่า แต่ในมุมกลับ ก็ต้องขอแสดงความนับถือกับผู้แปลที่พยายามถ่ายทอดภาษาต่างประเทศออกมาเป็นภาษาไทยได้กินใจขนาดนี้
ลองดูประโยคนี้อีกทีนะครับ "เพลงรักทำให้เราตาสว่าง" ฟังเผินๆ แล้วนี่อาจจะเป็นประโยคที่ฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลนัก แต่หากลองได้อ่านหนังสือเล่มนี้ดู แล้วลองเขียน 'เพลงรัก' ของคุณเองขึ้นมาสักเพลง คุณจะพบว่า 'เพลงรัก' ทำให้คุณ 'ตาสว่าง' ได้จริงๆ
และอาจทำให้คนที่คุณอยากบอกรัก 'ตาสว่าง' ได้ด้วยซ้ำ
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วครับ และผมกำลังจะเขียนเพลงรักอีกครั้ง

Friday, December 16, 2005

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร”


“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คงไม่มีใครที่ไม่เคยโดนยิงคำถามนี้ในวัยเด็ก คุณจำได้หรือเปล่าว่า
ในวันนั้นคำตอบสำหรับคำถามนี้ คุณตอบไปว่าอย่างไร ในวัยเด็กคุณฝันอยากเป็นอะไร ครู พยาบาล นักบิน ดารา นักร้อง นายก ชาวสวน คนขับแท็กซี่ ไอ้มดแดง อุลตร้าแมน หรือซูเปอร์แมน ความฝันในวัยเด็ก บริสุทธิ์ ใสสะอาด คิดอย่างไร ชอบอย่างไรในตอนนั้นก็มักอยากจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับผู้ปกครองเจ้าของคำถาม คำตอบคงแตกต่างออกไป คงไม่มีผู้ปกครองท่านใดที่อยากให้ลูกเป็นนักดนตรี หรืออยากให้ลูกเป็นคนขับแท็กซี่ แม้แต่ตัวเราเองเมื่อโตขึ้นก็คงไม่มีใครอยากขับแท็กซี่ แต่นักดนตรีบางทีก็ไม่แน่ เพราะวันนี้ก็ยอมรับกันมากขึ้นกว่าสมัยก่อน

“เรียนจบแล้วอยากทำงานอะไร” คือคำถามที่ตามมา ต่อจาก”โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ในวัยที่ใช้ชีวิตที่มหาวิทยาลัย อันถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ทุกคนมีความฝัน ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นสองแบบคือ เพ้อฝัน และ ใฝ่ฝัน พวกเพ้อฝันอาจจะอยากเป็นอะไรโดยที่ไม่เคยได้สำรวจตัวเอง หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่รู้จักตัวเองเลยเสียด้วยซ้ำ หลายคนไม่รู้ตัวเองว่าชอบอะไร ถนัดอะไร เก่งอะไร เมื่อไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่สามารถตั้ง”เป้า” ให้ชีวิต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงการไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวหรือทำอย่างไรเพื่อให้ฝันนั้นเป็นจริง ฝันนั้นจึงเป็นได้เพียงแค่”เพ้อ” แม้จะอยาก ”ใฝ่” แต่ก็ไปไม่เป็น จบมาก็ยืนงงต่อแถวกันยาวเหยียดท่ามกลางทะเลฝุ่น บางคนอาจจะหลงอยู่ในทะเลฝุ่นนั้นไปนาน นานจนบางครั้งชีวิตเริ่มต้นอะไรไม่ได้เลย ความฝันเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีวิธีจัดการกับมันแล้วผันให้เป็นความจริงให้ได้ ความชอบ ความถนัด เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นจะต้องหาให้พบเสียก่อน การกำหนดเป้าหมายให้ชีวิตโดยมองเพียงปัจจัยภายนอก เช่นงานนั้นมันเท่ งานนั้นมันอิสระ งานนั้นเงินดี มันก็เป็นเรื่องที่ควรคิด แต่ที่สำคัญกว่าคือการตั้งเป้าโดยสำรวจเข้าไปในตัวของเราเอง โฟกัสให้เจอว่าตัวเราเองถนัดและเหมาะสมกับงานแบบไหนมากที่สุด เมื่อพบแล้วก็ถึงเวลาที่จะหาวิธีที่จะ ”ใฝ่” เพื่อจะไปให้ถึง”ฝัน” นั้น

เพลง American Woman เขียนโดยแรนดี้ บาคแมน (Randy Bachman) แห่งคณะเกสต์ฮู (Guess Who) บันทึกเสียงในปี 1970 สังกัด RCA Records ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันวาเลนไทน์ในปีนั้น ติดอันดับ1ในชาร์ต Billboard’s Hit 100 ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ และวงก็ได้รับแผ่นเสียงทองคำในที่สุด
เลนนี่ คราวิซ (Lenny Kravitz) ได้นำเพลง ๆ นี้มาบันทึกเสียงอีกครั้ง และคว้ารางวัลแกรมมี
อะวอร์ด นักร้องชายประเภทเพลงร็อกยอดเยี่ยมในปี 1999
เกสต์ ฮู เป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกในขณะที่สมาชิกมีอายุยังน้อย ทั้งหมดชื่นชมและหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของดนตรีตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน
แรนดี้ มือกีตาร์และผู้แต่งเพลง ๆ นี้เล่าถึงช่วงสมัยที่เขายังเรียนอยู่ให้เราฟังว่า “ ผู้อำนวยการโรงเรียนของผม เขาบอกให้ผมลืมร็อก แอนด์ โรล บ้า ๆ นั่นเสีย ผมควรจะตั้งใจเรียนให้จบแล้วหางานที่มันจริง ๆ จัง ๆ ทำ 30 ปีให้หลังเราได้รับเกียรติและได้รับรางวัล Walk of Fame ในโตรอนโต และได้รับการสดุดีเชิดชูเกียรติจากมหาวิทยาลัย Manitoba
ในงานวันนั้น มีคน ๆ หนึ่งนั่งอยู่ที่แถวหน้าของหอประชุม ใช่ ผู้อำนวยการโรงเรียนของผมนั่นเอง เขาแวะมาหาผมที่หลังเวที แสดงความยินดี และกล่าวกับผมว่า “ถ้าวันนั้น เธอเชื่อฟังครู เธอก็คงจะไม่มีวันนี้ สินะ”
ผมเชื่อว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ดังนั้นหากมีใครถามผมว่า
“คุณจะเป็นอะไร หากคุณไม่ได้เป็นนักดนตรีร็อกที่ประสบความสำเร็จ”
ผมจะตอบว่า “ผมก็จะเป็นนักดนตรีร็อกที่ไม่ประสบความสำเร็จน่ะสิ”
แล้วคุณล่ะ ถ้าวันนี้คุณไม่ได้เป็นสิ่งที่คุณเป็นอยู่ คิดว่าคุณจะเป็นอะไร



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
e-mail : sedthasit@msn.com

Wednesday, December 14, 2005

เบนนี่ ฮิลล์ คนที่ “น่าเป็น” ที่สุดในโลก


“หากเราสามารถนำเอาเสียงหัวเราะมาสังเคราะห์เป็นยาได้ โลกจะมียาที่สามารถรักษาโรคได้ทุกชนิด ตั้งแต่โรคซึมเศร้าไปจนถึงโรคหัวใจเลยทีเดียว” การหัวเราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้กับร่างกาย ช่วยเพิ่มเม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่จัดการกับสิ่งแปลกปลอมที่แอบซ่อนเข้ามาในร่างกาย ดังนั้นคนที่มีอารมณ์ขัน คนที่ได้หัวเราะบ่อย ๆ จึงไม่ค่อยเจ็บป่วย ร่างกายแข็งแรง หัวใจสดชื่น ที่สำคัญช่วยชะลอความแก่ให้อีกซะด้วย ในอเมริกา แคนาดา อังกฤษและอีกหลาย ๆ ประเทศเริ่มทดลองที่จะรักษาผู้ป่วยด้วยการหัวเราะแทนการรักษาด้วยยา แม้ว่าเสียงหัวเราะจะมีประโยชน์
แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ในยุคกลางเคยใช้วิธีจั๊กกะจี้เป็นเครื่องมือในการทรมานนักโทษมาก่อน
จำได้ว่าเด็ก ๆ นั้นครองความเป็นจ้าวแห่งเสียงหัวเราะ จากนั้นโอกาสหัวเราะก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ในแต่ละวันแทบจะไม่มีเสียงหัวเราะออกมาเลย นั่นอาจจะเป็นเพราะหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ ตัวเลขที่ต้องดูแล ยอดขายที่ต้องผลักดัน ชีวิตต้องเดินไปในสังคมที่อุดมไปด้วยการแข่งขัน ทุกอย่างรีบไปหมด กลับถึงบ้านก็หลับเป็นตาย น่าเสียดายที่เราโตขึ้นมาในโลกที่จริงจังเกินไป โอกาสหัวเราะมีไม่มากในแต่ละวัน มันคงจะดีขึ้นถ้าเราลองหัดกลับไปทำตัวเป็นเด็กบ้าง สนุกกับชีวิตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ในเวลาสั้น ๆ มันก็น่าจะทำให้ดีขึ้นบ้าง หยุดเครียด หยุดจริงจังกับชีวิต ปล่อยวางอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง แล้วเพิ่มอารมณ์ขันให้กับตัวเองวันละนิด ลองสังเกตเพื่อน ๆ หรือคนใกล้ตัวดู คนที่มีอารมณ์ขันมักจะเป็นคนที่มีเสน่ห์ ใคร ๆ ก็หลงใหลและอยากใกล้ชิดอยากพูดคุย ต่อให้เจ้าคารมก็แพ้อารมณ์ขัน ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ร่ำรวยอารมณ์ขันมักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนที่จริงจัง พรุ่งนี้หลังจบการประชุมลองจับกลุ่มแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องขำขันสู่กันฟังในหมู่เพื่อนร่วมงาน อาจจะเป็นเรื่องขำขันน่ารัก ๆ หรือเรื่องทะลึ่ง ทะเล้น ไปจนถึงลามกก็คงจะช่วยให้กระชุ่มกระชวยได้บ้าง
พูดถึงอารมณ์ขันแบบทะลึ่งทะเล้น เบนนี่ ฮิลล์ โชว์ รายการทีวีในช่วงปี 70-80 เป็นรายการตลกที่โด่งดังไปกว่า100ประเทศทั่วโลก ผมยังจำได้ถึงเสียงหัวเราะของตัวเองและพี่ชายในวันที่เรานั่งดูเบนนี่ ฮิลล์ บางครั้งหัวเราะกันจนน้ำหูน้ำตาไหล องค์ประกอบต่าง ๆ ในรายการ เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างไม่หยุดหย่อน มุขทะลึ่ง ๆ และใบหน้าที่ทะเล้น ดูกรุ่มกริ่ม ของเบนนี่นั้น มันช่างกวนเบื้องล่างแต่ก็น่ารักน่าชังในเวลาเดียวกัน องค์ประกอบทุกอย่างที่เบนนี่นำมาใส่ในรายการมันเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวละครจนถึงเพลงประกอบ ซึ่งเพลง “Ernie(The Fastest Milk cart In The West)” ของเขาเคยขึ้นไปอยู่ถึงอันดับต้น ๆ ในชาร์ตของอังกฤษในปี 1971 อีกอย่างที่ผมชอบมากและคอยดูอยู่ทุกตอนก็คือเหล่าบรรดานางฟ้าของเบนนี่ ในชุดน้อยชิ้นวิ่งหนีการไล่ตามของเฒ่าหัวงู(บางทีก็หัวล้าน)ด้วยสปีดที่เร็วผิดปกติซึ่งเข้ากับดนตรีที่ให้ความรู้สึกสัปดนนิด ๆ ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นช่วงทีเด็ดของรายการ ทำให้รายการโด่งดังและจดจำได้อย่างไม่มีวันลืม จะว่าลามก มันก็ไม่ใช่ เอาเป็นว่าข้อหาหนักสุดก็น่าจะแค่ทะลึ่งถึงสัปดน
เบนนี่ ฮิลล์ โชว์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1955 จากนั้นมาทั่วโลกก็คุ้นและขำกับตลก”หน้าเป็น” คนนี้
เบนนี่ เสียชีวิตโดยลำพังภายในห้องพัก ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ในเดือนเมษายน ปี 1992 ด้วยวัย 68 ปี เหลือทิ้งไว้เพียงทรัพย์สินมูลค่า 10 ล้านปอนด์ ตลอดชีวิตไม่เคยมีรถยนต์ส่วนตัวแม้สักคัน และไม่เคยมีภรรยาแม้สักคน เข้าใจว่าเบนนี่คงใช้ชีวิตแบบคุ้มที่สุด ความจริงความดังระดับเขาน่าจะมีเงินสะสมมากกว่านั้น แต่เขาคงไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใช้ชีวิตไปตามขนบความคิดของสังคม เขาคงมีความสุขกับการสร้างเสียงหัวเราะ เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบนี้ เขาจึงไม่ยอมแต่งงาน เพราะการที่จะดำเนินชีวิตในแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำ การเดินคนเดียวคือทางออก เมื่อชีวิตหยุดทุกอย่างก็จบ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ไม่ต้องมีคนมาโศกเศร้า ซึ่งเบนนี่อาจจะไม่ต้องการ สิ่งที่เขาต้องการอาจเป็นเพียงแค่เสียงหัวเราะที่ดังไปทั้งโลกเท่านั้น และมันก็เป็นเช่นนั้น แม้ในวันที่เขาได้หยุดหัวเราะไปแล้ว


เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
e-mail : sedthasit@msn.com

Monday, December 12, 2005

“ผมไม่ใช่ฮีโร่ ผมมันก็แค่ผู้ชายธรรมดา ๆคนหนึ่ง”


วันหยุดเป็นวันที่ใครหลาย ๆ คนไม่ชอบที่จะออกไปข้างนอก อาจจะเป็นเพราะเบื่อหน่ายกับการจราจร เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางตลอดสัปดาห์ เมื่อวันหยุดมาถึงการนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้านจึงเป็นวิธีการพักผ่อนที่ดูจะเหมาะสมที่สุดในยุคนี้ ทีวีจึงเป็นอุปกรณ์เพื่อการพักผ่อนในวันหยุดที่สุดประหยัด เอนหลังสบาย ๆในมือถือรีโมท เลือกรายการโปรดที่ชอบ รายการนี้ไม่ชอบก็กดไปช่องอื่น ช่องนี้น่าเบื่อก็เลื่อนไปอีกช่อง มีถึง 6ช่องให้เลือก บ้านไหนมีฐานะขึ้นมาหน่อยและอยากตามกระแสเมืองนอกให้ทันก็ยอมจ่ายรายเดือนกับเคเบิ้ลทีวี เพิ่มมาได้อีกยี่สิบสามสิบช่อง เลือกดูกันได้ตามรสนิยม
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องออกไปไหน ผมใช้เวลาพักผ่อน นอนอยู่กับบ้าน เปิดทีวีดูไปเรื่อย เปลี่ยนช่องไปเรื่อย และแน่นอนครับที่บ้านผมมีเคเบิ้ลเพราะเบื่อรายการจากช่องปกติ จึงยอมควักสตางค์เพื่อบางอย่างที่แตกต่างออกไป แต่ในวันนั้น มันโชคร้ายหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ผมกดรีโมทเปลี่ยนช่องไปจนครบทุกช่อง ก็ยังไม่เจออะไรที่ตัวเองอยากดูสักที ช่องที่เป็นสาระก็เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่าหนักไปสำหรับวันหยุดสบาย ๆ วันนี้ ส่วนช่องบันเทิงก็เป็นบันเทิงเชิงการตลาดจนดูคล้าย ๆ กัน นั่นเป็นเพราะมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันหมด สุดท้ายผมไปหยุดพักอยู่ที่ช่องกีฬา เป็นเทปบันทึกการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ของคืนวาน(เสาร์) ดูอยู่สักพักก็เบื่อเพราะผมรู้ผลของคู่นี้แล้ว ทีนี้จะเอาอย่างไรดี วันหยุดทั้งทีไม่มีอะไรให้ดูเลยหรือนี่ สุดท้ายก็ต้องไปพึ่ง
ดีวีดีที่ซื้อไว้แต่ยังไม่มีเวลาดู ไล่เรียงดูชื่อเรื่องก็ไปสะดุดกับเรื่อง kill bill เพิ่งจะนึกขึ้นได้ว่าตอนซื้อมานั้นอยากดูมาก แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้แกะพลาสติกเลย อย่างน้อยวันหยุดวันนี้ผมมีอะไรทำแล้ว จากนั้นผมก็ได้ดูการตามล่าตามฆ่าบิล (แสดงโดยเดวิด คาราดีน) แล้วนายบิลคนนี้แหละที่ทำให้ผมหวนรำลึกถึงหนังทีวีที่ผมเคยติดมาก ๆ สมัยวัยรุ่น ซึ่งมีนายบิลคนนี้แสดงนำ
กังฟู (Kung Fu)เป็นหนังทีวีที่สร้างขึ้นในปี 1972 โดยบริษัทวอร์เนอร์ บราเดอร์ เทเลวิชั่น เดวิด คาราดีน รับบทเป็น ไคว ชาง เคน เด็กกำพร้าอเมริกันที่ได้เข้าไปศึกษาวิชากังฟูที่วัดเส้าหลินตั้งแต่เด็ก ๆ จากนั้นต้องหลบหนีทางการจีนออกมาเพราะไปฆ่าหลานชายของจักพรรดิ์จีนเข้าให้แม้จะโดยอุบัติเหตุ เคนต้องหลบหนีสู่อเมริกาเพื่อหนีการตามล่าของทางการ และถือเป็นการเดินทางเพื่อตามหาพี่ชายไปด้วย การเดินทางเข้าสู่ดินแดนตะวันตกทำให้เขาต้องพบเจอกับพวกเหล่าร้าย เคนมีเพียงวิชากังฟูที่ติดตัวมา เขาใช้เพียงมือที่กร้านกับหัวใจที่แกร่งต่อสู้ เมื่ออยู่ท่ามกลางควันปืนแห่งทุ่งตะวันตก เรื่องราวดำเนินไปอย่างเรียบ ๆ แต่มันทรงพลังอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยปรัชญาและวิถีแห่งตะวันออกซึ่งในเวลานั้น ผมถือว่าผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบประเด็นความแตกต่างของวิถีตะวันตกและตะวันออก มาพบกันและสร้างสรรค์งานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ที่สำคัญมันสอดแทรกปรัชญาการดำเนินชีวิตไว้ได้อย่างแนบเนียน จะดูเอาสาระก็ได้ จะดูเอาบันเทิงก็มี ผิดกับหนังหรือละครซึ่งออกอากาศทางทีวีทุกวันนี้ที่อาจจะขาดทัศนคติหรือมุมความคิดที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในสังคมโดยมุ่งไปที่ผลกำไรเป็นหลักเพียงอย่างเดียว

ฝรั่งเรียนกังฟูดูเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับผมและน่าจะสำหรับหลาย ๆ คนในวันนั้น เมื่อหนังออกอากาศ เดวิด คาราดีนก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล เอมมีในฐานะนักแสดงนำยอดเยี่ยม แม้ว่า บรู๊ซ ลี จะเป็นคนแรกที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้รับบท ไคว เชง เคน แต่เมื่อที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติทุกคนเห็นว่าผู้ชมอเมริกาอาจจะยังไม่พร้อมในการยอมรับดารานำแสดงที่เป็นคนจีน แม้ว่า บรู๊ซ ลี จะเคยรับบท “เคโต้”ผู้ช่วยของหน้ากากแตนในทีวีซีรีส์ เรื่อง The Green Hornet (หน้ากากแตนอาละวาด) ซึ่งออกอากาศไปก่อนหน้านี้ในปี 1966
แม้ว่าเรทติ้งของ กังฟู จะอยู่ในความนิยมอย่างสูงต่อเนื่องมาจนถึงซีซันที่ 3 แต่วอร์เนอร์ก็ต้องปล่อยให้จบชุดลงไป นั่นเป็นเพราะพระเอกของเราขอยุติการแสดง ด้วยเหตุผลที่ตนได้รับบาดเจ็บตลอดเวลาในขณะถ่ายทำ การหยุดตัวเองแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าประชาชนกำลังต้อนรับเขาอย่างมากมาย ต้องเรียกว่าพระเอกกังฟูนั้น “รู้จักพอ” ไม่รอให้เรทติ้งตกซะก่อน
“ผมไม่ใช่ฮีโร่ ผมมันก็แค่ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่ง” ไคว เชง เคน กล่าวทิ้งท้าย

เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
e-mail:sedthasit@msn.com

Thursday, November 24, 2005

คนไทยบนเรือไททานิค:ความทรงจำที่ไม่มีวันจม



“บ้านของคุณอยู่ที่ไหน”

“สำหรับตอนนี้ บ้านของผมก็คือ เรือไททานิค
หลังจากนั้น ก็แล้วแต่พระเจ้า
ผมมาอยู่บนเรือลำนี้ได้เพราะเล่นไพ่ชนะ
ช่างโชคดีจริง ๆ
ชีวิตคือเกมส์แห่งโชค”

“คุณพอใจที่จะมีชีวิตอยู่โดยไร้อนาคตงั้นหรือ”

“...ใช่ครับ , ผมมีสิ่งที่ผมต้องการอยู่กับตัว
ผมมีอากาศสำหรับหายใจ มีกระดาษเปล่าสำหรับวาดภาพ
ผมรักที่จะตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าจะต้องพบเจอกับอะไร
จะกินอะไร จะนอนที่ไหน
คืนก่อนผมยังนอนอยู่ใต้สะพาน
คืนนี้ได้มานอนบนเรือที่ยิ่งใหญ่
ดื่มเหล้ากับพวกผู้ดี
ชีวิตคือของขวัญ อย่าเสียเวลาเปล่า ๆ
เพราะเราไม่รู้ว่าไพ่ในมือจะขึ้นมาแบบไหน
ต้องพร้อมเผชิญกับชีวิตให้ได้ทุกรูปแบบ
.......ทำแต่ละวันให้มีค่าที่สุด”

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารระหว่างพวกผู้ดีกับแจ็ค ดอร์สัน หนุ่มพเนจรซึ่งโชคดีได้ตั๋วขึ้นเรือมาจากการเล่นไพ่ ในค่ำคืนสุดท้าย 14เมษายน 2455 ก่อนที่เรือไททานิคจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ว่าแจ็ค ดอร์สันจะมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเขาเป็นแค่เพียงบุคคลในจินตนาการที่เจมส์ คาเมรอนผู้เขียนบทภาพยนตร์สร้างขึ้นมา หากแต่ว่าคนแบบแจ็คนั้นมีตัวจริงแน่นอนบนโลกใบนี้ ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้นับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งที่ดูผมรู้สึกซาบซึ้งและทุกครั้งจะรู้สึกอินไปกับเหตุการณ์ แม้เรือลำนี้จะจมลงไปนับถึงวันนี้ก็เกือบจะ 100ปีแล้วก็ตาม
ต้องยอมรับว่าผมมาหลงเสน่ห์เรือลำนี้เข้าก็ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย จากนั้นก็เริ่มออกสำรวจทุกอย่างเกี่ยวกับเรือลำนี้ เมื่อเริ่มต้นสำรวจผมอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองทำไปเพราะอะไร รู้แต่เพียงว่าตัวเองรู้สึกผูกพันอย่างมาก สิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ แม้จะรู้ว่าเป็นการเขียนบทขึ้นมา แต่ทุกครั้งที่หยิบดีวีดีขึ้นมาดู เหมือนตัวเองได้หลุดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น แล้วก็คิดต่อเอาเองว่าไม่แน่ มันอาจจะมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ได้ เพราะตั้งแต่ไททานิคจมลง นอกจากจะทิ้งเรื่องราวและข้อมูลส่วนหนึ่งให้คนรุ่นหลังสามารถติดตามความจริงออกมาได้ แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังเป็นความลับที่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ช่องว่างตรงนี้จึงเป็นโอกาสให้นักจินตนาการได้วาดฝันใส่ลงไป ผมเองยังเคยคิดเอาเองเล่น ๆ เลยว่า เรือยักษ์ลำแรกของโลกในวันนั้นกับการเดินทางครั้งแรกของเธอทำไมไม่มีคนไทยอยู่ในเรือลำนั้นเลยเชียวหรือ ผมอยากให้มีคนไทยอยากให้มีตัวแทนคนไทยสักคนได้มีโอกาสร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ผมพยายามสืบเสาะหารายชื่อผู้รอดตาย ผู้สูญหายที่อาจจะเป็นคนไทย แต่ก็ไม่พบ ครั้นจะฟันธงว่าไม่มี ก็ยังไม่ยุติธรรมเพราะมีร่างที่ไม่สามารถระบุได้ถึงที่มาที่ไปอยู่อีกมาก และร่างที่สูญหายไปกลางทะเลอีก อย่างไรก็ตามแม้การเดินทางสำรวจเรื่อไททานิคของผมจะไปสามารถค้นพบคนไทยในตอนนี้แต่แล้ววันหนึ่งผมก็เจอเข้ากับใครบางคนที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยและอยู่บนเรือไททานิคในคืนนั้น ผมเจอผู้รอดชีวิตสามคนพ่อแม่ลูก ครอบครัวคลาด์เวลล์ (Caldwell) Mr. Albert F. Caldwell ,Mrs.Sylvia Mae Cladwell และบุตรชาย Alden Gates Caldwell ซึ่งถือกำเนิดในกรุงเทพฯเวลานั้นมีอายุเพียง 1 ปี อัลเบิร์ตและซิลเวียเป็นครูทั้งคู่สอนอยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ทั้งสามเดินทางกลับบ้านเกิดในเดือนเมษายน 2455 สำหรับผมเด็กชายอัลเด็น คลาด์เวลล์ น่าจะนับว่าเป็นคนไทยได้หรือเปล่า เพราะเกิดในแผ่นดินไทย เสียดายที่ว่าในประวัติซึ่งนายอัลเบิร์ต คลาด์เวลล์เขียนเล่าไว้ภายหลังว่า ตอนที่ลูกชายเขาเกิด กงสุลอเมริกันยังไม่สามารถจดทะเบียนการเกิดให้กับลูกชายได้
อัลเบิร์ตยังเขียนเล่าต่อไปอีกว่าพวกเขาเดินทางออกจากประเทศไทยและในขณะอยู่ที่ยุโรป ได้เห็นป้ายโฆษณาของบริษัทไวท์สตาร์ เกี่ยวกับการเดินทางเที่ยวแรกของเรือไททานิค เรือที่ใหญ่ยักษ์ที่สุดในวันนั้น เรื่อที่ได้ชื่อว่าไม่มีวันจม เขาเล่าว่า เขาเห็นโฆษณาที่โรงแรมแต่ไม่สามารถที่จะซื้อตั๋วได้ เขาจะต้องเดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อซื้อตั๋ว แต่ตั๋วก็เต็มหมด เขาต้องรอว่าจะมีใครยกเลิกตั๋วเดินทางเที่ยวนี้บ้างหรือไม่ ในที่สุดพวกเขาได้ตั๋วชั้น 2และขึ้นเรือที่ท่าเรือเซาท์แธมป์ตันจนได้ โดยไม่รู้หรือไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยว่าไพ่ในมือของเขานั้นจะเป็นอย่างไร
14เม.ย. 2455 เวลาประมาณ 23.40น. เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็ง
15เม.ย.2455 เวลาประมาณ 2.20น. ใช้เวลาประมาณ 2ชั่วโมง40นาที
ไททานิคจมลงสู่ก้นทะเล
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 160นาทีนั้น ยังคงมีเสน่ห์ชวนค้นหาตลอดมา จนถึงวันนี้ก็ 93ปี
ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรือจมลง วันหลังมีโอกาสจะนำมาเล่าต่อ
ขออนุญาตปิดคอลัมน์นี้ด้วยบทพูดท้ายสุดของภาพยนตร์ไททานิค ซึ่งกล่าวโดยหัวหน้านักสำรวจ
“ 3 ปีที่ผมเฝ้าคิดถึงแต่ไททานิค แต่ไม่เคยเข้าใจเลย ไม่เคยเข้าถึงอย่างถ่องแท้เลย”

ศ.เศรษฐสิทธิ

ขั้นตอนการผลิตเพลงฮิต



คาราโอเกะ ผมถือเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่จะชี้ชัดและวัดความดังและความฮิตของเพลง ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงเก่า หรือเพลงใหม่
หากถูกใครนำมาขับร้องต้องนับว่าเพลง ๆ นั้นก็เป็นเพลงฮิต อย่างน้อยก็สำหรับคน ๆ นั้น ทุกวันนี้หากอยากรู้ว่าเพลงไหนดัง
ผมก็จะเข้าไปฟังคนร้องคาราโอเกะ ก่อนหน้านั้นอาจจะวัดไม่ได้ทันเวลานักเพราะแผ่นคาราโอเกะมักจะออกมาช้าล้าหลังกว่าอัลบั้ม
กว่าจะได้ร้องคาราโอเกะก็ต้องอย่างน้อยสองถึงสามเดือน แต่สมัยนี้ค่ายเพลงเขาเรียกว่าออกแผ่นคาราโอเกะมาพร้อม ๆ กันกับอัลบั้มเลยทีเดียว
เพลงฮิตติดปากที่เราได้ฟังได้ยินร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทราบไหมครับว่ากว่าจะออกมาเป็นเพลงฟังเพราะ ๆ ไม่เกินสี่นาทีนี่
เขาทำงานกันเป็นเดือน ๆ ทีเดียว แล้วขั้นตอนในการทำก็ไม่ใช่ง่าย ใช้ทีมงานเรียกว่าระดับมืออาชีพ ยิ่งศิลปินตัวใหญ่ ยิ่งทำยาก คิดมากเพิ่มเป็นเท่าตัว
ขั้นตอนในการผลิตเพลงให้ศิลปินสักคน หากเราตัดขั้นตอนในการสืบเสาะ ค้นหาศิลปินซึ่งก็เป็นขั้นตอนที่ยากเย็นและต้องใช้ความสามารถและ
สายตาในการค้นหา หากเลือกมาถูกมันก็ทำให้งานขั้นตอนต่อ ๆ ไปง่ายขึ้น สมมติเราได้ศิลปินมาแล้ว ทีมงานแต่งเพลงก็จะมานั่งประชุม
หาแนวทางของเพลงว่านักร้องคนที่เลือกมานี้ มีบุคลิกและความชอบในตัวเพลงประเภทใด เพลงป็อป เพลงร็อค ป็อปร็อค, แดนซ์ ,ฮิพฮอพ
หรือเพลงฟังสบาย ๆ การวางแนวเพลงตรงนี้อาจจะไม่ยากเท่าไรนักเพราะโดยปกติแล้วก็สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่านายคนนี้หรือน้องคนนี้เหมาะที่จะร้องเพลงแนวไหน จากนั้นโปรดิวส์เซอร์ซึ่งเป็นคนที่ใหญ่ที่สุดในขั้นตอนแต่งเพลงก็จะสั่งการให้ทีมงานไปแต่งเพลงกันมาโดยอยู่บนแนวทางของเพลงที่เลือกกันไว้แล้ว โดยทีมดนตรีก็จะแยกย้ายไปแต่งทำนองมาก่อน จากนั้นก็จะนำมาเข้าที่ประชุมเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ว่าทำนองที่แต่งมานั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ หากใช้ได้ก็จะถูกส่งผ่านไปยังทีมงานแต่งเนื้อร้อง ซึ่งจะมีหน้าที่หาคำ หาเรื่องราว และใส่ลงไปในทำนองที่เลือกแล้วให้ได้อย่างลงตัว ซึ่งงานตรงนี้นับว่ายากมาก ยากกว่าเพลงฝรั่งอีก เพราะภาษาไทยเรามีเสียงวรรณยุกต์ แต่ภาษาอังกฤษนั้นไม่มีจึงสามารถใส่คำลงไปได้ในทุกเสียงโน้ต แต่ภาษาไทยทำไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ความหมายผิดไปและฟังพิกล บางคนเรียกว่าโกงโน้ต เมื่อได้เนื้อร้องมาก็เอามาเข้าที่ประชุม(อีกแล้ว) พร้อมเนื้อที่พิมพ์มาแจกจ่ายให้ครบทุกคนในที่ประชุม แล้วทุกคนก็เริ่มวิเคราะห์และวิจารณ์(เหมือนเดิม) เมื่อพอใจก็นำไปให้นักร้องเข้าห้องอัดร้องออกมา แล้วก็นำมาเข้าที่ประชุมเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์(อีก) นั่นคือขั้นตอนคร่าวๆ ในการผลิตเพลง ความยากของการทำงานแบบนี้ก็คือการชั่งน้ำหนักระหว่างความเป็นงานศิลปะหรือว่าพาณิชย์ว่าน้ำหนักจะไปตกอยู่ตรงไหน และเนื่องจากการสร้างเพลงเป็นงานศิลปะ ความถูกผิดมันจึงไม่ชัดเหมือนงานบัญชีหรืองานตัวเลขซึ่งผิดหรือถูกจะชัดเจนกว่า ดังนั้นบนเส้นทางการสร้างนักร้องและสร้างเพลงฮิตขึ้นมาจึงเต็มไปด้วยสงครามแห่งอัตตา เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรจะถูก อะไรจะผิด จนกว่าเพลง ๆ นั้นจะถูกออกอากาศและเดินทางไปสู่หูผู้ฟัง บางเพลงอาจจะเข้าหูซ้ายแล้วทะลุหูขวา แต่ว่าบางเพลงอาจจะเลี้ยวลงไปอยู่ในใจคนฟังและฝังอยู่ในนั้นไปตลอดกาลก็ได้ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ด้วยธรรมชาติการทำงานที่ต้องอยู่บนเงื่อนไขดังกล่าวทำให้มันกลายเป็นธุรกิจเพื่อความบันเทิงที่คนทำงานนั้นไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่บันเทิงเลย
แต่เพลงฮิตบางครั้งมันก็มาของมันเอง หากใครที่อายุสามสิบขึ้นคงจะรู้จักเพลงฝรั่ง Kung Fu Fighting เพลงฮิตที่ดังมากในเมืองไทยในช่วงปี 1974-75 เพลงนี้ร้องโดยคาร์ล ดักลาส (Carl Douglas) อยู่ในอันดับ 1 ของ Billboard ในเดือนธันวาคม 1974 ที่บ้านเราในช่วงนั้นทุกไนท์คลับจะต้องเล่นเพลงนี้ รายการวิทยุเพลงสากลเปิดกันสนั่นเมือง เกี่ยวกับที่มาของเพลงก็มีอยู่ว่า ฤดูใบไม้ผลิปี 1974 บิดดู (Biddu) โปรดิวส์เซอร์ชาวอินเดียซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน กำลังมองหานักร้องที่จะมาบันทึกเสียงในเพลงซึ่งแต่งโดยลาร์ลี่ ไวส์ (Lary weiss) เจ้าของเพลงดังอย่าง Rhinestone Cowboy
แล้วบิดดู ก็นึกถึงนักร้องคนหนึ่งซึ่งเคยมาร้องเพลงประกอบหนังที่เขาเป็นคนแต่งเมื่อสองปีก่อนเขาคือ
คาร์ล ดักกลาส
“นายจะเอาอะไร ฉันให้ทุกอย่างเลย” บิดดูโทรไปหาคาร์ล
แล้วคาร์ลก็ตกลงที่จะมาร้องให้ เพลงของไวซ์นั้นเป็นซิงเกิ้ลที่จะบรรจุไว้ในหน้า A แล้วเพลงหน้า B ล่ะ
บิดดู ถามคาร์ลว่ามีเพลงที่คาร์ล แต่งทิ้งไว้บ้างไหม
คาร์ลหยิบเนื้อเพลงที่เขาแต่งไว้ขึ้นมา 4-5 เพลง หนึ่งในนั้นคือเพลง Kung Fu Fighting
บิดดูชอบ แล้วก็ลงมือแต่งทำนองเดี๋ยวนั้นทันที ไม่มีอะไรต้องซีเรียส ไม่มีอะไรต้องวิเคราะห์
และด้วยเวลาเพียงสิบนาทีที่เหลือในสตูดิโอ เพลง Kung Fu Fighting ก็เสร็จออกมา บิดดู บอกว่า ”เราใส่เสียง hoo! Haa! เหมือนคนกำลังคาราเต้กัน มันสนุกมาก”
Kung Fu Fighting ขึ้นอันดันดับหนึ่งทั่วโลก ด้วยจำนวนแผ่นที่ขายไปได้ทั้งหมดเก้าล้านแผ่น

Monday, November 07, 2005

ชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว ชื่อมั่วบางทีก็ชัวร์ดี





“ชื่อ” มีอิทธิพลต่อดวงชะตาของผู้เป็นเจ้าของชื่อหรือไม่ คำถามนี้ไม่เคยอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผมมาโดยตลอดสี่สิบกว่าปี จนมาระยะหลัง ๆ เมื่อเห็นเพื่อนฝูงบางคนเริ่มเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียง ก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก คงเป็นเพราะความวุ่นวายในชีวิตประจำวันส่วนตัวกระมัง เลยไม่ทันได้ไปคิดถึงเรื่องนอกตัว สิ่งหนึ่งที่มากระทบหยักสมองของผมก็ตอนที่ได้เห็นรายชื่อของเด็กนักเรียนเพื่อนร่วมชั้นของลูกชาย เกือบทุกคนเรียกว่าแปดสิบ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์มีชื่อที่ผมอ่านแล้วรู้สึกไม่คุ้นเคยเป็นอย่างมาก การสะกด การออกเสียง ผมว่ามันยากกว่าชื่อสมัยที่พ่อแม่ของผมตั้งกัน ชื่อที่คุ้น ๆ เคย ๆ อย่างสมศักดิ์ สมชาย วิทยา จารุณี วราภรณ์
สมศรี อะไรแบบนี้ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมตั้งกันสักเท่าไรแล้ว แต่จะเป็นชื่อที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเลอเลิศ ไพเราะ และมีความหมายที่ดีเกือบจะทั้งสิ้น แต่สะกดยาก เรียกว่าเมื่อคุณถามเขาว่าชื่ออะไร เมื่อเขาตอบกลับมา รับรองว่าคุณจะต้องมีคำถามต่อไปว่า สะกดอย่างไรครับอย่างแน่นอน ทำให้นึกย้อนภาพกลับไปสมัยที่ผมยังทำงานเป็น ครีเอทีฟอยู่ที่แกรมมีก็มีพี่โปรดิวส์เซอร์คนหนึ่งแกเปลี่ยนชื่อเมื่ออายุผมเดา ๆ ว่าน่าจะประมาณเกือบ ๆ 50ปี ทั้งชื่อเล่น ชื่อจริง เหตุผลใดนั้น ก็ไม่เคยได้คุยกับแกตรง ๆ สักที แต่ที่ได้ยินมาก็เป็นเรื่องของดวงชะตา เหมือนว่าชื่อไม่เป็นสิริมงคลกับตัวประมาณนั้น

ทุกวันนี้มีหมอดู ซึ่งเมื่อก่อนก็ดูดวงชะตาจากวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟากอะไรประมาณนั้น แต่ระยะหลัง(จะมีมานานแค่ไหนอย่างไรผมก็ไม่แน่ใจ แต่ผมเพิ่งจะรู้ว่ามีเมื่อประมาณต้นปีนี้นี่เอง)
มีการดูดวงชะตาจากชื่อ นามสกุล และให้บริการตั้งชื่อใหม่ เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อไปในภายภาคหน้า และก็เป็นที่นิยมอยู่พอสมควรทีเดียว ผมจับข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วลองคิดเอาเองว่าการที่ชื่อในยุคสมัยนี้เปลี่ยนไปจากสมัยผม อาจจะเป็นเพราะคนเริ่มคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนชื่อจะมีอิทธิพลต่อดวงชะตาของเจ้าของหรือไม่ ไม่มีใครฟันธงได้ แต่เชื่อไว้มันก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย (ระยะหลัง ๆ นี่นักธุรกิจดัง ๆ ก็ไปเปลี่ยนเหมือนกัน)

พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ให้นึกถึงวงดนตรีจากเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ในยุค 70’s ชื่อวงว่า 10CC หากใครที่โตมากับยุคนั้นคงพอจะเคยได้ยินชื่อของวง ๆ นี้บ้าง เพราะมีเพลงดังในบ้านเราตอนนั้นอย่างน้อย ๆ ก็ 2เพลง I’m not in love และ The Thing We Do For Love.
10CC มีสมาชิก 4 คน Graham Gouldman,Eric Stewart,Kevin Godley,และ Lol Crème
ในประเทศอังกฤษ 10CC ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพลงของเขาอยู่ในชาร์ตท็อปเท็นอย่างต่อเนื่องโดยตลอดในช่วงระหว่างปี 1972-1978 และสามารถขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ1ใน UK Chart ได้ถึง 3เพลง คือ “Rubber Bullets” ในปี 1973
เพลง “I’m not in love”ในปี 1975
และ “Dearlock Holiday” ในปี 1978
ส่วนเพลง “The things we do for love”ซึ่งเป็นอีกเพลงที่ฮิตในบ้านเราเวลานั้นก็ติดอันดับ 6ใน UK และอันดับ 5 ใน US
นั่นเป็นเรื่อง “ผล” ของ “งาน” ของพวกเขา แต่ที่หยิบวงนี้ขึ้นมา สาเหตุก็เพราะชื่อวงครับ เคยสงสัยตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่ามันมีความหมายอะไรหรือเปล่า รู้สึกแต่ว่าชื่อมันแปลกและโดดเด่นดี ตอนนั้นก็ไม่ได้พยายามหาคำตอบแต่อย่างไร ปล่อยให้ตัวเองสงสัยจนลืม แล้ววันหนึ่งผมได้อ่านหนังสือชื่อ Losing my Virginity เขียนโดย Richard Branson ส่วนหนึ่งของเนื้อในพูดถึงชื่อวง 10CC ว่ามีที่มาอย่างไร เมื่อได้รู้แล้วผมเองพูดไม่ออกบอกไม่ได้เหมือนกันว่าความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นคืออะไร แปลกใจ ประหลาดใจ ไม่น่าเชื่อ สะใจ หรือทุกอย่างรวมกัน ความหมายมันมาจากไอเดียที่ว่า “ทุกครั้งที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์ ปริมาณน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาแต่ละครั้งจะมีปริมาณโดยเฉลี่ย 10ซีซี” สนุกดีไหมล่ะครับ
นี่คือความหมายของชื่อ 10CC วงดนตรีที่โด่งดังวงหนึ่งในยุค 70’s ......คิดต่อเอาเองครับ



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์

Monday, October 17, 2005

หนังสือแนะนำ


"ไม่ต้องเป็นคนแกรมมี คุณก็อ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างสนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการก่อเกิดศิลปินหลายคนและอัลยั้มดัง ๆ หลายอัลบั้มให้อ่านเป็นกรณีศึกษา(แบบนอกตำรา) ผมคิดว่าบวรศักดิ์ จำปาวัลย์ เป็นคนที่เล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือได้มีชีวิตชีวาเอามาก ๆ ระยะหลังไม่ค่อยมีหนังสือที่ผมอ่านแล้ววางไม่ลง แต่เล่มนี้ทำให้ผมออกอาการอย่างนั้น"
วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
บก. อำนวยการ นิตยสารอะเดย์


i am GRAMMY : เรื่องเล่าเท่าที่จำได้
เขียนโดย บวรศักดิ์ จำปาวัลย์
สำนักพิมพ์ goodbooks
ราคา 169 บาท สั่งซื้อโดยตรงลด 20%

โอนเข้าบัญชี สุพรทิพย์ บุลเสฏฐ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสุขุมวิท 101/1 เลขที่บัญชี 145-2-02740-0
และแฟกซ์ใบpay in มาที่ fax 02-743-8035 (ค่าจัดส่งฟรี)

หนังสือแนะนำ


"ถ้าใครบอกว่า หนังสือเล่มนี้ก็แค่หนังสือเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์เล่มหนึ่ง นั่นถือว่าเป็นการสบประมาทคุณค่าของหนังสืออย่างไม่น่าให้อภัย เพราะหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการเขียนบทที่ดี พร้อมข้อแนะนำและกฎกติกาที่เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงสำหรับการเขียนบทละคร นวนิยาย บทโทรทัศน์ และภาพยนตร์ คำนิยมที่ดีที่สุดที่ผมจะให้แก่หนังสือเล่มนี้ได้ คือ ผมอยากให้คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้คือตัวผมเอง"
แสตนลีย์ ราล์ฟ รอส

บทภาพยนตร์ :เขียนอย่างไรให้ทำเงิน
How to Write a Selling Screenplay
เขียนโดย Christopher Keane
แปลโดย มณิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ ศศิพร หมั่นเจริญลาภ
สำนักพิมพ์ goodbooks
ราคา 300 บาท สั่งซื้อโดยตรงลด 20%

โอนเข้าบัญชี สุพรทิพย์ บุลเสฏฐ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสุขุมวิท 101/1 เลขที่บัญชี 145-2-02740-0
และแฟกซ์ใบpay in มาที่ fax 02-743-8035 (ค่าจัดส่งฟรี)

คุณไม่จำเป็นต้องไปเข้าโรงเรียนสอนทำหนัง หากคุณอยากจะทำหนัง
"สิ่งที่เขาไม่ได้สอนตอนเรียนหนัง" What They Don't Teach You At Film School " เล่มนี้ นำเสนอ 161 กลเม็ดเด็ด ๆ ในการผลิตหนัง ไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทไหนให้คุณได้รู้ ด้วยราคาที่ถูกกว่าค่าเล่าเรียนที่แสนแพงตามสถาบันสอนทั่วไป หนังสือเล่มนี้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ฝ่าวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าปัญหาเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ทำอย่างไรจึงจะเขียนบทให้เสร็จได้ หรือทำอย่างไรจึงจะเริ่มต้นเขียนบทได้ไปจนถึงการเจรจากับดารานักแสดงจอมเรื่องมาก คนรักที่ถูกทอดทิ้ง กองถ่ายหัวหมอ เจ้าของสถานที่เจ้าอารมณ์ แม้แต่นักลงทุนจอมฉุนเฉียว หนังสือเล่มนี้จะชี้แนะและให้คำแนะนำพร้อมข้อคิดกับคุณในการจัดการกับเรื่องเหล่านั้นได้อย่างดี

"ถ้าคุณมีความกล้าบ้าบิ่นที่จะทำหนัง ก็จงซื้อหนังสือนี้กลับบ้านซะ เนื้อหาที่มีทั้งข้อมูลและแรงบันดาลใจในการทำหนังที่ไม่มีสอนในโรงเรียน" Dan Mirvish ผู้ร่วมก่ อตั้งเทศกาลหนัง ซันแดนซ์

สิ่งที่เขาไม่ได้สอนตอนเรียนหนัง
What They don't Teach You at Film School
เขียนโดย Camille Landau and Tiare White
แปลโดย พิไลลักษณ์ ลาภานันต์ และ เอก ตันเจริญ
สำนักพิมพ์ goodbooks ราคา 300 บาท สั่งซื้อโดยตรง ลด /20%

โอนเข้าบัญชี สุพรทิพย์ บุลเสฏฐ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสุขุมวิท 101/1 เลขที่บัญชี 145-2-02740-0
และแฟกซ์ใบpay in มาที่ fax 02-743-8035 (ค่าจัดส่งฟรี)

หนังสือแนะนำ


หนังสือที่แนะแนวทางใหม่ในการเขียนบทภาพยนตร์และบทโทรทัศน์ เปิดเผยถึงความลับและเคล็ดลับของนักเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อให้คุณสร้างเรื่องของคุณเองลงบนกระดาษได้
คุณทราบหรือไม่ว่าเหตุใดนักแสดงจึงเลือกหยิบบท ๆ หนึ่งออกมาจากกองของบทที่กองสุมกันอยู่เป็นภูเขาเลากา ทำไมโครวสร้างของหนังแบบสามองค์จึงกลายเป็นเรื่องเก่าคร่ำครีไปเสียแล้วในวันนี้ ทอม ลาซาลัสหยิบเรื่องเหล่านี้มาเปิดเผยและอธิบายให้คุณได้รู้อย่างแจ่มชัด
การมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่ง และเทคนิคต่าง ๆ ของลาซาลัส จะค่อย ๆ ช่วยเสริมและปรับปรุงกระบวนการเขียนบทให้กับนักเขียนบท ช่วยให้บทของคุณน่าสนใจ น่าอ่าน และทำให้ขายได้ง่ายขึ้น

ทอม ลาซาลัส นักเขียนบทภาพยนตร์ซึ่งได้รับการสร้างไปแล้ว 5 เรื่อง รวมทั้งเรื่องที่โด่งดังมากคือ Stigmata เคยเป็นอาจารย์สอนเขียนบทกว่า 10 ปี่ที่มหาวิทยาลัย UCLA ปัจจุบันยังคงเขียนบทภาพยนตร์และกำกับภาพยนตร์อินดี้อยู่ด้วย

Secrets of Film Writing เขียนโดย Tom Lazarus
แปลโดย บวรศักดิ์ จำปาวัลย์
สำนักพิมพ์ goodbooks ราคา 300 บาท สั่งซื้อที่สำนักพิมพ์โดยตรงลด 20%
โทร 02 3611362 email pom_goodbooks@hotmail.com
โอนเข้าบัญชี สุพรทิพย์ บุลเสฏฐ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสุขุมวิท 101/1 เลขที่บัญชี 145-2-02740-0
และแฟกซ์ใบpay in มาที่ fax 02-743-8035 (ค่าจัดส่งฟรี)

Sunday, October 16, 2005


The Art of Writing Love Song หนังสือเล่มล่าสุดจาก goodbooks
ว่าด้วยการเขียนเพลงรัก คำนิยมโดยบอย ตรัย และ วิภว์ บอกอ นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์
"หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนวิธีการเขียนเพลงรักแบบสำเร็จรูป แต่เป็นคล้าย ๆ จิตแพทย์ที่นั่งสอบถามนักแต่งเพลงอยู่ข้าง ๆ เตียง
คอยจดว่าพวกเขาคิดอะไรและคิดอย่างไรในตอนที่แต่งเพลงเหล่านั้น"
ราคา 300 บาท สั่งซื้อโดยตรงลด 20%

โอนเข้าบัญชี สุพรทิพย์ บุลเสฏฐ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยสุขุมวิท 101/1 เลขที่บัญชี 145-2-02740-0
และแฟกซ์ใบpay in มาที่ fax 02-743-8035 (ค่าจัดส่งฟรี)