Wednesday, August 19, 2009

Stop the World! I want to get off !

ผมจำไม่ได้แล้วว่าผมอ่านพบคำพูดนี้จากหนังสือเล่มใด แต่จากคำพูดนี้มันทำให้ผมหวนนึกออกในอีกหลาย ๆ เรื่องที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต สิ่งที่เคยเป็น วันนี้เปลี่ยนไป ทุกสิ่งคงหนีไม่พ้นกฏแห่งการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป
ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง เราในฐานะผู้อยู่ในสังคม ในโลก ก็คงมีหน้าที่ต้องปรับจูนตัวเองให้สามารถเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ ผมเองอาจจะโชคดีที่บังเอิญมีชีวิตอยู่ระหว่างจุดเปลี่ยนของยุคพอดี เมื่อโลกเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์หรือยุคอินเตอร์เน็ตผมก็ยังพอมีแรงที่จะเคลื่อนตัวเองไปกับมันได้ ผมเคยทำงานด้วยกระดาษ ปากกา ปัญญา และความอุตสาหะ แล้วผมก็มีโอกาสได้ตื่นเต้นไปกับการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็ว แม่นยำ และสะดวกสบาย บางครั้งผมก็ลืมความรู้สึกและบรรยากาศของการทำงานในยุคกระดาษปากกาไปได้เหมือนกัน จนกระทั่งบางวันที่ระบบคอมพิวเตอร์เกิดรวนขึ้นมา ทุกคนบอกว่าทำงานไม่ได้เพราะระบบล่ม วันนั้นนั่นแหละที่ทำให้ผมเริ่มนึกย้อนไปถึงวันเก่า ๆ ที่เราก็ยังทำงานได้โดยปราศจากอินเตอร์เน็ต ไม่มีคอมพิวเตอร์
ย้อนกลับไปถึงตอนเรียนหนังสือสมัยมัธยม เมื่อคุณครูมอบหมายให้นักเรียนทำรายงาน นั่นคือบททดสอบในหลาย ๆ ด้านของนักเรียนเลยทีเดียว นักเรียนจะได้รู้จักเรียนรู้เริ่มต้นจากการจัดเวลาของตัวเอง เพราะการหาข้อมูลที่จะมาทำรายงานนั้นจะต้องดั้นด้นไปค้นหาที่ห้องสมุดและบางครั้งต้องเดินทางไปถึงห้องสมุดแห่งชาติในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จากนั้นก็ต้องขลุกอยู่กับแหล่งข้อมูลนั่งจดนั่งคัดลอกออกมา แล้วนำมาเขียนด้วยลายมือลงในกระดาษฟูลแก๊ป หากต้องใช้ภาพประกอบก็ต้องหารูปจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแม้กระทั่งวาดเองขึ้นมา แล้วนำมาประกอบเป็นเล่ม ทำหน้าปกให้สวยด้วยจินตนาการตัวเอง จึงต้องมีเวลากับภาระดังกล่าวพอสมควรทุกอย่างได้รับการตรวจทานและผ่านสายตาไม่น่าจะน้อยกว่าสองสามครั้ง
แต่ทุกวันนี้การทำรายงานไม่ว่าจะเรื่องอะไรที่คุณครูมอบหมายให้นักเรียนนั้น มันสามารถจัดการทุกอย่างให้เสร็จได้ภายในคืนเดียวด้วยซ้ำ โดยใช้คอมพิวเตอร์ อาจจะไปเสิร์ทในกูเกิ้ล แล้วข้อมูลดังกล่าวก็จะไหลออกมาให้ copy และนำไป paste ลงใน Microsoft word อีกที ทั้งภาพและตัวอักษร จากนั้นสั่ง print เป็นอันเสร็จ สะดวกรวดเร็วกว่ายุคก่อนมาก
สิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยก็คือ การทำรายงานในเรื่องใดก็ตาม ความต้องการของคุณครูคือให้เด็กได้รู้จักค้นคว้า ได้อ่านข้อมูล ซึ่งการใช้เวลาไปกับสิ่งนั้นจะทำให้ได้รับความรู้โดยไม่รู้ตัว เล่มรายงานที่ทำเสร็จนั้นอาจสำคัญไม่เท่าขั้นตอนต่าง ๆ ที่สร้างมันขึ้นมา
แต่ด้วยวิธีการยุคใหม่ ผมไม่มั่นใจว่าเด็ก ๆ จะได้อ่านข้อมูลเหล่านั้นหรือเปล่า
เกิดโชคร้าย เด็ก ๆ แค่อยากทำรายงานส่งครูให้มันเสร็จ ๆ เมื่อเสิร์ชเข้าไปในกูเกิ้ลเจอสิ่งที่อยากได้ หัวข้อตรง ก็ก๊อปแปะจบ ด้วยความเร็วและสะดวกขนาดนี้เด็กยุคใหม่จะมีรายงานที่สวยงามและข้อมูลแน่น โดยที่พวกเขาอาจจะไม่ได้ความรู้เลยหรือเปล่า ไม่แน่ใจ แต่ได้คะแนน

ในยุคโน้น การจะมีแฟนสักคน การจะมีความรักสักครั้ง มันช่างลำบากและต้องใช้ขั้นตอนที่ต้องใช้ความอุตสาหะไม่แพ้การทำรายงานส่งครู ลองคิดตามนะครับสำหรับเด็ก ๆ ยุคใหม่ที่อาจจะนึกภาพบรรยากาศในยุคนั้นไม่ออก
ปัจจัยที่มาอันดับแรกคือเรื่องเวลา เด็กยุคโน้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีโอกาสไปเตร็ดเตร่ที่ไหนมากนัก สถานที่ที่จะให้ไปเที่ยวหลังเลิกเรียนก็เห็นจะมีแต่สยาม ร้านเหล้าไม่ต้องพูดถึง เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่เราจะได้ไปพบใครที่ถูกใจสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากบนรถเมลหรือตามงานนิทรรศการที่จะจัดขึ้นตามโรงเรียนต่าง ๆ และเมื่อพบและรู้จักกันแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสได้พบเจอหรือพูดคุยกันบ่อยนัก ยุคนั้นบ้านไหนมีโทรศัพท์ที่บ้านก็นับว่าเป็นบ้านที่มีฐานะดีพอสมควร เพราะค่าติดตั้งนั้นแพงมาก ๆ
สำหรับเด็กจน ๆ ที่ร่ำรวยความรักก็คงต้องใช้พึ่งพาจดหมาย การนั่งเขียนจดหมายถือเป็นเวลาที่มีความสุขอีกช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับการที่ต้องเดินเลือกซื้อกระดาษเขียนจดหมายที่คิดว่าเขาหรือเธอจะถูกใจ การเลือกใช้ซองที่เข้ากันได้อย่างดีกับกระดาษที่เลือก ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการทำให้ความรักนั้นมั่นคงและจริงใจ หลังจากส่งจดหมายรักออกไป ก็จะต้องมาคอยใจจดใจจ่อรอจดหมายตอบกลับอย่างตื่นเต้นทุกวัน มันตื่นเต้นทุกขั้นตอนเลยจริง ๆ การใช้จดหมายเป็นสื่อกลางเพื่อการนัดหมายทำให้การจะพบกันแต่ละครั้งของหนุ่มสาวมีความสำคัญ และนั่นอาจทำให้ความรักและการนัดหมายทุกครั้งดูมีค่ามากกว่าทุกวันนี้ที่การนัดหมายทำกันได้อย่างง่ายๆ เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ นัดกันได้ทันทีและบอกเลิกนัดกันได้อย่างง่ายดาย อาจจะเป็นสาเหตที่ทำให้ความรักและการนัดหมายของหนุ่มสาวยุคนี้ดูฉาบฉวยและไม่ค่อยมีความสำคัญเท่ากับหนุ่มสาวในยุคนั้น
ผมไม่ทราบหรอกครับว่า แล้วตกลงยุคไหนดีกว่ากัน ในแต่ละยุคก็มีข้อดีและข้อด้อยในตัวเอง น่าจะอยู่ที่คนในยุคนั้น ๆ ว่าจะมีวิธีปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ร่วมในยุคสมัยนั้น ๆ อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีความสุขมากที่สุด
หาก รายงาน หรือ คนรัก เปรียบได้กับเป้าหมายของชีวิตที่เราพยายามเดินไปให้ถึง สำหรับผม ผมชอบการเดินทอดน่องและมีความสุขกับการมองความสวยงามของสองข้างทางไปด้วย ส่วนจะถึงจุดหมายเมื่อไรนั้นค่อยมาว่ากันทีหลัง

Friday, March 20, 2009

สนามความคิด OFFICE’S STORIES

เป็นคอลัมน์ที่ตั้งใจจะนำเรื่องราวและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในออฟฟิตในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านใด ๆ ของชีวิตการทำงาน มาพูดคุยและเปิดโอกาสให้คนอ่านร่วมส่งผ่านความคิดเห็น และแสดงวิธีการแก้ปัญหาเข้ามาในคอลัมน์ด้วย

ในหนึ่งชีวิตของคน หากแบ่งเป็นช่วงใหญ่ ๆ ในแต่ละวัย คงเริ่มต้นกันที่ วัยเยาว์ วัยเรียน และวัยทำงาน มีการแข่งขันใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในชีวิตเราอย่างน้อย ๆ ก็สองครั้ง คือการสอบเข้าเรียนและการสอบเข้าทำงาน ปัจจุบันการแข่งขันเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กว่าเมื่อก่อนนี้ การสอบเอ็นทรานซ์มีคนสมัครสอบมากขึ้นในขณะที่ความต้องการและความสามารถในการรับนักศึกษาเข้าเรียนมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่เชื่อกันว่าดีนั้นมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะสามารถรับได้ ค่านิยมและความเชื่อเดิม ๆ ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดขึ้นมามากมาย แต่นักเรียนทั้งหมดก็ยังคงมุ่งหน้าแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อที่จะเข้าเส้นชัยให้ได้
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หลายคนโล่งใจ อย่างน้อยก็ผ่านการแข่งขันสนามแรกมาได้แล้ว แต่การแข่งขันที่รออยู่เบื้องหน้านั้นมันช่างยากเย็นยิ่งกว่าหลายร้อยเท่า เพราะนักศึกษาที่เรียนจบออกมาปี ๆ หนึ่งนั้นมันมีจำนวนมากกว่าอัตราการจ้างงานในแต่ละองค์กรอย่างมาก นี่ยังไม่นับถึงการแข่งขันเพื่อที่จะได้เข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงและมั่นคง ยิ่งต้องมีการแข่งขันกันสูงยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้สมัครนอกจากจะต้องเอาชนะคู่แข่งจากการสอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์แล้ว เราจะทำอย่างไรให้โดดเด่นกว่าคนอื่น ทำอย่างไรให้ชนะใจกรรมการ ทำอย่างไรให้ตัวเรานั้นเข้าตากรรมการ วันนี้หากเรามาตั้งเป้าว่า จะทำอย่างไรให้ชนะใจกรรมการและได้งาน คุณ ๆ ผู้อ่านคิดว่ามีวิธีใดบ้างที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเราในวันที่เราต้องไปแข่งขันเพื่อให้ได้รับเลือกและเข้าทำงานในองค์กรเป้าหมาย
เรามาเริ่มต้นกันที่จะต้องทำอะไรบ้าง มีขั้นตอนอะไรบ้าง ก่อนที่เราจะเข้าไปถึงสนามแข่งขัน
สมมติว่าวันนี้ผมสำเร็จการศึกษา ผมอยากทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟหรือก็อปปี้ ไรท์เตอร์ในบริษัทโฆษณา สิ่งที่ผมจะต้องทำคือ เปิดหนังสือพิมพ์ เปิดเว็บไซด์ หาข้อมูลว่ามีบริษัทโฆษณาใดบ้าง ที่ต้องการรับสมัครพนักงานในตำแหน่งที่ผมต้องการ สมมติว่าหาแล้วไม่มีบริษัทไหนลงประกาศรับเลย คุณคิดว่าคุณจะทำอย่างไรต่อไป ยกเลิกความฝันแล้วไปมองหางานอื่น หรือยังคงมุ่งมั่นค้นหาและนั่งรอนอนรอต่อไปจนกว่าจะพบประกาศรับสมัครของบริษัทที่ต้องการครีเอทีฟ
นอกจากสองทางเลือกนี้ มันมีทางอื่นอีกหรือไม่

ถ้าเป็นคุณ ๆ จะทำอย่างไร
ถ้าเป็นผม ผมจะยังคงความฝันของตัวเองเอาไว้ แต่จะไม่นั่งรอประกาศรับสมัคร ผมจะไปค้นหาที่อยู่ของบริษัทแล้วส่งใบสมัครไปทิ้งไว้ทุกที่เลย ไม่ต้องรอให้เขาประกาศรับ ร่อนใบสมัครไปทุกที่เลย พอถึงวันที่เขาขาดครีเอทีฟหรือว่าต้องการรับครีเอทีฟเพิ่ม เราก็จะเป็นคนแรก ๆ เลยที่เขาจะเรียกไปสัมภาษณ์หรือทดสอบ

สมมติต่อไปอีกว่าหากมีคนคิดแบบนี้เหมือนกันหลายคน ก็จะมีใบสมัครแบบเดียวกับเราอีกหลายใบ ทีนี้จะทำยังไงดีให้เราโดดเด่นและประทับใจกรรมการเหนือกว่าคนอื่น ๆ เหนือกว่าใบสมัครใบอื่น ๆ
แน่นอนในใบสมัครทุกใบก็คงมีรายละเอียดทั่วไปบวกประวัติการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่จบมา กรรมการก็คงต้องดูจากข้อมูลเหล่านี้ ใบสมัครที่ระบุว่านิเทศน์ศาสตร์ จุฬา ก็คงจะน่าสนใจและได้เปรียบใบสมัครใบอื่น ๆ และสมมติต่อไปอีกว่า ในรายละเอียดการศึกษาของคุณไม่ได้จบมาทางนี้ เช่นคุณจบมาทางเศรษฐศาสตร์ และยังมาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณจะทำอย่างไรล่ะที่นี้ แม้จะตัดหน้าคนอื่นโดยส่งใบสมัครไปดักรอไว้ก่อน แต่ก็ต้องไปเจอกับคนที่คิดเหมือนกัน แต่มาจากสถาบันและคณะที่ตรงกับตำแหน่งมากกว่า
แม้จะรู้ตัวเองดีว่า คุณนั้นเป็นครีเอทีฟเต็มตัวและหัวใจ
คิดมาถึงตรงนี้คุณก็มีทางเลือกสองทาง หนึ่งเลิกล้มความฝันแล้วผันตัวเองไปสมัครงานในตำแหน่งที่ตรงกับที่เรียนจบมา หรือสองรอโชคช่วยและลุ้นว่าอาจจะไม่มีใบสมัครของเด็กนิเทศน์จุฬาเลยก็ได้

ถ้าเป็นคุณ ๆ จะทำอย่างไร
ถ้าเป็นผม ผมจะทำใบสมัครที่มันแหกคอก ออกไปจากรูปแบบของใบสมัครงานทั่วไป เช่น ทำเป็นแมกกาซีนแอด ทำเป็นหนังโฆษณา ทำเป็นสปอตวิทยุ หรืออะไรก็ได้ที่สามารถแสดงออกให้กรรมการเขารู้ว่า เราเข้าใจงานโฆษณาและเหมาะสมอย่างที่สุดแล้วที่จะเข้ารับตำแหน่งครีเอทีฟ
ผมจะแทนตัวเองเป็นสินค้า แล้วคิดไอเดียเด็ด ๆ ให้โดนใจกรรมการไปเลย

คิดเห็นเป็นอย่างไร มีไอเดียเด็ด ๆ โยนลงสนามมาเลยนะครับ เพื่อน ๆ รออ่านอยู่
ส่งมาที่ pom_goodbooks@hotmail.com

Friday, February 27, 2009

มาทำงานตรงเวลาหรือว่ามาสายกลับดึก ดีกว่ากัน

เมื่อสมัยเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ผมไปทำงานแต่เช้าและกลับบ้านดึก การไปทำงานแต่เช้าเป็นเพราะว่าตื่นเต้นกับชีวิตใหม่ ชีวิตคนทำงาน และการกลับบ้านดึกดื่นก็เป็นเพราะว่าอยากทำงานเยอะ รู้อะไรให้ไว ๆ จะได้ก้าวหน้าเร็ว ๆ

แต่จากนั้นเมื่อทำงานไปได้สักสองสามปี ผมเริ่มมาทำงานสายขึ้นนิดหน่อยแต่ยังคงกลับบ้านดึกดื่น เป็นเพราะความตื่นเต้นลดน้อยลง และความเก่าแก่ของการเป็นพนักงานเพิ่มขึ้นเรียกว่าชักคุ้นกับองค์กร แต่การกลับบ้านยังคงดึกดื่น ขยันหรือเปล่า ไม่แน่ใจ เพียงแต่รู้สึกว่าการทำงานหลังจากคนอื่น ๆ กลับบ้านแล้วมันลื่นไหลดี เพราะผมทำงานครีเอทีฟ ช่วงเวลากลางวันมันรู้สึกว่าบริษัทพลุกพล่าน ไหนจะเสียงคนงานพูดคุย เสียงโทรศัพท์ที่ดังไม่ขาดสาย ผมจึงจัดระเบียบการทำงานใหม่นั่นคืองานติดต่อต่าง ๆ จะทำในเวลากลางวัน พอตกค่ำผมจะเริ่มต้นคิดงานครีเอทีฟ แล้วก็ได้ผล จึงยึดวิธีนี้ในการทำงานมาตลอด ระยะหลัง ๆ เมื่อทำงานด้านนี้มาได้กว่าสิบปี ผมเริ่มมาทำงานบ่าย แต่ยังคงกลับดึกเหมือนเดิม ผมเริ่มรู้ว่างานครีเอทีฟนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาทำงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดที่โต๊ะทำงาน เราสามารถทำที่ไหนก็ได้เมื่อเจองานซ้อนกันเยอะ ๆ ผมเริ่มเอามันกลับไปบ้านด้วย นอนกับมัน ฝันถึงมัน คุยกับมันตลอดเวลา แต่ยังมาถึงที่ทำงานบ่าย ๆ อยู่ดี
ไม่นานงานผมก็รู้สึกเหมือนจะมีอิสระมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาหรือว่าสถานที่ ไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่ออฟฟิต เพราะคิดที่ไหนก็ได้ โชคดีที่องค์กรผมเขาไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องเวลาเข้างานมากนัก(โชคดีของผม)แต่ซีเรียสกับไอเดียที่คิดออกมามากกว่า จนในที่สุดผมก็กลายเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่คนที่ทำงานครีเอทีฟในบริษัทก็จะได้รับความเข้าใจและเห็นอกเห็นจากบริษัทไปด้วยกันหมด โดยการเลื่อนเวลาตอกบัตรให้ หรือไม่ก็ยกเว้นกฏข้อนี้ไปเลย
ผมจึงกลายเป็นพนักงานที่ไม่ได้สนใจเรื่องเวลาเข้าออกงานมากนักมาโดยตลอด
บางครั้งรู้สึกว่าคนอื่น ๆ จะมองว่าผมเป็นพวกอภิสิทธิ์หรือเปล่า คงมี แต่ผมไม่สนใจเท่าไร ขอให้งานออกมาดีมันก็เป็นเกราะป้องกันตัวดีดีนี่เอง

วันก่อนเพื่อนเก่าซึ่งไปเปิดบริษัทของตัวเองมาเล่าให้ฟังถึงปัญหาพนักงาน เขาบอกว่ามีพนักงานสองแบบที่ออฟฟิตเขา คือมาเช้ากลับตรงเวลา กับพวกมาสายแต่กลับดึก เราคุยกันเพื่อหาข้อยุติว่าพนักงานแบบใดดีกว่ากัน เป็นการตั้งกระทู้แบบลับสมองกันเล่น ๆ
ผมถามเขาว่ามีแค่สองแบบเองหรือ ไม่มีแบบว่ามาเช้ากลับดึกหรือ คำตอบคือไม่มี
หากคำถามคือเท่านี้และไม่มีข้อมูลรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ผมก็เลยตอบไปว่า พวกมาสายกลับดึกดิ เพราะอะไรหรือ เพราะผมเป็นพนักงานประเภทนั้นเหมือนกันเหตุผลก็ง่าย ๆ แค่นี้ แต่ในความเป็นจริงมันคงมีรายละเอียดในการพิจารณามากกว่านั้น มาเช้ากลับตรงเวลาก็ไม่ได้แปลว่าพนักงานคนนั้นไม่มีใจให้บริษัท และการกลับดึก ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าพนักงานคนนั้นอุทิศตัวเองให้บริษัทอย่างเต็มที่ อาจจะเป็นเพราะว่าทำงานช้าและจบงานไม่ทัน ไม่มีการวางแผนงานที่ดีพอ และการอยู่ดึก ๆ ดื่น ๆ ยังจะทำให้ค่าใช้จ่ายออฟฟิตสูงขึ้น เช่นค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทะนุบำรุงเพิ่มขึ้น พนักงานคนนั้นได้พักผ่อนน้อยลง ประสิทธิภาพในการทำงานในวันต่อมาก็จะลดลง และยิ่งไปกันใหญ่หากใครคนนั้นคิดว่าการอยู่ดึกทำให้ตัวเองดูขยันซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะพอใจและส่งผลถึงโบนัสในตอนปลายปี
ถึงตรงนี้เจ้าเพื่อนผมมันทำท่าเหมือนผมไปจี้จุดอะไรมันเข้า มันตบขาตัวเองเหมือนปัญหาถูกไขให้กระจ่างสว่างคาตา

“เป็นไปได้ว่ะ เพราะกูสังเกตุพอใกล้ ๆ ปีใหม่ทีไร พนักงานกูแม่งกลับดึก ๆ ทุกคนเลย”
“มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”
คุณล่ะคิดยังไง

“ทำงานตามเงินเดือน”

เงินเดือน มีความหมายในหลาย ๆ มิติแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
เงินเดือนควรจะเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสมควรของแต่ละคน แต่ละเวลาและแต่ละเงื่อนไข แตกต่างกันไป
ไม่มีใครสามารถบอกเงินเดือนที่สมควรสำหรับคุณได้อย่างแม่นยำ เพราะมันเป็นเรื่องของความพอใจและความเหมาะของคุณเอง คุณเองเท่านั้นที่จะรู้ถึงจุดสมควรตรงนั้นได้
ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถตอบคำถามให้กับน้องคนหนึ่งได้ว่า เธอสมควรจะเรียกเงินเดือนเท่าไรต่อการสมัครงานในตำแหน่งพีอาร์(จูเนียร์)ในบริษัทแห่งหนึ่ง คำแนะนำผมในตอนนั้นก็คือ ดูราคาตลาดทั่ว ๆ ไปเขาได้กันเท่าไรก็ตามนั้นไปก่อน เพราะการเข้าทำงานในครั้งแรกนั้น ความสำคัญไม่น่าจะอยู่ที่ตัวเลขเงินเดือน เราน่าจะมองที่โอกาสซึ่งเปิดให้เราพิสูจน์ตัวเองและโอกาสที่เราจะได้เข้าไปเรียนรู้งานในสนามจริง
บางคนก็แย้งว่าหากเราเริ่มงานที่เงินเดือนต่ำการที่บริษัทจะเพิ่มเงินเดือนให้ในเวลาต่อมานั้น แม้จะขึ้นแต่ก็อยู่ในอัตราที่ช้ามาก ทำให้บางคนเมื่อทำงานไปสักพักจนเชี่ยวชาญพอสมควรก็มักจะออกไปสมัครงานที่อื่น เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะอัพเงินเดือนได้ในอัตราที่ทันใจ
เมื่อพูดถึงเรื่องเงินเดือนจึงมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดมากมายหลายมุม แต่วันนี้ว่าจะมาชวนพวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือนมาช่วยกันคิดหน่อยว่า เราควรจะ
“ทำงานตามเงินเดือนที่ได้รับ” หรือ “ทำงานเกินเงินเดือนที่ได้รับ”

“ก็ได้เงินเดือนเท่านี้ ก็ทำเท่านี้แหละ” ประโยคที่ผมมักจะได้ยินน้อง ๆ และเพื่อนฝูงบางคนพูดกันบ่อย ๆ ได้เงินน้อย ก็ทำงานให้น้อยตามเงิน ดูเหมือนจะยุติธรรมดีแล้ว แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเงินถึงน้อย แล้วเมื่อคุณไม่พอใจจำนวนเงิน ทำไมถึงยอมตกลงทำงานให้กับเขาตั้งแต่แรก ทำไมไม่เจรจาเพื่อให้ได้เงินตามที่คุณต้องการ

“อ้าว ก็เมื่อสักครุ๋พี่ยังบอกให้ผมมองที่โอกาสนี่นา เงินเท่าไรไม่ใช่เรื่องใหญ่ในตอนเริ่มต้น แล้วตอนนี้จะมาบอกว่า ผมไปยอมเขาได้ยังไง”

“ก็ใช่ครับ ยอมรับเงินที่พอประมาณ (แม้ส่วนใหญ่คงรู้สึกว่ามันน้อย) แต่อย่างที่บอกไว้ให้จ้องไปที่โอกาสที่จะได้โชว์ฝีมือมากกว่า”

และเมื่อมีโอกาส การทำงานโดยยึดคติที่ว่า ทำงานตามเงินเดือน มันจึงเหมือนตัดโอกาสก้าวหน้าของตัวเอง ด้วยคำพูดประโยคนั้น มันเหมือนกับว่าคุณกำลังจะทำให้ทั้งคุณและบริษัทที่คุณทำงานด้วยจะไม่ก้าวหน้าไปไหน เสียหายทั้งสองฝ่าย

เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าเรากำลังมีความรู้สึกว่า ทำงานตามเงินเดือน ผมรู้สึกว่ากำลังมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ควรที่จะต้องมีการจัดการอะไรสักอย่างเพื่อกำจัดความคิดแบบนั้นออกไปให้เร็วที่สุด
แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าเป็นผม ผมจะกลับมาสำรวจตัวเองก่อนว่า เราสมควรหรือยังที่จะได้รับค่าตอบแทน
มากกว่าที่กำลังได้รับอยู่ ฝีมือเราพัฒนาไปไกลกว่าเดิม ความสามารถเราตอนนี้เหนือกว่าเมื่อก่อนเยอะ
และนายจ้างเราเขาเห็นหรือเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่านายจ้างเราเขารู้และเห็นพัฒนาการของเราหรือยัง ไม่มีวิธีใดที่จะชัดเจนเท่ากับการนั่งลงคุยกับเขา ถามเขาเลยว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ คิดว่าเรามีความสามารถที่จะช่วยบริษัทได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เรามีประโยชน์ต่อองค์กรหรือไม่ การขอเพิ่มเงินเดือนอาจจะใช้วิธีขอรับผิดชอบงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปก็ได้ เมื่อตำแหน่งสูงขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้นก็เป็นเหตุเป็นผลที่จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น
จะดีมากหากเรานำเสนอเขาเลยว่าให้เรารับผิดชอบตรงนั้นตรงนี้เพิ่มขึ้นน่าจะดีต่อองค์กร ผมหมายถึง นอกจากการจ้องจะขอเงินขึ้นเพียงอย่างเดียว ลองคิดวิธีที่เราจะเข้าไปช่วยทำ ช่วยสร้าง ช่วยเพิ่ม ตรงส่วนไหนได้อีกเพื่อให้องค์กรก้าวหน้าต่อไป บางทีไอเดียเราอาจจะไปปิ๊งเจ้านายเข้าโดยที่เขาอาจจะไม่เคยคิดไม่เคยมองเลยก็ได้ ในมุมของเจ้านายเขาก็จะเห็นว่าเรามีใจให้กับบริษัทจริง ๆ ไม่ใช่จ้องจะขอขึ้นแต่เงินเดือนโดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอะไรให้บริษัทดีขึ้นบ้าง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของตัวเองเป็นประสบการณ์ที่พบมาเมื่อหลายปีมาแล้ว
ผมเริ่มงานเป็น copywriter ในบริษัทโฆษณาทำไป 6 ปีตำแหน่งสุดท้ายคือ creative group head จากนั้น แกรมมีก็มาชวนไปทำงานในตำแหน่ง creative อีกนั่นแหละ ดูเหมือนผมน่าจะสบายใจเพราะงานที่จะไปทำมันก็เหมือนงานที่เคยทำ แต่ผมไม่ได้คิด
แบบนั้น ผมเห็นว่ามันแค่คล้าย ๆ กัน เพราะสินค้าเดิม ๆ ที่ผมทำนั้นมันไม่มีชีวิต มันเป็นสิ่งของ เป็นสบู่ ยาสีฟัน เป็นรถยนต์ แต่ที่แกรมมีผมไปทำครีเอทีฟก็จริงแต่สินค้ามันไม่ใช่สิ่งของมันเป็นคนและเป็นเพลง มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เรื่องนี้ทำให้ผมไม่ค่อยมั่นใจตัวเองว่าจะไปทำได้ดีหรือไม่ แต่ใจนั้นอยากไปทำมาก ๆ เพราะ 9 ปีกับงานโฆษณามันเริ่มสร้างความตื่นเต้นและตื่นตัวให้ผมน้อยลงทุกวัน และอีกอย่างก็อยากได้เงินเพิ่มขึ้นด้วย แต่ด้วยความไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีผมจึงไม่ได้เรียกร้องเงินจากแกรมมีสูงมากนัก หากจำไม่ผิดผมขอเงินเพิ่มจากเดิมที่เคยได้รับเพียงสี่ห้าพันบาทเอง และผมก็บอกความคิดผมให้กับนายจ้างรับรู้ คือด้วยความที่ผมยังไม่มั่นใจตัวเองว่าจะทำได้ดี(แม้ว่านายจ้างดูจะมั่นใจมาก)ผมจึงขอเงินค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นจากที่เดิมเพียงนิดหน่อย แต่หากทำไปแล้วผมสามารถทำได้ดี ผมขอคุยเรื่องเงินอีกทีภายหลังนะ ซึ่งก็ตกลงตามนั้น
เมื่อเริ่มงานจะด้วยความชอบ ความตื่นเต้น หรืออะไรก็ตาม ผมทำได้ดี อัลบั้มแรกที่ดูแลประสบความสำเร็จอย่างดี เมื่อมีโอกาสผมก็คุยกับเจ้านายเกี่ยวกับเรื่องเงิน แล้วผมก็ได้รับมันมากเกินกว่าที่ตัวผมเองคาดหมายไว้ซะอีก
ผมจึงไม่เห็นด้วยจริง ๆ สำหรับคนที่กำลังทำงานตามเงินเดือน มันเสียเวลาครับ

ถ้าเป็นคุณล่ะ
pom_goodbooks@hotmail.com

Thursday, January 10, 2008

Groove Riders "The Lift" อัลบั้มใหม่ในรอบ 6 ปี




ผมเคยรู้จักและได้ยินชื่อ Groove Riders เมื่อหลายปีมาแล้ว ในเวลานั้นผมยังทำงานอยู่ที่แกรมมี ซึ่งถือว่าอยู่คนละฟากกัน ในเวลานั้นวงการเพลงถูกแบ่งออกเป็นสองฟาก โดยความรู้สึกของผู้ฟังและผู้ผลิต แม้จะอยู่คนละฟากกัน แต่ผมก็ได้ยินชื่อวง Groove Riders แต่ต้องยอมรับว่าในเวลานั้นผมไม่รู้จักเพลงของพวกเขาเลย เพราะตัวเองนั้นอยู่ในฟากของเมนสตรีม เพิ่งจะมาเริ่มฟังเพลงของพวกเขาจากอัลบั้มแรกที่ชื่อว่า Discovery เมื่อไม่นานมานี่เอง ที่ต้องฟังก็เพื่อใช้ในการทำงาน เพราะเวลานี้ผมได้ย้ายตัวเองมาอยู่ในฟากของอินดี้มาเป็นเวลาสองปีแล้ว เมื่อ GR เริ่มเข้าห้องอัดเพื่อผลิตงานชุดที่ 2 ผมก็ต้องไปหาอัลบั้มชุดแรกของพวกเขามาศึกษา เพื่อที่จะได้เดินหน้าไปกับพวกเขาได้ต่อไปในอัลบั้มชุดใหม่นี้

The Lift คือชื่ออัลบั้มชุดใหม่ของ GR เพลงของพวกเขายังคงความสนุกในแบบดิสโกในยุค 80 แต่ดูเฟิร์มขึ้นทั้งรูปลักษณ์และรายละเอียดในแต่ละเพลงซึ่งก้อ ณฐพล และบุรินทร์ มีส่วนช่วยกันสร้างอัลบั้มนี้เกือบทั้งหมด ในส่วนตัวเพลงนั้น ผมเองก็ไม่ได้มีส่วนอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาเลย เพราะไม่ได้มีหน้าที่ทำงานเพลง ในส่วนครีเอทีฟ ทางวงก็มีแนวทางที่จะทำสำหรับอัลบั้มนี้กันอยู่แล้ว ผมเองมีหน้าที่แค่คอยสนับสนุน ให้ความมั่นใจ กับไอเดียที่พรั่งพรูออกมาเหล่านั้นให้มันเป็นจริง ช่วยวิศวกรทั้งสี่สร้างลิฟท์ตัวนี้ให้ใกล้เคียงกับฝันของเขามากที่สุด

เมื่อทั้งหมดเสร็จออกมาแล้ว ทุกคนก็หวังว่าแฟน ๆ ที่คอยผลงานนี้อยู่จะชื่นชอบกัน เมื่อวันที่เยส(ผู้กำกับ)เอามิวสิควิดีโอเพลง superstar มาส่งที่บริษัท โดยการนัดหมายกับก้อไว้แล้ว เมื่อดูมิวสิควิดีโอจบสองรอบ ก้อก็หันมาบอกกับผมด้วยรอยยิ้มที่ปิติอย่างมาก
“นี่เป็นมิวสิค วิดีโอที่ดีที่สุดในชีวิตของวง ตั้งแต่เริ่มมีGroove Riders มา”
ก้อบอกผมอย่างนั้น
หลังจากคุณกดลิฟท์เข้ามาแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร ช่วยบอกกันไว้ด้วยนะครับ เดี๋ยวผมจะเอาไปบอกพวกเขาต่อให้

Friday, November 16, 2007

บอยตรัย กับ ไอน์สไตน์



ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งชอบเข้าร้านหนังสือบ่อย ๆ เพราะไม่อยากพลาดโอกาสที่หนังสือดี ๆ และ
ใหม่ ๆ ออกมาแล้วจะหาซื้อไม่ได้ในภายหลัง จึงพยายามเข้าร้านหนังสือบ่อยเพื่อจะได้พบเจอหนังสือใหม่ ๆ ก่อนใครและไม่พลาดการเป็นเจ้าของ ปัจจุบันจึงมีหนังสือเต็มหลายชั้นที่อ่านจบไปแล้ว และอีกหลายชั้นที่รอการเปิดอ่าน บางครั้งแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าบ้าอะไรมากมายขนาดนั้น
บางเล่มรอเวลาเป็นปีนับจากวันที่ซื้อถึงวันที่เปิดอ่าน(ผมจะเขียนวันที่ไว้ที่หน้าแรกทุกเล่มว่าซื้อมาเมื่อวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีอะไร)

งานหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิต ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เป็นอีกหนึ่งงานที่ผมไม่เคยพลาด เพราะจะเป็นงานที่มีหนังสือใหม่ ออกมาเยอะมาก ผู้คนเบียดเสียด ยัดเยียด เห็นแล้วก็ชื่นใจที่คนไทยเรานิยมอ่านหนังสือกันมากขึ้นทุกปี ๆ เพราะการไปงานนับวันจะยากขึ้นทุกที ผมไม่สามารถหาที่ยืนอ่านหนังสือเพื่อสำรวจคร่าว ๆ ถึงเนื้อหาข้างใน ทำได้อย่างมากก็แค่เหลือบ ๆ มอง และทราบรายละเอียดเพียงคร่าว ๆ เกี่ยวกับตัวหนังสือ บางทีก็เป็นเพราะผู้เขียน บางครั้งก็เป็นเพราะผู้แปล บางครั้งก็เป็นเพราะชื่อของหนังสือที่ชวนซื้อ ในความชื่นใจที่เห็นคนเยอะแยะมากมาย อีกความรู้สึกหนึ่งก็คือ คนไทยเราซื้อและขายหนังสือกันจริง ๆ จัง ๆ ปีละสองครั้งเองหรือ คงจะดีหากที่ร้านหนังสือ ทุก ๆ วัน จะมีคนเข้าร้านและเลือกซื้อหนังสือมากมายเหมือนวันงาน

จากงานหนังสือที่ผ่านมาผมได้หนังสือที่ถูกใจมาหลายเล่ม และค่อย ๆ เริ่มต้นจากการเปิดอ่านคำนำ คำนิยมของทุกเล่ม เพื่อเลือกเล่มที่จะ (พยายาม) อ่านก่อน (แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จ เดี๋ยวก็ต้องค้างคาไว้เหมือนเดิม)

“จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา” เขียนโดยบอย ตรัย คือเล่มที่ผมควักเงินซื้อเพราะชื่อหนังสือและชื่อคนเขียน ผมรู้จักกับบอย ตรัย มาด้วยระยะเวลาไม่นานนักน่าจะสักสองปีได้ ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี่ ผมยังอ่าน จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา ยังไม่จบดี แต่พอจะรู้สาเหตุและแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของบอยได้พอประมาณ แต่ละบทในหนังสือเล่มนี้แสดงออกถึงความรู้สึก ความประทับใจ ความเหงา ความโดดเดี่ยว และอีกหลาย ๆ ความ ที่ผู้เขียนผ่านพบ รู้สึก และสังเกตเห็นมาทั้งในเมือง ในชีวิต หรือบางทีอาจจะเป็นในโลก
จิ้งหรีด ตัวแทนของคนที่ชอบร้องรำทำเพลง และดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเมืองอันเร่งรีบ ที่วุ่นวายอยู่กับการ “ทำงาน” จิ้งหรีดถูกมองว่าเป็นพวกไม่ทำงาน เมื่อจิ้งหรีด พูดอะไรคนในเมืองใหญ่ก็ไม่มีใครฟัง หรือเหมือนจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยิน บอยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างเหงาและเข้าใจในความเป็นไปของโลก ในขณะที่พวกจิ้งหรีดต่างพากันท้อกับการสร้างสรรค์งานเพลงแต่ทุกวันนี้กลับคล้ายว่าจะหาคนฟังไม่ได้ บรรดาจิ้งหรีดพากันบ่นและท้อแท้ แต่บอย ตรัย ครั้งหนึ่งเคยคุยกับผมว่ารู้สึกอย่างไรกับเหตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการเพลงของไทย ในฐานะที่ผมก็ทำงานอยู่ในวงการนี้มาพอสมควร ผมยังไม่ทันที่จะได้ตอบ บอยก็เผยความคิดของเขาว่า เขายังเชื่อมั่นว่าวงการเพลงไม่ได้เป็นอะไร ยังคงมีคนฟังเสียงจิ้งหรีดอยู่ บอยยังคงมีศรัทธากับสิ่งที่เขาทำอยู่เสมอ บอยยังคงคิดและเขียนความคิดของเขาออกมาทั้งในรูปแบบของเพลงและบทความ
คุณโหน่ง วงศ์ทนง ซึ่งทำหน้าที่เป็นบอกอให้กับ จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา เล่มนี้ บอกว่า เมื่อได้อ่านเรืองต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็คล้ายกับได้ฟังเพลง เหมือนมีท่วงทำนองคลอขึ้นมาในขณะที่อ่าน ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น
แม้ทุกวันนี้ผู้คนมากมายภายในเมืองวุ่นวายแห่งนี้จะไม่มีใครสนใจเสียงจิ้งหรีดตัว(ใหญ่)นี้ แต่ผมเชื่อว่าเขาจะยังคงส่งเสียง เพียงเพราะความรักและความศรัทธาต่อไป
จิ้งหรีดเดียวดาย บอกผมไว้แบบนั้น

ไวโอลินของไอน์สไตน์ ผมสะดุดกับชื่อหนังสือเล่มนี้ สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร แล้วไอน์สไตน์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับไวโอลิน เพราะโดยปกติตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสืออยู่นั้น เมื่อเอ่ยชือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สิ่งเดียวที่ผมจะนึกถึงจนถึงวันนี้ก็คือ E = mc 2 เห็นภาพคนแก่หัวกระเซิง วันวันท่านคงคิดแต่สูตรสมการวิทยาศาสตร์ ซึ่งผมเองก็ไม่สามารถเข้าถึงตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เพิ่งมาพบว่าในสมัยเด็ก ๆ ไอน์สไตน์ชอบดนตรีมาก ถึงกับมีคนบอกว่าหากท่านไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ท่านก็คงจะยึดอาชีพนักดนตรี หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอิทธิพลของดนตรี ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นวาทะยากรมาตลอดชีวิตได้ถ่ายทอดเรื่องราวของดนตรี ที่มีผลต่อชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างกับสังคมบนโลก ถึงขั้นที่ดนตรีสามารถจะสยบกระสุนปืนได้เลยทีเดียว ผมยังอ่านไม่จบครับ เล่มนี้คงต้องมีเวลา มีสมาธิสักหน่อย ค่อยมานั่งอ่าน ผมเพียงแต่แปลกใจและไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกรักดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และเลือกที่จะเป็นนักดนตรีมากกว่าวิทยาศาสตร์หากท่านสามารถเลือกได้

สังเกตกันไหมครับว่า ในบ้านเราดนตรีเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง เริ่มสนับสนุนบุตรหลานให้รักดนตรี เด็ก ๆ ก็กล้าที่จะแสดงออกกันมากขึ้น อาชีพที่ติดอันดับต้น ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ฝันและใฝ่กันในวันนี้ ไม่ใช่ หมอ ไม่ใช่แอร์ แต่เป็นนักร้อง นักแสดง วีเจ โมเดล แทนซะยังงั้น
ในขณะที่ผู้ประกอบการด้านดนตรี บริษัทดนตรีที่ผลิตอัลบั้มออกมาขายกำลังวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหายอดขายซึ่งนับวันจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งโรงเรียนสอนร้องเพลง สอนดนตรี เหล่านี้กลับได้รับความสนใจมากขึ้น ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อวันที่นักเรียนเหล่านี้เรียนจบกันออกไปและพร้อมที่จะออกอัลบั้มกันแล้ว มันจะขายได้หรือเปล่า แล้วบริษัทดนตรีเหล่านี้พร้อมและกล้าที่จะสนับสนุนพวกเขาหรือเปล่า บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้และนักร้องรุ่นใหม่ ๆ เหล่านี้ จะมีศรัทธาอันแรงกล้าเหมือนจิ้งหรีดเดียวดายของผมหรือเปล่า

Wednesday, February 21, 2007

oh! my god




40 กว่าปีที่แล้ว
“บีทเทิ้ล ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า”
ผู้กล่าวคือจอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิก 4 คนของคณะสี่เต่าทองซึ่งทั่วโลกกำลังคลั่งไคล้ คำพูดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อมวลชนและคนที่ไม่เห็นด้วยว่า “พวกเอ็งน่ะเหรอยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า”
มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน มีการนำอัลบั้มของพวกเขามาเผา จนทั้ง 4 คนต้องออกมาขอโทษและชี้แจง
ต่อแฟน ๆ ซึ่งความจริงก็ไม่น่าจะใช่แฟนพวกเขาสักเท่าไร (เพราะแฟน ๆ พวกเขาคงเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว)

10 พฤษภาคม 1955
มาร์ค เดวิด แชปแมน(Mark David Chapman) ถือกำเนิดในครอบครัวชั้นกลาง
พ่อทำงานในหน่วยกองบินทหารอากาศ แม่เป็นพยาบาล
แชปแมน จัดเป็นเด็กปกติและมีไอ้คิวที่เกินมาตรฐาน แต่เขาโตขึ้นมาในสภาพที่หวาดกลัวและหวาดผวาตลอดเวลา พ่อของเขามักจะชอบทำร้ายแม่เป็นประจำ เสียงกรีดร้องของแม่ทุกครั้งที่แม่ถูกพ่อทำร้ายมันค่อย ๆ สร้างความโกรธแค้นในใจแก่เขา บางครั้งเขาจินตนาการว่าเขาจะหาปืนให้ได้สักกระบอกและกำจัดพ่อไปให้พ้นจากบ้านเสียที
“บางครั้งผมรู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นพระราชา และมีประชาชนแวดล้อมอยู่ภายในอาณาจักรของผม ผมคือฮีโร่ของทุก ๆ คน หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์เรื่องของผมทุกวัน นอกเหนือจากทีวี ที่ผมได้ออกอากาศและปรากฏตัวอยู่เป็นประจำ ผมกลายเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา พวกเขานับถือ เชื่อและศรัทธาในตัวผม เหมือนกับตัวผมนั้นอยู่เหนือความผิดทั้งปวง และเมื่อผมไม่ชอบใจใครผมก็เป่ามันซะ กำจัดมันทิ้ง ไม่มีใครโกรธหรือเอาโทษผม แล้วทุกอย่างก็กลับไปเป็นปกติ” แชปแมนบอกกับผู้สื่อข่าว

8 ธันวาคม 1980
“Mister Lennon !”
แชปแมนร้องเรียกเลนนอนในขณะที่เลนนอนกำลังเดินออกจากดาโกตา อาพาร์ทเม็นต์ในนิวยอร์คเพื่อไปบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่พร้อมกับภรรยา โยโกะ โอโนะ
ในมือของแชปแมนมีอัลบั้มของเลนนอน
เขายื่นมันออกไปเหมือนแฟนเพลงที่หลงไหลในศิลปิน
เลนนอนเซ็นต์ชื่อลงบนแผ่นเสียงและส่งคืนให้เขา
หลายชั่วโมงผ่านไป
เลนนอนและโยโกะกลับจากห้องบันทึกเสียงมาถึงอาพาร์ทเม็นต์
แชปแมนยังอยู่ที่นั่น เขาเดินตามหลังเลนนอนไป
ในมือไม่มีอัลบั้มเลนนอนแต่มี .38 กระบอกโต
“Hey Mister Lennon!”
คราวนี้ยังไม่ทันที่เลนนอนจะหันมา กระสุนทั้ง 5 นัดก็กระหน่ำลงบนร่างของเขา
กระสุนหนึ่งในนั้น ตัดเส้นเลือดใหญ่ทำให้เขาเสียเลือดอย่างมากและอย่างรวดเร็ว
เลนนอนเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล เขาเสียเลือดไปจนหมดร่างกาย
หลังจากจบชีวิต “พระเจ้า”เมื่อ 40 ปีก่อนเรียบร้อยแล้ว
แชปแมนนั่งอ่านหนังสือรออยู่ตรงจุดเกิดเหตุ
The Catcher in the Rye หนังสือที่เขาอ้างว่ามันคือแรงบันดาลใจในการกระทำครั้งนี้

ปี 2000
บทบรรณาธิการของนิตยสาร UNCUT ผู้อ่านนิตยสารดังกล่าวเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องเก่าเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วให้บรรณาธิการฟัง
“วันนั้น ผมอยู่ตรงนั้น ผู้สื่อข่าวถามเลนนอนว่ารู้สึกอย่างไรที่ผู้คนคลั่งไคล้พวกเขาขนาดนี้”
เลนนอนกล่าวติดหัวเราะว่า “พวกเขาคลั่งไคล้และแสดงออกอย่างกับว่า พวกเรานั้นเป็นพระเจ้า”

เช้าวันรุ่งขึ้น
หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าว “บีทเทิ้ล ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า”

แชปแมน....นายยิงผิดคนหรือเปล่า
ติดคุกให้มีความสุขเถิด เพราะนายคงไม่ได้ออกมาแล้วล่ะ

Sunday, February 04, 2007

“ทุกวันนี้ โลกเรามีเพลงมากเพียงพอแล้ว”


“ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับการแต่งเพลงบ้างล่ะเนี่ย” บ็อบถามขึ้นมาพร้อมกับหัวเราะร่วนอย่างพึงพอใจ เขาสวมกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ดื่มกาแฟจากแก้ว แทนที่จะเป็นถ้วยกาแฟ “รสชาติกาแฟดีกว่ากินจากถ้วย”บ็อบกล่าวยิ้มๆที่มุมปาก กีตาร์โปร่งสีบรอนด์วางอยู่ใกล้ ๆ กับตัวเขา ตัวเขาช่างมีอิทธิพลต่อสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูน่าสนใจไปซะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหรือว่า
เสื้อโค้ทของเขา
คงเป็นเรื่องยาก หากเราจะพูดถึงศิลปะการแต่งเพลงโดยที่ไม่ได้อ้างอิงถึงบุรุษผู้นี้ แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธว่าตัวเขาเองนั้นไม่ใช่นักแต่งเพลงที่วิเศษอะไร เขาเป็นแค่คนที่ใช้สัญชาติญาณในการเขียนเพลง เขาแค่รู้สึกว่าเพลงจะต้องประกอบด้วยเนื้อหาที่รุ่มรวยความหมายที่ลึกซึ้งเหนือกว่าเพลง
ป็อปทั่วๆไป นั่นจึงจะทำให้เพลงมีพลังและมีความงดงามเทียบเคียงได้กับบทกวีที่โด่งดัง และเมื่อนำสิ่งที่เขียนนั้นมารวมกับท่วงทำนองและดนตรี สิ่งนี้ก็สามารถที่จะสื่อสารกับจิตวิญญาณแห่งมนุษย์ได้
จอห์น เลนนอน กล่าวว่าเป็นเพราะเขาได้ฟังเพลงของดิแลน ทำให้ตัวเขาหันมาให้ความสนใจที่จะแต่งเพลงซึ่งสะท้อนออกมาจากส่วนลึกในใจของตัวเขาแทนที่จะเขียนเพลงป็อปแบบตื้นๆ “Help” เป็นเพลงที่แสดงออกซึ่งการร้องขอความช่วยเหลืออย่างจริงๆ พอล ไซมอนยังบอกว่าบ็อบนั้นมีอิทธิพลต่อการแต่งเพลงของเขาอย่างมากตั้งแต่ยุคเพลง ” Hey school girl” ร็อกแอนด์โรลในสไตล์ 50 จนถึง “The sound of silence”
บ็อบจะแก้ไขปรับปรุงเนื้อเพลงของเขาตลอดเวลา แม้ว่าในสตูดิโอที่ทำการอัดเสียงไปแล้ว เขาบอกว่า การเขียนเพลงไม่ใช่การแกะสลักบนหินซะเมื่อไร ด้วยวิธีการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยความหมายและความงดงามของบ็อบคือสิ่งที่นักเขียนเพลงต่างพร้อมที่จะขายวิญญาณเพื่อการค้นพบมัน
โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน หรือ บ็อบ ดิแลน เกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม 1941 ในมิเนโซต้า สหรัฐอเมริกา เขาได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงจาก วู๊ดดี้ กัทรี บ็อบย้ายตัวเองเข้าสู่นิวยอร์คด้วยเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เขาต้องการไปพบและดูแลวู๊ดดี้ ซึ่งกำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนิวเจอร์ซีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา มาร์จอรี กัทรี ภรรยาของวู๊ดดี้ บอกว่าดิแลนเป็นเด็กที่ดีมากและมีความเชื่อและศรัทธาในตัววู๊ดดี้อย่างมาก แต่เธอกล่าวว่าเธอไม่ชอบเสียงร้องของบ็อบสักเท่าไร และได้พยายามแนะนำให้บ็อบออกเสียงให้ชัดเจนกว่านี้เวลาที่บ็อบร้องเพลงของเขา
แต่คนที่ประทับใจในตัวบ็อบมากกว่ามาร์จอรี ก็คือจอห์น แฮมเมอร์ โปรดิวส์เซอร์ที่ชักนำบ็อบให้เซ็นสัญญาออกแผ่นเสียงกับตราโคลัมเบีย แม้ว่าอัลบั้มชุดแรกของเขาจะมีเพลงใหม่เพียงแค่สองเพลงเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพลงที่เขาเขียนอุทิศให้แด่วู๊ดดี้ “Song To Woody” และเพียงแค่อัลบั้มที่ 2 เท่านั้นเขาก็ได้สร้างเพลงซึ่งถือว่าคลาสสิคและถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงเพลงป็อป นั่นคือเพลง “ Blowing In The Wind” และเพลง “ Master Of War”
บ็อบเปลี่ยนแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเราด้วยงานระดับมาสเตอร์พีซของเขาอย่างต่อเนื่อง หลายๆเพลงจัดอยู่ในประเภทคลาสสิคตลอดกาล เช่น The freewheelin’ Bob Dylan , Blonde on Blonde , Nashville Skyline , The Basement Tape , John Wesley Harding , Blood On The Tracks , Desire , Oh Mercy และอีกมากมาย
“บางครั้งมันก็มากเกิน บางทีมันก็น้อยไป” เขาพูดถึงตัวเพลงของเขา
แม้ว่าแวน มอริสัน จะให้ฉายาแก่บ็อบว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขาเองกลับไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นกวี แต่อย่างใด “กวีจมน้ำหมดแล้ว” เขากล่าว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าสร้างบทกวีที่สวยงามขึ้นมาในโลก ดิแลนบอกว่า เขาไม่เคยคิดว่าตัวเขาเองเป็นนักเขียนเพลงมืออาชีพ สำหรับเขาการเขียนเพลงมันเหมือนการเขียนคำสารภาพ “เพลงของผมไม่ได้ถูกกำหนดโดยตารางเวลา” เขากล่าว
“ถ้าเช่นนั้น เพลงเหล่านั้นถูกเขียนขึ้นมาด้วยวิธีการเช่นไร” และนั่นคือหัวใจสำคัญที่ผมต้องการจะรู้จากปากของชายผู้นี้ เขาสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเราได้ศึกษาจากทุกอัลบั้มที่ผ่านมา อารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละเพลง รวมถึงรูปแบบและสไตล์ซึ่งได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า
อาร์โล กัทรี เคยพูดไว้ว่า “การเขียนเพลงก็เหมือนกับการหย่อนเบ็ดลงในกระแสน้ำ แล้วก็หวังว่าจะจับอะไรได้บ้าง ผมไม่คิดว่าจะมีใครนอกจากบ็อบที่สามารถจะจับอะไรได้”
บ็อบ หัวเราะร่วน
คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คุณจับได้เยอะแยะมากมายขนาดนั้น
หัวเราะอีก “บางทีอาจจะเป็นเพราะเบ็ดของผมก็ได้”
“เบ็ดชนิดไหนกันที่คุณเลือกใช้”
“คุณต้องใช้เบ็ด ไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องนั่งรอแล้วก็คาดหวังว่าเพลงมันจะเดินทางมาหาคุณ แต่การที่จะบังคับให้ได้มาคุณต้องใช้เบ็ด”
“มันได้ผล สำหรับคุณหรือ”
“อืมม ก็ไม่เชิง การพาตัวเองลงไปสู่เหตุการณ์ที่ต้องการการตอบสนองก็เหมือนกับการใช้เบ็ด ใครก็ตามที่พยายามเขียนอะไรสักอย่างโดยที่ตัวเขายังไม่เคยสัมผัสสิ่งนั้น ๆ จะทำให้เขาโดนเบี่ยงเบนออกจากความจริง
“ตอนที่คุณเขียนเพลงคุณใช้จิตสำนึกนำพาคุณไป หรือว่าคุณพยายามเดินตามความคิดของจิตใต้สำนึก”
“แรงขับเคลื่อนในเพลง เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเพลงและคุณไม่มีทางรู้ได้เลย ไม่ว่าเพลงของใครก็ตามคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าแรงขับเคลื่อนในเพลง ๆ นั้นมันคืออะไร มันจะดีมากหากคุณสามารถปล่อยตัวเองไว้ในสภาพแวดล้อมที่ยอมรับให้สิ่งต่าง ๆ จากจิตใต้สำนึกในตัวคุณได้แสดงตัวออกมา และจงปิดกั้นการควบคุมจากตัวคุณ อย่าให้มันครอบเรา ปล่อยให้มันไหลไป
หลายคนที่เรียกตัวเองว่านักเขียน พวกเขาส่วนใหญ่ก็รับข้อมูลข่าวสารมาจากทีวี หรือไม่ก็สื่อใดสื่อหนึ่งซึ่งมากระทบตัวเขาเหล่านั้น สิ่งที่เขาเขียนกันออกมามันจึงไม่ใช่นวนิยายที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว
คุณจำเป็นต้องเค้นความคิดความรู้สึกออกมาจากส่วนลึกของจิตใจออกมาให้ได้
“ทุกวันนี้ โลกเรามีเพลงมากเพียงพอแล้ว”
“คุณคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือ”
“ใช่มีมากพอแล้ว มีมากเกินพอเสียด้วยซ้ำ ว่ากันตามจริงถ้าตั้งแต่วันนี้ ไม่มีใครแต่งเพลงออกมาอีกเลย โลกก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร ทุกวันนี้มีเพลงเพียงพอแล้วให้คนบนโลกได้ฟังถ้าเขาต้องการจะฟังเพลง ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ๆ เกือบทุกคนมีแผ่นเสียงครอบครองเป็นร้อยๆแผ่น พวกเขายังไม่เคยหยิบมาฟังซ้ำเสียด้วยซ้ำ ผมจึงเชื่อว่าโลกเรามีเพลงเพียงพอแล้ว นอกเสียจากจะมีใครสักคนสร้างงานออกมาจากหัวใจอันบริสุทธิของเขาซึ่งนั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแตกต่างออกไป แต่เท่าที่ผ่านมาการเขียนเพลงเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้แม้คนโง่ ๆ ถ้าคุณเห็นผมทำได้ คนโง่ ๆ อีกหลายคนก็ทำได้(หัวเราะ) มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ทุกคนแต่งเพลงได้เหมือนกับที่ทุก ๆ คนแต่งนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ได้”
“แต่เพลงของคุณนั้นมีมากกว่าการเป็นความบันเทิงที่ป็อป ๆ”
“ป็อป ไม่มีความหมายสำหรับผม ไม่มีความหมายจริง ๆ มาดอนน่า..สุดยอด เธอเป็นมืออาชีพ เธอนำทุกอย่างมาผสมผสานรวมกันเพื่อทำงานของเธอ เธอเรียนรู้ทุกอย่างเพื่อนำมาสร้างงาน แต่การทำเช่นนั้นคุณจะต้องทุ่มเททั้งหมดกับมัน ปีแล้วปีเล่า คุณจะต้องเสียสละทั้งหมดที่คุณมีเพื่อจะทำสิ่งนั้น เสียสละทั้งหมดเท่าที่คุณมีเพื่อที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันต้องเป็นเช่นนั้น เหมือนกันหมดทุกเรื่อง”
“แวน มอริสัน บอกว่าคุณคือบทกวีที่ยิ่งใหญ่ที่ยังมีชีวิต คุณเคยคิดว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า”
“บางครั้ง บางครั้งผมก็รู้สึกเช่นนั้น แต่มันไม่จริงหรอก ไม่จริง”
“กวีไม่ขับรถ (ยิ้ม) กวีไม่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต กวีไม่ต้องมีหน้าที่เทถังขยะ กวีไม่จำเป็นต้องไปหาแหล่งกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน และอีกมากมายหลายอย่าง กวีไม่แม้กระทั่งรับโทรศัพท์ กวีไม่พูดกับใคร ๆ กวีเอาแต่เงี่ยหูฟัง และโดยทั่วไปเขาจะรู้ตัวเองว่าเขาเป็นกวี(หัวเราะ)
โลกเราไม่ต้องการบทกวีหรือบทกลอนอีกแล้ว เรามีเชคสเปียร์แล้ว ทุกอย่างมีเพียงพอแล้ว คุณนึกมาสิ ทุกอย่างมีพอแล้ว เรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างเพียงพอแล้ว บางคนบอกว่า หลอดไฟฟ้านี่ เดินทางมาไกลเกินไปเสียด้วยซ้ำ
กวีอยู่บนแผ่นดินนี้อย่างสุขุม สันโดษ และอยู่แต่ในดินแดนของพวกเขา แล้วก็อดตาย หรือไม่ก็จมน้ำตาย กวีมักมีตอนจบที่ปวดร้าว ดูอย่างจิม มอริสันนั่น ถ้าคุณจะเรียกเขาว่ากวี