Friday, November 16, 2007

บอยตรัย กับ ไอน์สไตน์



ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งชอบเข้าร้านหนังสือบ่อย ๆ เพราะไม่อยากพลาดโอกาสที่หนังสือดี ๆ และ
ใหม่ ๆ ออกมาแล้วจะหาซื้อไม่ได้ในภายหลัง จึงพยายามเข้าร้านหนังสือบ่อยเพื่อจะได้พบเจอหนังสือใหม่ ๆ ก่อนใครและไม่พลาดการเป็นเจ้าของ ปัจจุบันจึงมีหนังสือเต็มหลายชั้นที่อ่านจบไปแล้ว และอีกหลายชั้นที่รอการเปิดอ่าน บางครั้งแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าบ้าอะไรมากมายขนาดนั้น
บางเล่มรอเวลาเป็นปีนับจากวันที่ซื้อถึงวันที่เปิดอ่าน(ผมจะเขียนวันที่ไว้ที่หน้าแรกทุกเล่มว่าซื้อมาเมื่อวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีอะไร)

งานหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิต ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เป็นอีกหนึ่งงานที่ผมไม่เคยพลาด เพราะจะเป็นงานที่มีหนังสือใหม่ ออกมาเยอะมาก ผู้คนเบียดเสียด ยัดเยียด เห็นแล้วก็ชื่นใจที่คนไทยเรานิยมอ่านหนังสือกันมากขึ้นทุกปี ๆ เพราะการไปงานนับวันจะยากขึ้นทุกที ผมไม่สามารถหาที่ยืนอ่านหนังสือเพื่อสำรวจคร่าว ๆ ถึงเนื้อหาข้างใน ทำได้อย่างมากก็แค่เหลือบ ๆ มอง และทราบรายละเอียดเพียงคร่าว ๆ เกี่ยวกับตัวหนังสือ บางทีก็เป็นเพราะผู้เขียน บางครั้งก็เป็นเพราะผู้แปล บางครั้งก็เป็นเพราะชื่อของหนังสือที่ชวนซื้อ ในความชื่นใจที่เห็นคนเยอะแยะมากมาย อีกความรู้สึกหนึ่งก็คือ คนไทยเราซื้อและขายหนังสือกันจริง ๆ จัง ๆ ปีละสองครั้งเองหรือ คงจะดีหากที่ร้านหนังสือ ทุก ๆ วัน จะมีคนเข้าร้านและเลือกซื้อหนังสือมากมายเหมือนวันงาน

จากงานหนังสือที่ผ่านมาผมได้หนังสือที่ถูกใจมาหลายเล่ม และค่อย ๆ เริ่มต้นจากการเปิดอ่านคำนำ คำนิยมของทุกเล่ม เพื่อเลือกเล่มที่จะ (พยายาม) อ่านก่อน (แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จ เดี๋ยวก็ต้องค้างคาไว้เหมือนเดิม)

“จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา” เขียนโดยบอย ตรัย คือเล่มที่ผมควักเงินซื้อเพราะชื่อหนังสือและชื่อคนเขียน ผมรู้จักกับบอย ตรัย มาด้วยระยะเวลาไม่นานนักน่าจะสักสองปีได้ ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี่ ผมยังอ่าน จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา ยังไม่จบดี แต่พอจะรู้สาเหตุและแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของบอยได้พอประมาณ แต่ละบทในหนังสือเล่มนี้แสดงออกถึงความรู้สึก ความประทับใจ ความเหงา ความโดดเดี่ยว และอีกหลาย ๆ ความ ที่ผู้เขียนผ่านพบ รู้สึก และสังเกตเห็นมาทั้งในเมือง ในชีวิต หรือบางทีอาจจะเป็นในโลก
จิ้งหรีด ตัวแทนของคนที่ชอบร้องรำทำเพลง และดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเมืองอันเร่งรีบ ที่วุ่นวายอยู่กับการ “ทำงาน” จิ้งหรีดถูกมองว่าเป็นพวกไม่ทำงาน เมื่อจิ้งหรีด พูดอะไรคนในเมืองใหญ่ก็ไม่มีใครฟัง หรือเหมือนจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยิน บอยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างเหงาและเข้าใจในความเป็นไปของโลก ในขณะที่พวกจิ้งหรีดต่างพากันท้อกับการสร้างสรรค์งานเพลงแต่ทุกวันนี้กลับคล้ายว่าจะหาคนฟังไม่ได้ บรรดาจิ้งหรีดพากันบ่นและท้อแท้ แต่บอย ตรัย ครั้งหนึ่งเคยคุยกับผมว่ารู้สึกอย่างไรกับเหตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการเพลงของไทย ในฐานะที่ผมก็ทำงานอยู่ในวงการนี้มาพอสมควร ผมยังไม่ทันที่จะได้ตอบ บอยก็เผยความคิดของเขาว่า เขายังเชื่อมั่นว่าวงการเพลงไม่ได้เป็นอะไร ยังคงมีคนฟังเสียงจิ้งหรีดอยู่ บอยยังคงมีศรัทธากับสิ่งที่เขาทำอยู่เสมอ บอยยังคงคิดและเขียนความคิดของเขาออกมาทั้งในรูปแบบของเพลงและบทความ
คุณโหน่ง วงศ์ทนง ซึ่งทำหน้าที่เป็นบอกอให้กับ จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา เล่มนี้ บอกว่า เมื่อได้อ่านเรืองต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็คล้ายกับได้ฟังเพลง เหมือนมีท่วงทำนองคลอขึ้นมาในขณะที่อ่าน ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น
แม้ทุกวันนี้ผู้คนมากมายภายในเมืองวุ่นวายแห่งนี้จะไม่มีใครสนใจเสียงจิ้งหรีดตัว(ใหญ่)นี้ แต่ผมเชื่อว่าเขาจะยังคงส่งเสียง เพียงเพราะความรักและความศรัทธาต่อไป
จิ้งหรีดเดียวดาย บอกผมไว้แบบนั้น

ไวโอลินของไอน์สไตน์ ผมสะดุดกับชื่อหนังสือเล่มนี้ สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร แล้วไอน์สไตน์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับไวโอลิน เพราะโดยปกติตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสืออยู่นั้น เมื่อเอ่ยชือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สิ่งเดียวที่ผมจะนึกถึงจนถึงวันนี้ก็คือ E = mc 2 เห็นภาพคนแก่หัวกระเซิง วันวันท่านคงคิดแต่สูตรสมการวิทยาศาสตร์ ซึ่งผมเองก็ไม่สามารถเข้าถึงตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เพิ่งมาพบว่าในสมัยเด็ก ๆ ไอน์สไตน์ชอบดนตรีมาก ถึงกับมีคนบอกว่าหากท่านไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ท่านก็คงจะยึดอาชีพนักดนตรี หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอิทธิพลของดนตรี ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นวาทะยากรมาตลอดชีวิตได้ถ่ายทอดเรื่องราวของดนตรี ที่มีผลต่อชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างกับสังคมบนโลก ถึงขั้นที่ดนตรีสามารถจะสยบกระสุนปืนได้เลยทีเดียว ผมยังอ่านไม่จบครับ เล่มนี้คงต้องมีเวลา มีสมาธิสักหน่อย ค่อยมานั่งอ่าน ผมเพียงแต่แปลกใจและไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกรักดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และเลือกที่จะเป็นนักดนตรีมากกว่าวิทยาศาสตร์หากท่านสามารถเลือกได้

สังเกตกันไหมครับว่า ในบ้านเราดนตรีเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง เริ่มสนับสนุนบุตรหลานให้รักดนตรี เด็ก ๆ ก็กล้าที่จะแสดงออกกันมากขึ้น อาชีพที่ติดอันดับต้น ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ฝันและใฝ่กันในวันนี้ ไม่ใช่ หมอ ไม่ใช่แอร์ แต่เป็นนักร้อง นักแสดง วีเจ โมเดล แทนซะยังงั้น
ในขณะที่ผู้ประกอบการด้านดนตรี บริษัทดนตรีที่ผลิตอัลบั้มออกมาขายกำลังวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหายอดขายซึ่งนับวันจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งโรงเรียนสอนร้องเพลง สอนดนตรี เหล่านี้กลับได้รับความสนใจมากขึ้น ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อวันที่นักเรียนเหล่านี้เรียนจบกันออกไปและพร้อมที่จะออกอัลบั้มกันแล้ว มันจะขายได้หรือเปล่า แล้วบริษัทดนตรีเหล่านี้พร้อมและกล้าที่จะสนับสนุนพวกเขาหรือเปล่า บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้และนักร้องรุ่นใหม่ ๆ เหล่านี้ จะมีศรัทธาอันแรงกล้าเหมือนจิ้งหรีดเดียวดายของผมหรือเปล่า