Monday, January 23, 2006

ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว


“ผมเป็นมือกีตาร์ของวง และกีตาร์ที่ใช้ก็ต้องเป็นกีตาร์ไฟฟ้า เพราะเพลงของพวกเรานั้นเป็นเพลงร็อกที่ค่อนข้างหนัก ผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับกีตาร์อะคูสติกนัก ดังนั้นวันหนึ่งผมจึงอยากลองที่จะขยายขอบเขตการเล่นกีตาร์ของตัวเอง พยายามฝึกเล่นปิ๊คกิ้ง ผมอยู่ในห้องและก็หัดเกากีตาร์โปร่งของผมไปเรื่อยเปื่อย แล้วภรรยาผมก็เดินเข้ามาในห้อง เธอเดินตามเสียงกีตาร์ของผมเข้ามา
“เพราะดีนะ คุณน่าจะลองเขียนเนื้อเพลงใส่ลงไป” เธอเอ่ยกับผม
“ผมแค่ฝึกเล่นเท่านั้นเอง มันยังใช้ไม่ได้หรอก” ผมรีบปฏิเสธคำแนะนำของเธอ
“แต่มันเพราะทีเดียวนะ อย่าลืมใส่เนื้อลงไปล่ะ” เธอไม่ยอมแพ้
แล้วเธอก็เคี่ยวเข็ญให้ผมแต่งเพลงนี้ออกมา จนในที่สุดผมก็จำต้องเขียนมันออกมาให้เธอ

วันต่อมา ในขณะที่เรากำลังซักซ้อมเตรียมงานบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้ม Point of Know Return
ทุกเพลงพร้อมหมดแล้ว แต่ใครคนหนึ่งถามผมว่า
”นายมีเพลงอื่นอีกหรือเปล่า”
ผมลังเลสักครู่ ก่อนที่จะตอบออกไปแบบไม่ค่อยแน่ใจ
“เอ้อ ความจริงก็มีอยู่อีกเพลงหนึ่ง แต่พวกนายคงไม่ชอบหรอก มันไม่ใช่แคนซัส”
ผมอิดเอื้อนที่จะเล่นมันให้พวกเขาฟัง แต่ก็ทนรบเร้าไม่ไหว ในที่สุดผมจึงเล่นมันด้วยกีตาร์โปร่งตัวนั้น ผมแปลกใจมาก เมื่อทุกคนรู้สึกชอบเพลงนี้
“เราต้องทำเพลงนี้ให้เสร็จ”
มีการถกถียงกันภายในวง เพราะผมปฏิเสธเพลงนี้ตั้งแต่แรก ผมบอกพวกเขาว่า
“นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่แคนซัส”
ถึงวันนี้ทุกคนคงรู้แล้วว่า ผมถูก หรือ ผิด
“Dust In The Wind”กลายเป็นเพลงฮิตที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลเพียงเพลงเดียวของวงเรา!”

ผมเริ่มต้นเรื่องราวในวันนี้ด้วยคำบอกเล่าของ Kerry Livgren (Songwriting/Guitarist)
มือกีตาร์และนักแต่งเพลงของ KANSAS วงโปรเกรสซีฟร็อคที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดวงหนึ่งในยุค 70’-80’ และยังออกผลงานต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในวันนี้เด็กรุ่นใหม่ อาจจะไม่รู้จักดนตรีของวงนี้นัก แต่สำหรับผมแล้วในช่วงของวัยรุ่น งานของแคนซัสถือเป็นงานที่โลดโผนมากในความรู้สึกของผม เพลง “Lonely Wind”เป็นเพลงแรกที่ผมได้รู้จักแคนซัส จากนั้นเพลงอื่น ๆ ก็ได้ถูกตามล่าไม่ว่าจะเป็น “Song for America” , Carry On Wayward Son”,”Point of Know Return” และ “Dust In The Wind” การนำเครื่องสายหรือไวโอลินมาใช้ในบทเพลงร็อกดูจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากสำหรับผมในวันนั้นและเป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกร้องความสนใจให้กับทางวง แต่ที่วิเศษไปกว่านั้นนั่นก็คือพวกเขาทำได้อย่างน่าฟัง เกิดเป็นสไตล์ส่วนตัวขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ มันคล้ายกับว่าผมกำลังฟังเพลงคลาสิคที่ไม่น่าเบื่อ หรือไม่ก็ฟังเพลงร็อกที่ไม่ได้เอาแต่แผดเสียง หากแต่งดงามในท่วงท่าของดนตรี การเรียบเรียง เสียงประสานและเนื้อหาของบทเพลง
แม้ตัวผมเองจะชื่นชอบวงดนตรีวงนี้มาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม มีอัลบั้มเรียกว่าแทบจะทุกชุด ตั้งแต่เป็น
คาสเซ็ท(รายได้น้อย) จนมาเริ่มสะสมเป็นแผ่นซีดี(เริ่มมีเงินขึ้นมาบ้าง) แต่มาจนถึงเมื่อวานนี้ ผมยังไม่เคยได้ดูวงดนตรีวงนี้เล่นสดสักที
ไม่สามารถหาซื้อคอนเสิร์ตไม่ว่าจะในรูปแบบใด วิดีโอ วีซีดี ดีวีดี กว่าผมจะได้ดูการแสดงสดของวงนี้ก็เพิ่งจะเมื่อวานนี้เอง(ในรูปแบบของดีวีดี)ปรากฎว่าภาพที่ผมเห็นสมาชิกทุกคนเป็นผู้สูงอายุกันหมดแล้วรวมทั้งผมซึ่งเป็นคนดูด้วย เป็นภาพบันทึกการแสดงสดเมื่อปี 2002 แม้สภาพร่างกายจะเปลี่ยนแปลงและร่วงโรยไปอย่างไร แต่ฝีมือของทั้งหมดยังคงเฉียบคม ดนตรีของพวกเขายังคงมีเอกลักษณ์และชวนติดตามเช่นเดิม ผมนั่งดูและฟังอย่างตื่นเต้นเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เห็นวงนี้เล่นสดแม้จะช้าไปสักหน่อยแต่ดนตรีของพวกเขายังคงเก๋าไม่ได้ร่วงโรยไปแม้แต่น้อย ในชั่ววูบแห่งความรู้สึกนั้น มันเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตสั้น ศิลปยืนยาว”

“ผู้คนส่วนใหญ่พยายามที่จะตีความ ค้นหาความหมายของสิ่งที่ผมเขียนลงในเพลง ๆ นี้ ความจริงแล้วผมอ่านมันพบในหนังสือกวีของอินเดียน (American Indian Poetry) ในหนังสือเขียนไว้ว่า “For all we are is dust in the wind” มันเป็นความจริงของทุกชีวิตบนโลก
เราประสบความสำเร็จ มั่งคั่งด้วยเงินทองและชื่อเสียง บรรลุเป้าหมายในชีวิต
แต่สุดท้ายพวกเราทุกคนก็กำลังเดินทางกลับสู่ผืนดินอีกครั้ง
นั่นคือสิ่งที่เพลงนี้พยายามสื่อถึง แต่น่าแปลกที่ผู้คนพยายามที่จะตีความมันไปต่าง ๆ นา ๆ และผลของมันก็คือเพลงนี้สามารถขึ้นชาร์ตเพลงคันทรี ขึ้นชาร์ตเพลงป็อป ขึ้นชาร์ตเพลงอิสซี่ ลิสซึ่นนิ่ง มันข้ามเส้นแบ่งประเภทของเพลงได้อย่างน่าประหลาด”
Dust in The Wind” / Artist : Kansas
Featured on Point of Know Return. Released 1977/Kirshner
Words & Music by Kerry Livgren



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
sedthasit@msn.com

Monday, January 16, 2006

เพลงเศร้าที่สุดในโลก (2)



หากเลือกได้ผมคงเลือกที่จะมีความสุขมากกว่าความทุกข์ คงเลือกที่จะอยู่กับเรื่องสนุก ๆ มากกว่าอยู่ในที่เครียด ๆ อยู่กับคนสวย ๆ มากกว่าคนหน้าบึ้ง ชอบดูหนังสนุก ๆ มากกว่าหนังเศร้า แต่พอมาถึงเพลง ผมกลับชอบฟังเพลงช้าและเพลงเศร้า เอาเข้าจริง ๆ น่าจะมีคนที่เป็นเช่นผมอยู่ไม่น้อย เพราะทราบหรือไม่ว่าค่ายเพลงที่ทำเพลงออกมาขายนั้น เขาจะให้ความสำคัญกับเพลงช้า ๆ เพลงเศร้า ๆ ค่อนข้างมาก เพราะอะไรหรือครับ เพราะมันเป็นเพลง”ขาย”ครับ อัลบั้มจะขายดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับอัลบั้มนั้นมีเพลงช้าที่”โดน”หรือไม่เท่านั้นเอง
ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง ๆ แฟนคลับของปาล์มมี่และมิสเตอร์ทีม เมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่ที่อาร์พีจี ในแกรมมี เราพูดคุยกันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปบันเทิงในด้านต่างๆ ทั้งหนัง หนังสือ และเพลง ผมถามเธอว่าเรื่องราวประเภทไหนที่เธอชอบเป็นพิเศษ คำตอบคือเรื่องเศร้า โดยเฉพาะเพลงเศร้า ทำไมล่ะหรือ
“เพราะมันทำให้หนูร้องไห้”
หากในวันนั้นผมถามเธอต่อไปว่า แล้วเธอคิดว่าเพลงอะไรที่เศร้าที่สุดสำหรับเธอ ผมคิดว่าผมคงได้คำตอบมาหลายเพลง เพราะด้วยคำถามเดียวกันหากผมเป็นฝ่ายถูกยิงคำถาม คำตอบของผมก็คงมากมายเช่นกัน เพราะผมคิดว่าน่าจะมีเพลงมากกว่าหนึ่งซึ่งทำให้เธอร้องไห้ ผมเองนั้นยังไม่เคยถึงขั้นฟังเพลงใดเพลงหนึ่งแล้วถึงกับร้องไห้ อย่างมากเพลงก็แค่ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เพลง ๆ นั้นเคยเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าวมักจะเป็นเรื่องของความรัก
ด้วยเหตุที่เราใช้เพลงเป็นสื่อเพื่อโยงเข้าหาตัวเราเองนี่กระมัง บางครั้งมันจึงทำให้เราเสียน้ำตาไปกับมันได้ แต่เพลงที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เสียน้ำตา แต่มันคร่าชีวิตคนเลยทีเดียว
“GLOOMY SUNDAY” เพลงแห่งความตาย เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นโดย 2 นักดนตรีไส้แห้งชาว
ฮังกาเรียน เรซโซ เซเรส (Rezso Seress)และลาสซ์โล จาเวอร์(Laszlo Javor) เมื่อปี 1933
มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเพลงนี้ทำให้คนในฮังการีฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งตัวเซเรสเองก็กระโดดลงมาจากอาพาร์ทเมนต์ของเขาเองและเสียชีวิตลงในปี 1968
คนแรกที่ยอมมอบชีวิตให้กับเพลง ๆ นี้คือนายโจเซฟ เคลเลอร์(Joseph Keller) ช่างซ่อมรองเท้าในกรุงบูดาเปส ตำรวจพบข้อความบางตอนจากเนื้อเพลงในหนังสือลาตายของเขา มันเป็นเนื้อเพลงของ”GLOOMY SUNDAY”
จากนั้นมาเพลง ๆ นี้ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตายมากกว่าหนึ่งร้อยราย หลายรายกระโดดลงแม่น้ำดานูบเสียชีวิตแต่ในมือกำเนื้อเพลง”GLOOMY SUNDAY” ไว้แน่น
สุภาพบุรุษคนหนึ่งออกจากไนท์คลับในคืนหนึ่ง แล้วระเบิดสมองตัวเอง หลังจากที่เพิ่งขอให้วงดนตรีเล่นเพลง”GLOOMY SUNDAY”ให้ฟัง
เพลงได้รับการถ่ายทอดและแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยแซม เลวิซและเดสมอน คาร์เตอร์(Sam M.Lewis and Desmond Carter) และขับร้องเป็นคนแรกโดย ฮาล เคมพ์(Hal Kemp) ในปี1936 ตามมาด้วยอาร์ตี้ ชอว์(Artie Shaw) และบิลลี่ ฮอลิเดย์(Billy Holiday)ในปี 1941ซึ่งเวอร์ชั่นของ
บิลลี่นี่แหละที่ทำให้เพลงนี้โด่งดังไปทั่วโลก
เมื่อครั้งที่เซเรสเขียนเพลงนี้ขึ้นมาไม่มีบริษัทเพลงใดสนใจ แต่เมื่อมันถูกผลิตตออกมาไม่นาน มันก็กลายเป็นเพลงฮิตและมียอดขายระดับเบสเซลเลอร์เลยทีเดียว เมื่อเพลงขายดี เซเรสติดต่อแฟนเก่าของเขาเพื่อขอคืนดี หลังจากที่เธอตีจากเขาไปก่อนหน้านี้ วันต่อมาพบเธอเสียชีวิตด้วยยาพิษ ข้าง ๆ ร่างไร้วิญญาณมีข้อความสองคำเขียนทิ้งไว้ ......“GLOOMY SUNDAY”
เมื่อถามเซเรสว่าเขาคิดอะไรอยู่ในหัวตอนที่เขียนเพลงนี้ เขาตอบว่า “มันเหมือนกับว่าผมเป็นจำเลยที่ยืนอยู่ท่ามกลางความตายอันลึกลับ ชื่อเสียงอันอ่อนนุ่มเฆี่ยนตีผม ผมร้องอย่างโหยหวนด้วยความผิดหวังเสียงร้องที่มาจากก้นลึกแห่งหัวใจ ผมใส่ความรู้สึกทั้งหมดเหล่านั้นลงไปในเพลง มันคล้ายกับว่าหลาย ๆ คนที่รู้สึกเช่นเดียวกันกับผม ได้พบความเจ็บปวดของพวกเขาเองในเพลง ๆ นี้ของผม”
“GLOOMY SUNDAY” เพลงที่เศร้าที่สุดในโลก(ส่วนตัวของผม)
ใครมีเพลงอื่นที่เศร้ากว่าเพลงนี้เขียนมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ
Sunday is gloomy,my hours are slumberless.
Dearest,the shadows I live with are numberless.
Little white flowers will never awaken you,
Not where the black coach of sorrow has taken you.
Angels have no thought of ever returning you.
Would they be angry if I thought of joining you?
Gloomy is Sunday;with shadows I spend it all.
My heart and I have decided to end it all.
Soon there’ll be candles and prayers that are sad,I know.
Death is no dream,for in death I’m caressing you.
With the last breath of my soul I’ll be blessing you.
Gloomy Sunday.



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์
sedthasit@msn.com