Friday, November 16, 2007

บอยตรัย กับ ไอน์สไตน์



ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งชอบเข้าร้านหนังสือบ่อย ๆ เพราะไม่อยากพลาดโอกาสที่หนังสือดี ๆ และ
ใหม่ ๆ ออกมาแล้วจะหาซื้อไม่ได้ในภายหลัง จึงพยายามเข้าร้านหนังสือบ่อยเพื่อจะได้พบเจอหนังสือใหม่ ๆ ก่อนใครและไม่พลาดการเป็นเจ้าของ ปัจจุบันจึงมีหนังสือเต็มหลายชั้นที่อ่านจบไปแล้ว และอีกหลายชั้นที่รอการเปิดอ่าน บางครั้งแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าบ้าอะไรมากมายขนาดนั้น
บางเล่มรอเวลาเป็นปีนับจากวันที่ซื้อถึงวันที่เปิดอ่าน(ผมจะเขียนวันที่ไว้ที่หน้าแรกทุกเล่มว่าซื้อมาเมื่อวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีอะไร)

งานหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิต ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เป็นอีกหนึ่งงานที่ผมไม่เคยพลาด เพราะจะเป็นงานที่มีหนังสือใหม่ ออกมาเยอะมาก ผู้คนเบียดเสียด ยัดเยียด เห็นแล้วก็ชื่นใจที่คนไทยเรานิยมอ่านหนังสือกันมากขึ้นทุกปี ๆ เพราะการไปงานนับวันจะยากขึ้นทุกที ผมไม่สามารถหาที่ยืนอ่านหนังสือเพื่อสำรวจคร่าว ๆ ถึงเนื้อหาข้างใน ทำได้อย่างมากก็แค่เหลือบ ๆ มอง และทราบรายละเอียดเพียงคร่าว ๆ เกี่ยวกับตัวหนังสือ บางทีก็เป็นเพราะผู้เขียน บางครั้งก็เป็นเพราะผู้แปล บางครั้งก็เป็นเพราะชื่อของหนังสือที่ชวนซื้อ ในความชื่นใจที่เห็นคนเยอะแยะมากมาย อีกความรู้สึกหนึ่งก็คือ คนไทยเราซื้อและขายหนังสือกันจริง ๆ จัง ๆ ปีละสองครั้งเองหรือ คงจะดีหากที่ร้านหนังสือ ทุก ๆ วัน จะมีคนเข้าร้านและเลือกซื้อหนังสือมากมายเหมือนวันงาน

จากงานหนังสือที่ผ่านมาผมได้หนังสือที่ถูกใจมาหลายเล่ม และค่อย ๆ เริ่มต้นจากการเปิดอ่านคำนำ คำนิยมของทุกเล่ม เพื่อเลือกเล่มที่จะ (พยายาม) อ่านก่อน (แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จ เดี๋ยวก็ต้องค้างคาไว้เหมือนเดิม)

“จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา” เขียนโดยบอย ตรัย คือเล่มที่ผมควักเงินซื้อเพราะชื่อหนังสือและชื่อคนเขียน ผมรู้จักกับบอย ตรัย มาด้วยระยะเวลาไม่นานนักน่าจะสักสองปีได้ ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี่ ผมยังอ่าน จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา ยังไม่จบดี แต่พอจะรู้สาเหตุและแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของบอยได้พอประมาณ แต่ละบทในหนังสือเล่มนี้แสดงออกถึงความรู้สึก ความประทับใจ ความเหงา ความโดดเดี่ยว และอีกหลาย ๆ ความ ที่ผู้เขียนผ่านพบ รู้สึก และสังเกตเห็นมาทั้งในเมือง ในชีวิต หรือบางทีอาจจะเป็นในโลก
จิ้งหรีด ตัวแทนของคนที่ชอบร้องรำทำเพลง และดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเมืองอันเร่งรีบ ที่วุ่นวายอยู่กับการ “ทำงาน” จิ้งหรีดถูกมองว่าเป็นพวกไม่ทำงาน เมื่อจิ้งหรีด พูดอะไรคนในเมืองใหญ่ก็ไม่มีใครฟัง หรือเหมือนจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยิน บอยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างเหงาและเข้าใจในความเป็นไปของโลก ในขณะที่พวกจิ้งหรีดต่างพากันท้อกับการสร้างสรรค์งานเพลงแต่ทุกวันนี้กลับคล้ายว่าจะหาคนฟังไม่ได้ บรรดาจิ้งหรีดพากันบ่นและท้อแท้ แต่บอย ตรัย ครั้งหนึ่งเคยคุยกับผมว่ารู้สึกอย่างไรกับเหตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการเพลงของไทย ในฐานะที่ผมก็ทำงานอยู่ในวงการนี้มาพอสมควร ผมยังไม่ทันที่จะได้ตอบ บอยก็เผยความคิดของเขาว่า เขายังเชื่อมั่นว่าวงการเพลงไม่ได้เป็นอะไร ยังคงมีคนฟังเสียงจิ้งหรีดอยู่ บอยยังคงมีศรัทธากับสิ่งที่เขาทำอยู่เสมอ บอยยังคงคิดและเขียนความคิดของเขาออกมาทั้งในรูปแบบของเพลงและบทความ
คุณโหน่ง วงศ์ทนง ซึ่งทำหน้าที่เป็นบอกอให้กับ จิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา เล่มนี้ บอกว่า เมื่อได้อ่านเรืองต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็คล้ายกับได้ฟังเพลง เหมือนมีท่วงทำนองคลอขึ้นมาในขณะที่อ่าน ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น
แม้ทุกวันนี้ผู้คนมากมายภายในเมืองวุ่นวายแห่งนี้จะไม่มีใครสนใจเสียงจิ้งหรีดตัว(ใหญ่)นี้ แต่ผมเชื่อว่าเขาจะยังคงส่งเสียง เพียงเพราะความรักและความศรัทธาต่อไป
จิ้งหรีดเดียวดาย บอกผมไว้แบบนั้น

ไวโอลินของไอน์สไตน์ ผมสะดุดกับชื่อหนังสือเล่มนี้ สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร แล้วไอน์สไตน์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับไวโอลิน เพราะโดยปกติตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสืออยู่นั้น เมื่อเอ่ยชือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สิ่งเดียวที่ผมจะนึกถึงจนถึงวันนี้ก็คือ E = mc 2 เห็นภาพคนแก่หัวกระเซิง วันวันท่านคงคิดแต่สูตรสมการวิทยาศาสตร์ ซึ่งผมเองก็ไม่สามารถเข้าถึงตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เพิ่งมาพบว่าในสมัยเด็ก ๆ ไอน์สไตน์ชอบดนตรีมาก ถึงกับมีคนบอกว่าหากท่านไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ท่านก็คงจะยึดอาชีพนักดนตรี หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอิทธิพลของดนตรี ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นวาทะยากรมาตลอดชีวิตได้ถ่ายทอดเรื่องราวของดนตรี ที่มีผลต่อชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างกับสังคมบนโลก ถึงขั้นที่ดนตรีสามารถจะสยบกระสุนปืนได้เลยทีเดียว ผมยังอ่านไม่จบครับ เล่มนี้คงต้องมีเวลา มีสมาธิสักหน่อย ค่อยมานั่งอ่าน ผมเพียงแต่แปลกใจและไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกรักดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และเลือกที่จะเป็นนักดนตรีมากกว่าวิทยาศาสตร์หากท่านสามารถเลือกได้

สังเกตกันไหมครับว่า ในบ้านเราดนตรีเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง เริ่มสนับสนุนบุตรหลานให้รักดนตรี เด็ก ๆ ก็กล้าที่จะแสดงออกกันมากขึ้น อาชีพที่ติดอันดับต้น ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ฝันและใฝ่กันในวันนี้ ไม่ใช่ หมอ ไม่ใช่แอร์ แต่เป็นนักร้อง นักแสดง วีเจ โมเดล แทนซะยังงั้น
ในขณะที่ผู้ประกอบการด้านดนตรี บริษัทดนตรีที่ผลิตอัลบั้มออกมาขายกำลังวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหายอดขายซึ่งนับวันจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งโรงเรียนสอนร้องเพลง สอนดนตรี เหล่านี้กลับได้รับความสนใจมากขึ้น ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อวันที่นักเรียนเหล่านี้เรียนจบกันออกไปและพร้อมที่จะออกอัลบั้มกันแล้ว มันจะขายได้หรือเปล่า แล้วบริษัทดนตรีเหล่านี้พร้อมและกล้าที่จะสนับสนุนพวกเขาหรือเปล่า บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้และนักร้องรุ่นใหม่ ๆ เหล่านี้ จะมีศรัทธาอันแรงกล้าเหมือนจิ้งหรีดเดียวดายของผมหรือเปล่า

Wednesday, February 21, 2007

oh! my god




40 กว่าปีที่แล้ว
“บีทเทิ้ล ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า”
ผู้กล่าวคือจอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิก 4 คนของคณะสี่เต่าทองซึ่งทั่วโลกกำลังคลั่งไคล้ คำพูดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อมวลชนและคนที่ไม่เห็นด้วยว่า “พวกเอ็งน่ะเหรอยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า”
มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน มีการนำอัลบั้มของพวกเขามาเผา จนทั้ง 4 คนต้องออกมาขอโทษและชี้แจง
ต่อแฟน ๆ ซึ่งความจริงก็ไม่น่าจะใช่แฟนพวกเขาสักเท่าไร (เพราะแฟน ๆ พวกเขาคงเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว)

10 พฤษภาคม 1955
มาร์ค เดวิด แชปแมน(Mark David Chapman) ถือกำเนิดในครอบครัวชั้นกลาง
พ่อทำงานในหน่วยกองบินทหารอากาศ แม่เป็นพยาบาล
แชปแมน จัดเป็นเด็กปกติและมีไอ้คิวที่เกินมาตรฐาน แต่เขาโตขึ้นมาในสภาพที่หวาดกลัวและหวาดผวาตลอดเวลา พ่อของเขามักจะชอบทำร้ายแม่เป็นประจำ เสียงกรีดร้องของแม่ทุกครั้งที่แม่ถูกพ่อทำร้ายมันค่อย ๆ สร้างความโกรธแค้นในใจแก่เขา บางครั้งเขาจินตนาการว่าเขาจะหาปืนให้ได้สักกระบอกและกำจัดพ่อไปให้พ้นจากบ้านเสียที
“บางครั้งผมรู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นพระราชา และมีประชาชนแวดล้อมอยู่ภายในอาณาจักรของผม ผมคือฮีโร่ของทุก ๆ คน หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์เรื่องของผมทุกวัน นอกเหนือจากทีวี ที่ผมได้ออกอากาศและปรากฏตัวอยู่เป็นประจำ ผมกลายเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา พวกเขานับถือ เชื่อและศรัทธาในตัวผม เหมือนกับตัวผมนั้นอยู่เหนือความผิดทั้งปวง และเมื่อผมไม่ชอบใจใครผมก็เป่ามันซะ กำจัดมันทิ้ง ไม่มีใครโกรธหรือเอาโทษผม แล้วทุกอย่างก็กลับไปเป็นปกติ” แชปแมนบอกกับผู้สื่อข่าว

8 ธันวาคม 1980
“Mister Lennon !”
แชปแมนร้องเรียกเลนนอนในขณะที่เลนนอนกำลังเดินออกจากดาโกตา อาพาร์ทเม็นต์ในนิวยอร์คเพื่อไปบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่พร้อมกับภรรยา โยโกะ โอโนะ
ในมือของแชปแมนมีอัลบั้มของเลนนอน
เขายื่นมันออกไปเหมือนแฟนเพลงที่หลงไหลในศิลปิน
เลนนอนเซ็นต์ชื่อลงบนแผ่นเสียงและส่งคืนให้เขา
หลายชั่วโมงผ่านไป
เลนนอนและโยโกะกลับจากห้องบันทึกเสียงมาถึงอาพาร์ทเม็นต์
แชปแมนยังอยู่ที่นั่น เขาเดินตามหลังเลนนอนไป
ในมือไม่มีอัลบั้มเลนนอนแต่มี .38 กระบอกโต
“Hey Mister Lennon!”
คราวนี้ยังไม่ทันที่เลนนอนจะหันมา กระสุนทั้ง 5 นัดก็กระหน่ำลงบนร่างของเขา
กระสุนหนึ่งในนั้น ตัดเส้นเลือดใหญ่ทำให้เขาเสียเลือดอย่างมากและอย่างรวดเร็ว
เลนนอนเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล เขาเสียเลือดไปจนหมดร่างกาย
หลังจากจบชีวิต “พระเจ้า”เมื่อ 40 ปีก่อนเรียบร้อยแล้ว
แชปแมนนั่งอ่านหนังสือรออยู่ตรงจุดเกิดเหตุ
The Catcher in the Rye หนังสือที่เขาอ้างว่ามันคือแรงบันดาลใจในการกระทำครั้งนี้

ปี 2000
บทบรรณาธิการของนิตยสาร UNCUT ผู้อ่านนิตยสารดังกล่าวเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องเก่าเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วให้บรรณาธิการฟัง
“วันนั้น ผมอยู่ตรงนั้น ผู้สื่อข่าวถามเลนนอนว่ารู้สึกอย่างไรที่ผู้คนคลั่งไคล้พวกเขาขนาดนี้”
เลนนอนกล่าวติดหัวเราะว่า “พวกเขาคลั่งไคล้และแสดงออกอย่างกับว่า พวกเรานั้นเป็นพระเจ้า”

เช้าวันรุ่งขึ้น
หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าว “บีทเทิ้ล ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้า”

แชปแมน....นายยิงผิดคนหรือเปล่า
ติดคุกให้มีความสุขเถิด เพราะนายคงไม่ได้ออกมาแล้วล่ะ

Sunday, February 04, 2007

“ทุกวันนี้ โลกเรามีเพลงมากเพียงพอแล้ว”


“ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับการแต่งเพลงบ้างล่ะเนี่ย” บ็อบถามขึ้นมาพร้อมกับหัวเราะร่วนอย่างพึงพอใจ เขาสวมกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ดื่มกาแฟจากแก้ว แทนที่จะเป็นถ้วยกาแฟ “รสชาติกาแฟดีกว่ากินจากถ้วย”บ็อบกล่าวยิ้มๆที่มุมปาก กีตาร์โปร่งสีบรอนด์วางอยู่ใกล้ ๆ กับตัวเขา ตัวเขาช่างมีอิทธิพลต่อสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูน่าสนใจไปซะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหรือว่า
เสื้อโค้ทของเขา
คงเป็นเรื่องยาก หากเราจะพูดถึงศิลปะการแต่งเพลงโดยที่ไม่ได้อ้างอิงถึงบุรุษผู้นี้ แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธว่าตัวเขาเองนั้นไม่ใช่นักแต่งเพลงที่วิเศษอะไร เขาเป็นแค่คนที่ใช้สัญชาติญาณในการเขียนเพลง เขาแค่รู้สึกว่าเพลงจะต้องประกอบด้วยเนื้อหาที่รุ่มรวยความหมายที่ลึกซึ้งเหนือกว่าเพลง
ป็อปทั่วๆไป นั่นจึงจะทำให้เพลงมีพลังและมีความงดงามเทียบเคียงได้กับบทกวีที่โด่งดัง และเมื่อนำสิ่งที่เขียนนั้นมารวมกับท่วงทำนองและดนตรี สิ่งนี้ก็สามารถที่จะสื่อสารกับจิตวิญญาณแห่งมนุษย์ได้
จอห์น เลนนอน กล่าวว่าเป็นเพราะเขาได้ฟังเพลงของดิแลน ทำให้ตัวเขาหันมาให้ความสนใจที่จะแต่งเพลงซึ่งสะท้อนออกมาจากส่วนลึกในใจของตัวเขาแทนที่จะเขียนเพลงป็อปแบบตื้นๆ “Help” เป็นเพลงที่แสดงออกซึ่งการร้องขอความช่วยเหลืออย่างจริงๆ พอล ไซมอนยังบอกว่าบ็อบนั้นมีอิทธิพลต่อการแต่งเพลงของเขาอย่างมากตั้งแต่ยุคเพลง ” Hey school girl” ร็อกแอนด์โรลในสไตล์ 50 จนถึง “The sound of silence”
บ็อบจะแก้ไขปรับปรุงเนื้อเพลงของเขาตลอดเวลา แม้ว่าในสตูดิโอที่ทำการอัดเสียงไปแล้ว เขาบอกว่า การเขียนเพลงไม่ใช่การแกะสลักบนหินซะเมื่อไร ด้วยวิธีการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยความหมายและความงดงามของบ็อบคือสิ่งที่นักเขียนเพลงต่างพร้อมที่จะขายวิญญาณเพื่อการค้นพบมัน
โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน หรือ บ็อบ ดิแลน เกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม 1941 ในมิเนโซต้า สหรัฐอเมริกา เขาได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงจาก วู๊ดดี้ กัทรี บ็อบย้ายตัวเองเข้าสู่นิวยอร์คด้วยเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เขาต้องการไปพบและดูแลวู๊ดดี้ ซึ่งกำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนิวเจอร์ซีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา มาร์จอรี กัทรี ภรรยาของวู๊ดดี้ บอกว่าดิแลนเป็นเด็กที่ดีมากและมีความเชื่อและศรัทธาในตัววู๊ดดี้อย่างมาก แต่เธอกล่าวว่าเธอไม่ชอบเสียงร้องของบ็อบสักเท่าไร และได้พยายามแนะนำให้บ็อบออกเสียงให้ชัดเจนกว่านี้เวลาที่บ็อบร้องเพลงของเขา
แต่คนที่ประทับใจในตัวบ็อบมากกว่ามาร์จอรี ก็คือจอห์น แฮมเมอร์ โปรดิวส์เซอร์ที่ชักนำบ็อบให้เซ็นสัญญาออกแผ่นเสียงกับตราโคลัมเบีย แม้ว่าอัลบั้มชุดแรกของเขาจะมีเพลงใหม่เพียงแค่สองเพลงเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพลงที่เขาเขียนอุทิศให้แด่วู๊ดดี้ “Song To Woody” และเพียงแค่อัลบั้มที่ 2 เท่านั้นเขาก็ได้สร้างเพลงซึ่งถือว่าคลาสสิคและถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงเพลงป็อป นั่นคือเพลง “ Blowing In The Wind” และเพลง “ Master Of War”
บ็อบเปลี่ยนแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเราด้วยงานระดับมาสเตอร์พีซของเขาอย่างต่อเนื่อง หลายๆเพลงจัดอยู่ในประเภทคลาสสิคตลอดกาล เช่น The freewheelin’ Bob Dylan , Blonde on Blonde , Nashville Skyline , The Basement Tape , John Wesley Harding , Blood On The Tracks , Desire , Oh Mercy และอีกมากมาย
“บางครั้งมันก็มากเกิน บางทีมันก็น้อยไป” เขาพูดถึงตัวเพลงของเขา
แม้ว่าแวน มอริสัน จะให้ฉายาแก่บ็อบว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขาเองกลับไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นกวี แต่อย่างใด “กวีจมน้ำหมดแล้ว” เขากล่าว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าสร้างบทกวีที่สวยงามขึ้นมาในโลก ดิแลนบอกว่า เขาไม่เคยคิดว่าตัวเขาเองเป็นนักเขียนเพลงมืออาชีพ สำหรับเขาการเขียนเพลงมันเหมือนการเขียนคำสารภาพ “เพลงของผมไม่ได้ถูกกำหนดโดยตารางเวลา” เขากล่าว
“ถ้าเช่นนั้น เพลงเหล่านั้นถูกเขียนขึ้นมาด้วยวิธีการเช่นไร” และนั่นคือหัวใจสำคัญที่ผมต้องการจะรู้จากปากของชายผู้นี้ เขาสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเราได้ศึกษาจากทุกอัลบั้มที่ผ่านมา อารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละเพลง รวมถึงรูปแบบและสไตล์ซึ่งได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า
อาร์โล กัทรี เคยพูดไว้ว่า “การเขียนเพลงก็เหมือนกับการหย่อนเบ็ดลงในกระแสน้ำ แล้วก็หวังว่าจะจับอะไรได้บ้าง ผมไม่คิดว่าจะมีใครนอกจากบ็อบที่สามารถจะจับอะไรได้”
บ็อบ หัวเราะร่วน
คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คุณจับได้เยอะแยะมากมายขนาดนั้น
หัวเราะอีก “บางทีอาจจะเป็นเพราะเบ็ดของผมก็ได้”
“เบ็ดชนิดไหนกันที่คุณเลือกใช้”
“คุณต้องใช้เบ็ด ไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องนั่งรอแล้วก็คาดหวังว่าเพลงมันจะเดินทางมาหาคุณ แต่การที่จะบังคับให้ได้มาคุณต้องใช้เบ็ด”
“มันได้ผล สำหรับคุณหรือ”
“อืมม ก็ไม่เชิง การพาตัวเองลงไปสู่เหตุการณ์ที่ต้องการการตอบสนองก็เหมือนกับการใช้เบ็ด ใครก็ตามที่พยายามเขียนอะไรสักอย่างโดยที่ตัวเขายังไม่เคยสัมผัสสิ่งนั้น ๆ จะทำให้เขาโดนเบี่ยงเบนออกจากความจริง
“ตอนที่คุณเขียนเพลงคุณใช้จิตสำนึกนำพาคุณไป หรือว่าคุณพยายามเดินตามความคิดของจิตใต้สำนึก”
“แรงขับเคลื่อนในเพลง เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเพลงและคุณไม่มีทางรู้ได้เลย ไม่ว่าเพลงของใครก็ตามคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าแรงขับเคลื่อนในเพลง ๆ นั้นมันคืออะไร มันจะดีมากหากคุณสามารถปล่อยตัวเองไว้ในสภาพแวดล้อมที่ยอมรับให้สิ่งต่าง ๆ จากจิตใต้สำนึกในตัวคุณได้แสดงตัวออกมา และจงปิดกั้นการควบคุมจากตัวคุณ อย่าให้มันครอบเรา ปล่อยให้มันไหลไป
หลายคนที่เรียกตัวเองว่านักเขียน พวกเขาส่วนใหญ่ก็รับข้อมูลข่าวสารมาจากทีวี หรือไม่ก็สื่อใดสื่อหนึ่งซึ่งมากระทบตัวเขาเหล่านั้น สิ่งที่เขาเขียนกันออกมามันจึงไม่ใช่นวนิยายที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว
คุณจำเป็นต้องเค้นความคิดความรู้สึกออกมาจากส่วนลึกของจิตใจออกมาให้ได้
“ทุกวันนี้ โลกเรามีเพลงมากเพียงพอแล้ว”
“คุณคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือ”
“ใช่มีมากพอแล้ว มีมากเกินพอเสียด้วยซ้ำ ว่ากันตามจริงถ้าตั้งแต่วันนี้ ไม่มีใครแต่งเพลงออกมาอีกเลย โลกก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร ทุกวันนี้มีเพลงเพียงพอแล้วให้คนบนโลกได้ฟังถ้าเขาต้องการจะฟังเพลง ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ๆ เกือบทุกคนมีแผ่นเสียงครอบครองเป็นร้อยๆแผ่น พวกเขายังไม่เคยหยิบมาฟังซ้ำเสียด้วยซ้ำ ผมจึงเชื่อว่าโลกเรามีเพลงเพียงพอแล้ว นอกเสียจากจะมีใครสักคนสร้างงานออกมาจากหัวใจอันบริสุทธิของเขาซึ่งนั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแตกต่างออกไป แต่เท่าที่ผ่านมาการเขียนเพลงเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้แม้คนโง่ ๆ ถ้าคุณเห็นผมทำได้ คนโง่ ๆ อีกหลายคนก็ทำได้(หัวเราะ) มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ทุกคนแต่งเพลงได้เหมือนกับที่ทุก ๆ คนแต่งนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ได้”
“แต่เพลงของคุณนั้นมีมากกว่าการเป็นความบันเทิงที่ป็อป ๆ”
“ป็อป ไม่มีความหมายสำหรับผม ไม่มีความหมายจริง ๆ มาดอนน่า..สุดยอด เธอเป็นมืออาชีพ เธอนำทุกอย่างมาผสมผสานรวมกันเพื่อทำงานของเธอ เธอเรียนรู้ทุกอย่างเพื่อนำมาสร้างงาน แต่การทำเช่นนั้นคุณจะต้องทุ่มเททั้งหมดกับมัน ปีแล้วปีเล่า คุณจะต้องเสียสละทั้งหมดที่คุณมีเพื่อจะทำสิ่งนั้น เสียสละทั้งหมดเท่าที่คุณมีเพื่อที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันต้องเป็นเช่นนั้น เหมือนกันหมดทุกเรื่อง”
“แวน มอริสัน บอกว่าคุณคือบทกวีที่ยิ่งใหญ่ที่ยังมีชีวิต คุณเคยคิดว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า”
“บางครั้ง บางครั้งผมก็รู้สึกเช่นนั้น แต่มันไม่จริงหรอก ไม่จริง”
“กวีไม่ขับรถ (ยิ้ม) กวีไม่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต กวีไม่ต้องมีหน้าที่เทถังขยะ กวีไม่จำเป็นต้องไปหาแหล่งกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน และอีกมากมายหลายอย่าง กวีไม่แม้กระทั่งรับโทรศัพท์ กวีไม่พูดกับใคร ๆ กวีเอาแต่เงี่ยหูฟัง และโดยทั่วไปเขาจะรู้ตัวเองว่าเขาเป็นกวี(หัวเราะ)
โลกเราไม่ต้องการบทกวีหรือบทกลอนอีกแล้ว เรามีเชคสเปียร์แล้ว ทุกอย่างมีเพียงพอแล้ว คุณนึกมาสิ ทุกอย่างมีพอแล้ว เรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างเพียงพอแล้ว บางคนบอกว่า หลอดไฟฟ้านี่ เดินทางมาไกลเกินไปเสียด้วยซ้ำ
กวีอยู่บนแผ่นดินนี้อย่างสุขุม สันโดษ และอยู่แต่ในดินแดนของพวกเขา แล้วก็อดตาย หรือไม่ก็จมน้ำตาย กวีมักมีตอนจบที่ปวดร้าว ดูอย่างจิม มอริสันนั่น ถ้าคุณจะเรียกเขาว่ากวี

Saturday, February 03, 2007

เรื่องหลังเพลงดัง


บางครั้ง เพลงก็เดินทางเข้าสู่สมองของนักเขียนเพลงอย่างรวดเร็ว คล้ายกับตัวเพลงเขียนตัวมันเอง คล้ายกับมีบางสิ่งบางอย่างที่มองไม่เห็นมาจับมือคนเขียน.....เขียนเพลงนั้นๆออกมา

“Rocket Man” / Artist : Elton John
Featured on Honky Chateau. Released 1972/MCA
Words & Music by Elton John and Bernie Taupin
Bernie Taupin (lyricist) “ผมกำลังขับรถอยู่ แล้วประโยคหนึ่งก็ดังเข้ามาในหู “She packed my bags last night,preflight.Zero-hour is 9 A.M.” ผมรีบจ้ำออกจากรถและวิ่งเข้าบ้าน ตะโกนบอกพ่อแม่ “อย่าเพิ่งให้ใครเข้ามากวน จนกว่าผมจะเขียนความคิดทั้งหมดนั้นลงในกระดาษเรียบร้อยแล้ว”


A Hard Day’s Night / The Beatles
Featured on A Hard Day’s Night. Released 1964/Capital
Words & Music by John Lennon and Paul McCartney
Walter Shenson (Film Producer) : ผมบอกกับจอห์นว่า มันน่าจะดีนะถ้าเรามีเพลง “A Hard Day’s Night” ตอนเปิดหนังรวมทั้งตอนไตเติ้ลท้ายของหนัง จอห์นพยักหน้าและบอกว่าเขาจะลองคิดดู คืนนั้นเราอยู่บนรถด้วยกันเพื่อเข้าเมือง จอห์นขอตัวลงก่อน บอกว่าจะต้องทำงานบางอย่างให้เสร็จ รุ่งเช้าประมาณ 8 โมงครึ่ง จอห์นขอให้ผมมาพบที่ห้องอัดเล็กๆแห่งนี้ เมื่อผมไปถึงพอลอยู่ที่นั่นด้วย แล้วเขาทั้งคู่ก็เล่นกีตาร์และร้องเพลงซึ่งจอห์นได้เขียนไว้ในสมุดโน้ต เพลงนั้นก็คือ “A Hard Day’s Night”


“Dust in The Wind” / Artist : Kansas
Featured on Point of Know Return. Released 1977/Kirshner
Words & Music by Kerry Livgren
Kerry Livgren(Songwriting/Guitarist) ผู้คนส่วนใหญ่พยายามที่จะตีความ ค้นหาความหมายสิ่งที่ผมเขียนลงในเพลงๆนี้ ความจริงแล้วผมอ่านพบมันในหนังสือกวีของชนชาวอินเดียน(American Indian Poetry) ตอนที่ขณะกำลังข้ามเส้นพรมแดน ในหนังสือเขียนไว้ว่า “For all we are is dust in the wind” ผมคิดว่านั่นมันจริงทีเดียว ผมประสบความสำเร็จ มั่งคั่งด้วยเงินทองและชื่อเสียง ผมบรรลุเป้าหมายในชีวิตและผมกำลังเดินทางกลับสู่ผืนดินอีกครั้ง และนั่นคือสิ่งที่เพลงนี้พยายามสื่อถึง แต่น่าแปลกที่ผู้คนพยายามที่จะตีความมันไปต่างๆนานาและผลของมันก็คือเพลงนี้ขึ้นชาร์ตเพลงคันทรี ขึ้นชาร์ตเพลงป็อป ขึ้นชาร์ตเพลงอิสซี่ ลิสซึ่นนิ่ง มันข้ามเส้นแบ่งประเภทของเพลงได้อย่างประหลาด
ผมเล่นกีตาร์นำในวง กีตาร์ไฟฟ้า ร็อคแอนด์โรล ผมไม่เคยคิดที่จะผันตัวเองไปเป็นนักกีตาร์อะคูสติก ดังนั้นผมจึงอยากลองที่จะพยายามขยายขอบเขตการเล่นกีตาร์ของตัวเอง ผมพยายามฝึกเล่นปิ๊คกิ้ง ผมอยู่ในห้องและก็หัดเกากีตาร์โปร่งของผมไปเรื่อยเปื่อย แล้วภรรยาผมก็เดินผ่านเข้ามาในห้อง
“เพราะดีนะ คุณน่าจะเขียนเนื้อเพลงลงไป”
“ผมแค่ฝึกเล่นเท่านั้นเอง มันยังใช้ไม่ได้หรอก”
“แต่มันใช้ได้เลยนะ อย่าลืมใส่เนื้อลงไปล่ะ”
แล้วเธอก็เคี่ยวเข็ญให้ผมแต่งเพลงนี้ออกมา จนในที่สุดผมก็จำต้องเขียนมันออกมาให้เธอ
ในขณะที่เรากำลังซักซ้อมเตรียมงานสำหรับอัลบั้ม Point of Know Return ทุกเพลงพร้อมหมดแล้ว แต่ใครคนหนึ่งถามผมว่า”นายมีเพลงอื่นอีกหรือเปล่า”
“เอ้อ ความจริงก็มีอยู่อีกเพลงหนึ่ง แต่พวกนายคงไม่ชอบหรอก มันไม่ใช่แคนซัส” ผมอิดเอื้อนที่จะเล่นมันให้พวกเขาฟัง แต่ก็ทนรบเร้าไม่ไหว ในที่สุดผมจึงเล่นมันด้วยกีตาร์โปร่งตัวนั้น
“เราต้องทำเพลงนี้”
ผมแปลกใจมาก เพราะผมปฏิเสธเพลงนี้ตั้งแต่แรก เราถกถียงกันภายในวง ผมบอกพวกเขาว่า “นี่มันไม่ใช่เรา”
ใช่ มันคงบอกคุณแล้วว่า ผมถูก หรือ ผิด
เพราะเพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลเพลงเดียวของวงเรา !


“Bad Company” / Artist : Bad Company
Featured on Bad Company.Released 1974/Swan Song
Words & Music by Paul Rodgers and Simon Kirke
Paul Rodgers(singer/songwriter) ตอนที่ผมบันทึกเสียงร้องในเพลง “Bad Company” พวกเราต่อสายไมค์และหูฟังออกมายาวกว่า 100 หลา ออกไปที่สนามหญ้า ในกลางดึกคืนหนึ่งท่ามกลางแสงจันทร์ มันให้แรงบันดาลใจและให้บรรยากาศที่ประหลาดล้ำ และนั่นคือสาเหตุที่ช่วยให้เสียงนั้นฟังโหยหวน หลอนๆ ลึกลับ มันถูกบันทึกเสียงที่นั่นกลางสนามหญ้า กลางดึก ใต้แสงจันทร์ เราใช้เวลาเซ็ททั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อทุกอย่างพร้อม เราใช้เวลาบันทึกเสียงแค่เทคเดียว


“Rikki Don’t Lose That Number / Artist : Steely Dan
Featured on Pretzel Logic.Released 1974/MCA
Words & Music by Donald Fagen and Walter Becker
Walter Becker(songwriter) นักข่าวบางคนถามเราว่า “Number” ในเพลงนี้หมายถึงกัญชา ใช่หรือไม่ รู้สึกว่ามันจะเป็นแสลงของซานฟรานซิสโกหรืออาจจะเป็นที่ไหนสักแห่ง แต่ความจริงก็คือ เราไม่เคยรู้เรื่องนั้นมาก่อนเลย
Donald Fagen(singer/songwriter) จริง ๆ แล้วมันคือเบอร์โทรศัพท์ธรรมดา ๆ ผมว่าคนฟังควรจะฟังให้มันเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ในมุมที่มันสว่าง ๆ จะดีกว่า มันก็เป็นเพลงรักธรรมดา ๆ ผู้ชายคนหนึ่ง ร่ำรวย สุภาพ อาศัยในรีสอร์ทแห่งหนึ่ง และก็วิธีที่เขาจะจีบผู้หญิงคนนี้ให้ได้



“Killer Queen” / Artist : QUEEN
Featured on Sheer Heart Attack.Released 1974 /Hollywood(rerelease)
Words & Music by Freddie Mercury
Freddie Mercury (singer/songwriter) คนส่วนมากคิดว่า “Killer Queen” นั้นหมายถึงแจ็กกี้ เคเนดี้ (Jackie Kennedy)
แต่ว่า มันไม่ใช่ มันเกี่ยวกับอีตัวไฮคลาส ผมพยายามที่จะเล่าถึงเรื่องของกะหรี่ชั้นสูง ผมพยายามที่จะสื่อว่าในวงสังคมไฮโซนั้น คนชั้นสูงก็เป็นอีตัวได้ นั่นคือสิ่งที่เพลงนี้พูดถึง แต่ผมก็ชอบนะที่ผู้ฟังจะตีความกันไปต่าง ๆ นา ๆ ตามที่เขาเข้าใจ



“Daniel” / Artist : Elton John
Featured on Don’t Shoot me I’m Only the Piano Player. Released 1973/MCA
Words & Music by Elton John and Bernie Taupin
Bernie Taupin (lyricist) ผมลืมไปแล้วว่าอ่านเจอที่ไหน ไม่แน่ใจว่าเป็นนิยสาร Time หรือ Newsweek เป็นเรื่องของนายแดเนียล(Daniel)นายทหารซึ่งเพิ่งกลับจากการรบที่เวียดนามแล้วกลับสู่บ้านเกิดของเขา เขาพยายามที่จะใช้ชีวิตที่เหลือของเขาอย่างสงบและพยายามที่จะลบภาพเหตุการณ์ในสงครามทั้งหมดที่เขาได้พบมา หากแต่เพื่อนบ้านไม่เข้าใจ ทุกคนพยายามที่จะให้เขาเป็น
วีรบุรุษสงครามและไม่ยอมปล่อยให้เขาอยู่กับชีวิตที่สงบอย่างที่เขาต้องการ สุดท้ายนายแดเนียลจึงเกิดภาพหลอนในหัวเขาและจำเป็นต้องหนีจากเรื่องนี้ให้ได้ วิธีเดียวที่เขาทำได้ก็คือการเนรเทศตัวเองออกจากประเทศบ้านเกิด ผมเขียนเนื้อเพลงนี้เสร็จในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง จากนั้นผมถือเนื้อเพลงนี้ไปส่งให้เอลตัน เขาอ่านมัน จากนั้นก็ลุกออกจากโต๊ะอาหารเช้าของเขาและกลับมาในเวลาไม่ถึง 20 นาที
“เฮ้ พวก เรามาทำเพลงนี้ให้เสร็จกันเถอะ” เอลตันพูดกับวง
แล้วเพลงนี้ก็เสร็จเรียบร้อยในเย็นวันนั้นเอง


“American Pie”/Artist : Don McLean
Featured on American Pie.Released 1971/EMI
Words & Music by Don McLean
Don McLean (singer/songwriter) ผมเป็นคนที่สนใจในประเทศอเมริกาอย่างมาก และยังคงเขียนเพลงในมุมมองต่างๆรอบๆประเทศแห่งนี้ และครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าประเทศแห่งนี้ได้สูญเสีย
ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะเขียนบรรยายมันออกมาเป็นเพลง ผมกำลังนั่งอยู่ในบ้านหลังเล็กๆที่ผมอาศัยอยู่ แล้วก็เริ่มต้นเขียนท่อนแรกของเพลงนี้ จากความทรงจำที่ผมพบในหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า บัดดี้ โฮลี่ถูกฆาตกรรม ความทรงจำได้ปลดปล่อยพันธนาการในตัวผม เพราะหลังจากประโยคนั้นแล้ว ที่เหลือของเพลงก็หลั่งไหลออกมาเอง คล้ายกับว่าเพลงเขียนตัวมันเอง
ผมหลงรักบัดดี้ โฮลี่และดนตรีของเขา และมันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผมมาก เพราะแค่เพียงปี 1964 คุณก็ไม่ได้ยินอะไรที่เกี่ยวข้องกับบัดดี้อีกแล้วหลังจากการตายของเขา ทุกคนลืมเขาไปแล้ว แต่สำหรับผม..ยัง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไรก็ตามที่ผมได้ยินเพลงของเขาจากตู้เพลง หรือพบแผ่นเสียงอัลบั้มที่ผมยังไม่มีผมจะซื้อมันมาทันที
ผมรู้สึกว่าเพลง ๆ นี้จะช่วยกระตุ้นเตือนความรู้สึกและสำนึกของคนว่า สิ่งที่บัดดี้และดนตรีของเขาทำให้กับสังคมกำลังจะถูกมองข้าม ใช่...บีทเทิ้ลไม่ได้มองข้าม คนบางคนไม่ได้มองข้าม แต่ว่าคนส่วนใหญ่มองข้าม ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสนใจในคุณูปการที่เขามีต่อดนตรี ร็อค แอนด์ โรล


“The End”/ Artist : the Doors
Featured on The Doors.Released 1967/Elecktra
Words & Music by the Doors
Jim Morrison (singer/songwriter) คืนนั้นผมออกไปดูหนังที่เวสท์วู้ด(westwood) ผมเดินเข้าไปในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ผมเห็นหญิงสาวคนหนึ่งท่าทางฉลาดและสะดุดตาต่อผู้พบเห็น เธอดูกระตือรืนร้นและเปิดเผย เธอเห็นผมและจำผมได้จึงเดินเข้ามาทักทาย เธอถามผมเกี่ยวกับเพลง ๆ นี้ เธอมากับพยาบาลคนหนึ่ง เธอเพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ออกมาเดินเล่นได้ประมาณหนึ่งชั่วโมงจากสถาบันโรคประสาทที่เธอพักรักษาตัวอยู่ ความจริงเธอเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย UCLA แต่เกิดอาการป่วยด้วยสาเหตุจากการเสพยาเกินขนาด เธอพูดคุยกับผมและบอกกับผมว่าเธอชอบและชื่นชมเพลงนี้ของผมมากรวมทั้งเพื่อนๆนักศึกษาในชั้นของเธอก็เช่นเดียวกัน ครั้งแรกที่ได้ยินผมรู้สึกดีมาก แต่เมื่อได้พูดคุยกับเธอมันมีหลายสิ่งหลายอย่างปรากฏขึ้นในความรู้สึกของผม มีปริศนาและสิ่งลึกลับมากมายให้ขบคิด ผู้คนมักชอบที่จะดึงเรื่องต่างๆเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวเอง ผมไม่เคยคิดเลยว่าผู้คนฟังเพลงแล้วจะซีเรียสกับสิ่งที่ได้ฟังขนาดนั้น มันทำให้ผมต้องหันมาสนใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมากับการฟังเพลง


“Someone Saved My Life Tonight”/Artist : Elton John
Featured on Captain Fantastic and the Brown Dirt Cowboy.Released 1975/MCA
Words & Music by Elton John and Bernie Taupin
Bernie Taupin (lyricist) เอลตันกำลังอยู่ในช่วงที่พยายามจะขมวดปมบางอย่าง ผมคิดว่าเขายังไม่ค่อยแน่ใจกับมันนัก เจ้าสิ่งนั้นมันทำให้เขาเครียดมาก “ฉันจะต้องจบทุกอย่างลงให้ได้” เขาพูด ผมรู้สึกเห็นใจและสงสารเขามาก “นายทำได้” ผมให้กำลังใจเขาไป
ผมกำลังเดินออกมาจากห้องของผม แล้วจมูกก็ได้กลิ่นแก๊ส ใครสักคนต้องเปิดแก๊สทิ้งไว้แน่ ๆ ผมรีบเดินเข้าไปในครัว พระเจ้า ! เอลตันนอนอยู่บนพื้นในครัว กลิ่นแก๊สคลุ้งไปทั่วครัว สิ่งแรกที่ผมคิดคือ...” ตายห่า ! เขาพยายามจะฆ่าตัวตาย” แต่ความรู้สึกต่อมาก็ทำให้ผมยิ้มและหัวเราะออก เมื่อผมสังเกตเห็นว่าเขาเตรียมหมอนมาหนุนอย่างดี แล้วอีกอย่างหน้าต่างห้องครัวทุกบาน เปิดอยู่!



“Help” / Artist : the Beatles
Featured on Help! Released 1965/Capital
Words & Music by John Lennon and Paul McCartney
John Lennon (singer/songwriter/guitarist) เมื่อเพลง “Help” ออกอากาศในปี 1965 ในตอนนั้นผมรู้สึกต้องการความช่วยเหลือ จริง ๆ คนส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นแค่เพลงร็อกจังหวะเร็ว ๆ กระชั้น ๆ สนุก ๆ เพลงหนึ่งเท่านั้น ผมเองก็ไม่ได้คิดอะไรในตอนนั้น มันก็เป็นแค่เพลงที่ได้รับมอบหมายให้แต่งเพื่อประกอบในภาพยนตร์ แต่หลังจากนั้นผมรู้สึกว่าผมต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ มันเป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่าตัวเอง”อ้วน”มาก ในยุคที่เอลวิสก็กำลัง”อ้วน” เหมือนกัน ซึ่งจะเห็นได้จากในหนังทั้งเขาและผม “อ้วน” ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย และเขาเองก็สูญเสียตัวตน ผมจึงเขียนเพลงด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในวันที่ยังหนุ่ม และ เรื่องราวที่ประทับใจในวัยที่ต้องมองย้อนกลับไป ......ผม”อ้วน” เครียด ผมร่ำร้อง เรียกหา ความช่วยเหลือ


“Wasted on the Way” / Artist :Crosby,Stills and Nash
Featured on Daylight Again.Released 1982/Atlantic
Words & Music by Graham Nash
Graham Nash (singer/songwriter) ประเด็นสำคัญของเพลงนี้ที่ผมต้องการสื่อก็คือตามชื่อเพลง เราเสียเวลาไปมากมายกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ดึงเราออกไปจากการแต่งเพลง


“Here Comes The Sun” / Artist : the Beatles
Featured on Abbey Road. Released 1969/Capital
Words & Music by George Harrison
George Harrison (singer/songwriter/guitarist) เพลงนี้เขียนขึ้นในขณะที่บริษัท แอปเปิ้ล เริ่มต้น เหมือนคนเริ่มต้นเรียนหนังสือ เราเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะเป็นนักธุรกิจ เรียนรู้ที่จะเซ็นชื่อลงบนเอกสาร เซ็นนั่น...เซ็นนี่ อย่างไรก็ตาม หากฤดูหนาวในอังกฤษยาวนาน เมื่อถึงเวลาแห่งใบไม้ผลิมาถึง คุณก็จะมีความสุขกับมัน วันนั้นผมตัดสินใจที่จะหนีงานในแอปเปิ้ล สักพัก ผมเลือกไปเที่ยวบ้าน
อีริค แคลปตัน (Eric Clapton) เดินเล่นในสวนของเขา การที่ไม่ต้องไปเจอะเจอกับบัญชีต่างๆช่างมีความสุขอย่างสุดวิเศษ ผมเดินเล่นรอบ ๆ สวนพร้อมกับกีตาร์โปร่งของอีริค แล้วก็แต่งเพลง “Here Comes the Sun”


“Imagine” / Artist : John Lennon
Featured on Imagine. Released 1971 / Capital
Words & Music by John Lennon
John Lennon (singer/songwriter) “Imagine” ถือเป็นเพลงฮิตที่ยิ่งใหญ่มากไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก แม้ว่ามันจะต่อต้านศาสนา ต่อต้านการแบ่งเชื้อชาติ ต่อต้านระบบทุนนิยม แต่ด้วยความที่มันเคลือบด้วยน้ำตาล ทุกคนจึงยอมรับได้ และชอบมันด้วย ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าต้องทำอย่างไรหากต้องการใส่การเมืองเข้าไปในบทเพลง ผมก็เติมน้ำผึ้งลงไปด้วยนิดหน่อย


“Strawberry Fields Forever”/Artist : the Beatles
Featured on Magical Mystery Tour. Released 1967/Capital
Words & Music by John Lennon and Paul McCartney
John Lennon ( singer/songwriter/guitarist) สิ่งที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ผมเป็นพวกแปลกแยกมาตลอด แปลกแยกในโรงเรียนอนุบาล แตกต่างจากคนอื่น ๆ ผมแตกต่างแปลกแยกมาตั้งตลอดชีวิต ท่อนที่สองของเพลงที่ว่า “No one I think is in my tree” ใช่ ผมขี้อาย และขี้สงสัยในตัวเอง ผมอาจจะเป็นอัจฉริยะหรือว่าคนบ้าก็ได้ “I meant it must be high or low” มีบางอย่างผิดปกติในตัวผม เพราะผมมักจะมองเห็นในสิ่งที่คนอื่น ๆ มองไม่เห็น ผมว่ามีแต่คนบ้าที่กล้าออกมาบอกว่าตัวเองเห็นสิ่งที่คนอื่นๆมองไม่เห็น

“Born to be Wild”/ Artist : Steppenwolf
Featured on Steppenwolf. Released 1974/MCA
Words & Music by Dennis Edmonton
Dennis Edmonton(songwriter) ฮอลลีวู้ด ผมกำลังเดินเล่นอยู่บนถนน สายตาก็เหลือบไปเห็นโปสเตอร์ใบหนึ่งเป็นรูปมอเตอร์ไซค์กำลังวิ่งทะลุโลกออกมา เปลวไฟลุกลามอยู่ด้านหลังคล้ายไฟจากภูเขาไฟมีข้อความเขียนไว้ว่า “Born to Ride” ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นผมได้ซื้อรถยนต์ส่วนตัวคันแรกของผม เป็นรถมือสอง ฟอร์ด ฟัลคอน แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดก็ก่อกำเนิดไอเดียเขียนเพลง ความร้อนแรงของมอเตอร์ไซค์รวมกับอิสระและความสนุกสนาน ผมรู้สึกว่าการมีรถยนต์คันนี้จะทำให้ผมสามารถที่จะไปที่ไหนๆในโลกนี้ได้อย่างที่ใจต้องการ.....”Born to be Wild” ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงๆจังๆนักในครั้งแรก แม้แต่ที่ Leeds Music ซึ่งผมสังกัดอยู่ ผมรู้สึกว่าพวกเขายอมรับเพลงนี้เพราะผมเป็นพนักงานอยู่กับเขา โชคดีที่เพลงนี้ไปตกอยู่ในมือของ Steppenwolf พวกเขาทำให้เพลงนี้โด่งดัง สำหรับผมแล้ว เพลงนี้เหมือนเพลงที่โชคดี มากกว่าจะเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จ



“Carry on wayward Son”/Artist : Kansas
Featured on Leftoverture. Released 1976/Kirshner
Words & Music by Kerry Livgren
Kerry Livgren (songwriter/guitarist) ผมเขียนเพลงนี้ ก่อนวันสุดท้ายของการซ้อมเพื่อเข้าห้องบันทึกเสียงอัลบั้ม ความจริงพวกเราไม่ได้ต้องการเพลงใหม่ในเวลานี้ เราต้องการเพียงแค่ทบทวน ตัดทอน ตบแต่งเพลงที่เรามีและได้เลือกเอาไว้แล้ว ผมเดินเข้าไปในห้องซ้อมและบอกกับทุกคนว่า “ฉันมีเพลงใหม่อีกเพลงและคิดว่าบางทีพวกนายอาจจะอยากฟัง” พวกเขากลับพูดขึ้นว่า “เป็นเรื่องที่เหมาะเหม็งพอดี เราลองมาดูกันว่ามันเป็นยังไง อาจจะลองเข้าสตูดิโอแล้วดูซิว่ามันจะฟังเป็นยังไง” จากนั้นเราลองเอาเพลงนี้เข้าไปร้องในสตูดิโอแบบที่ยังไม่มีดนตรี ทุกคนมีความเห็นและความรู้สึกตรงกันว่า เพลงนี้น่าถูกบันทึกเสียงและทำหน้าที่เป็นเพลงเปิดของอัลบั้ม ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพลงนี้จึงประสบความสำเร็จ ไม่รู้จริงๆ บางทีมันอาจจะเป็นเพราะมันมาถูกเวลาก็ได้
ผมรู้สึกว่าเป้าหมายของผม เหมือนผมจะเข้าไม่ถึง แต่ผมก็รู้สึกว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป(Carry on) และค้นหาต่อไป รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กดื้อ ที่ยังอยู่ห่างจากสัจธรรมแต่ก็พยายามที่จะเข้าถึงและรู้จักกับมัน เนื้อเพลงในตอนจบที่ว่า “จากนี้ไป ชีวิตคุณจะไม่ว่างเปล่าอีก แน่นอนสวรรค์รอต้อนรับคุณอยู่” ดูเหมือนแปลก ๆ และเหมือนจะเป็นการรีบร้อนสรุปไปหน่อย แต่ก็มีบางอย่างที่ชักนำให้ผมใส่มันลงไป มันพิสูจน์แล้วว่าผมถูก



“Logical song” / Artist : Supertramp
Featured on Breakfast in America. Released 1979/A&M
Words & Music by Roger Hodgson
Roger Hodgson (singer/songwriter) คุณไม่สามารถเทศนาสั่งสอนคนได้ แต่คุณสามารถช่วยยกระดับจิตใจของพวกเขาได้ และผมคิดว่าเพลงนี้มันทำหน้าที่นั้น ผมไม่อยากใช้คำว่า”สาส์น”ที่เพลงนี้สื่อออกไป มันเป็นเรื่องการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กของเรา เราเรียนรู้หลายสิ่งมากมายแต่ไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเราเองจริง ๆ เลย หรือไม่ก็น้อยมาก เราได้รับการสอนเกี่ยวกับเรื่องราวภายนอก แต่ไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวภายในตัวเราเลย ไม่เคยมีใครอธิบายให้เราได้เข้าใจเลย




“Smoke on the Water” / Artist : Deep Purple
Featured on Machine Head. Released 1972 / Warner Brothers
Words & Music by Ritchie Blackmore ,Ian Gillan , Roger Glover , Jon Lord and Ian Paice
Roger Glover (bassist) เราตัดสินใจที่จะบันทึกเสียงอัลบั้ม Machine Head บนเวทีคอนเสิร์ต เพราะอยากจะได้บรรยากาศแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ พูดง่าย ๆ ก็คือเราจะทำการบันทึกเสียงสตูดิโอ อัลบั้ม ภายใต้เงื่อนไขการบันทึกเสียงคล้ายบันทึกการแสดงสด เพียงแต่ว่าไม่มีคนดูเท่านั้น
เราเลือกสถานที่จากหลายแห่ง แล้วก็มาลงตัวที่คาสิโนที่มอนทรีออกซ์ (Montreux)...ที่นั่นแฟรงค์ แซปป้ากับวง The Mothers of Invention กำลังเล่นคอนเสิร์ตรอบบ่ายในวันก่อนที่จะถึงคิวของเราหนึ่งวัน เราได้รับเชิญเข้าไป แต่เราตั้งใจว่าจะไม่ขนเครื่องลงไปเพราะอาจจะทำให้สับสนกับเครื่องของแซปป้า เด็กขนเครื่องของเราตัดสินใจยังไม่เอาเครื่องดนตรีลงในวันนั้น แต่รอไว้จนถึงวันรุ่งขึ้น การตัดสินใจครั้งนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างที่สุดสำหรับพวกเรา
วงของแซปป้ากำลังสาละวนอยู่กับการตั้งเครื่องประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนที่เปลวไฟจะเริ่มต้นลุกลามขึ้น(ทราบทีหลังว่ามีคนจุดพลุในงาน และหลบหนีไปได้ตอนที่ทุกอย่างชุลมุน) ผู้คนเริ่มหวาดกลัว ในเวลาเพียงไม่กี่นาที เปลวไฟก็ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากนัก ผู้จัดงานต้องทำงานอย่างหนักทั้งทยอยผู้คนออกจากสถานที่และต้องจัดการดับไฟด้วยอุปกรณ์เท่าที่มีอยู่
ใช้เวลา 7 ชั่วโมง ไฟก็เผาผลาญทุกอย่างจนราบคาบ ผู้จัดงานต้องเสียเครื่องเสียงระบบไฮไฟทั้งหมด ตัวอาคารรวมทั้งชื่อเสียงและทุกคนที่อยู่ในธุรกิจดนตรี แซปป้า เสียเครื่องดนตรีทั้งหมดไป กีตาร์ กลองและอื่นๆ ส่วนเราลืมเหตุผลที่จะต้องมาอยู่ที่นี่ทำไม
ผู้จัดงานลืมปัญหาของเขาและมาช่วยเราจัดการเรื่องหาสถานที่สำหรับบันทึกเสียงแห่งใหม่ วันต่อมาเราย้ายไปที่คอนเสิร์ตฮอลเก่าแห่งหนึ่งแล้วก็เริ่มต้นบันทึกเสียง

Ritchie Blackmore (songwriter/guitarist) เราบันทึกเสียงเพลงนี้ในสถานที่ที่แตกต่างจากเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มซึ่งทำกันที่ โรงแรม แกรนด์ โฮเทล ใน มอนทรีออกซ์(montreux) แต่เพลงนี้เราบันทึกเสียงกันในสตูดิโอเคลื่อนที่ซึ่งมันก็คือรถคอนเทนเนอร์นั่นเอง ด้วยเสียงที่ดัง วันนั้นตำรวจมาเคาะที่ประตูสตูดิโอ เรารู้ว่านั่นต้องเป็นตำรวจแน่นอน เรารู้ว่าหากเราเปิดประตูออกไป นายตำรวจนายนั้นก็คงพูดว่า “หยุดบันทึกเสียงได้แล้ว เพราะมีคนโทรไปแจ้งความเรื่องเสียงดังรบกวน” ดังนั้นเราจึงไม่เปิดประตู เราถามมาร์ตินว่า “แบบนี้ดีหรือยัง” เขาตอบว่า “ไม่รู้สิ ผมคงต้องฟังทั้งหมดเสียก่อนจึงจะรู้ว่า มันดีหรือยัง” ตำรวจที่อยู่ด้านนอกยังคงทุบประตูเรียก เราไม่ต้องการเปิดจนกว่าจะได้รู้ว่าเราได้เทคที่เราพอใจหรือไม่ ในที่สุดเราก็ได้ เมื่อประตูถูกเปิดตำรวจบอกกับพวกเราว่า “พวกนายต้องหยุดเสียงดัง แล้วก็ไปให้พ้นจากที่นี่เดี๋ยวนี้”


“Stairway to Heaven” / Artist : Led Zeppelin
Featured on Untitled (Led Zeppelin IV).Released 1971 / Atlantic
Words & Music by Jimmy Page and Robert Plant
Jimmy Page (songwriter / guitarist) ผมหมกมุ่นอยู่กับกีตาร์โปร่งแล้วผมก็ได้บางส่วนของเพลงออกมา ซึ่งผมหลงใหลมันเลยทีเดียว ในขณะที่เขียนเพลงนี้ผมก็พยายามที่จะคิดวิธีการเรียบเรียงแบบใหม่ๆไปด้วย เช่น ผมไม่อยากให้มีเสียงกลองในช่วงแรกของเพลง จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มเข้ามาจนถึงช่วงที่เพลงดังที่สุด และผมยังอยากให้จังหวะเป็นอย่างนั้นเหมือนกันคือค่อย ๆ เร็วขึ้นเรื่อย ๆ พูดได้ว่าแหกกฎของวิธีการเรียบเรียงดนตรีที่คุ้น ๆ สิ่งที่ไม่มีคนดนตรีคนไหนเขาทำกัน
ผมได้โครงสร้างทั้งหมดแล้วจึงไปคุยกับจอห์น (John Paul Jones) เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจในความคิดของผม วันต่อมาเราเอาไอเดียไปคุยกับบอนแฮม (John Bonham) แรก ๆ บอนแฮมยังไม่ค่อยเข้าใจในช่วงกีตาร์โปร่ง 12 สายก่อนเข้าท่อนโซโล่ คุณต้องเข้าใจว่าช่วงแรก ๆ น่ะ มันยากมากเลยสำหรับทุกคนกว่าที่จะคุ้นกว่าที่จะจำได้ในช่วงนั้น แต่เมื่อเราเริ่มคุ้นกับมัน โรเบิร์ตก็เริ่มเขียนเนื้อเพลงออกมาและเนื้อทั้งหมดส่วนใหญ่ก็หลั่งไหลออกมาในช่วงนั้นนั่นเอง เขาไม่ต้องไปหลบนั่งคิดนั่งเขียนเลย มันออกมาตรงนั้นเลย ประหลาดมาก

Andy Johns (producer) ผมจำได้ว่าเคยคุยกับจิมมี่ว่าผมอยากให้ทางวงมีเพลงที่เริ่มต้นจากเบาๆเพราะๆสวยๆแล้วค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น...ใหญ่ขึ้น...ใหญ่ขึ้น จิมมี่บอกว่า “ไม่ต้องห่วง ผมมีเพลงหนึ่งแบบนั้นสำหรับอัลบั้มนี้ นายรอฟังเอาแล้วกัน”

John Paul Jones (songwriter/bassist) ส่วนตัวผมชอบเพลง “Stairway” มาก อาจฟังดูน่าเบื่อแต่เพลงนี้มันเหมือนรวมทุกสิ่งทุกอย่างภายในวงไว้ทั้งหมดเลยทีเดียว จากเสียงอคูสติก แล้วเข้าสู่ช่วงที่แจ๊สหน่อย ๆ แล้วจึงเข้าสู่ช่วงหนักหน่วงจนกระทั่งจบเพลง มันเป็นเพลงที่สุดยอดและประสบความสำเร็จมากจริง ๆ ผมไม่ได้หมายถึงในด้านยอดขายนะ ผมหมายถึงวิธีที่ทุกอย่างร่วมกันทำงานได้อย่างลงตัวยอดเยี่ยม ทุกส่วนสร้างขึ้นมาได้อย่างลงตัวมาก


You Really Got Me / Artist : The Kinks
Featured on You Really Got Me. Released 1964 / Rhino(re-released)
Words & Music by Ray Davies
Ray Davies (singer/songwriter/guitarist) ผมเขียนเพลงนี้เร็วมาก มันมีแค่ 4 บรรทัด ผมรู้สึกว่ามันต่อต้านบรรดาเพลงรักหวานๆที่ดัง ๆ อาทิ “Sweet for My Sweet” หรือ “She love You” ซึ่งผมรู้สึกเอียน บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าผมไม่ได้เป็นคนเขียนมันก็ได้
เมื่อการบันทึกเสียงเริ่มต้นขึ้น มันคล้ายกับคน 4 คนกำลังเดินทาง มันมีความรู้สึก มีอารมณ์ มีการทำลายล้าง มีการต่อสู้ และมีกึ๋นทั้งหมดอยู่ในเพลง ๆ นี้

Dave Davies (songwriter/guitarist) ผมไม่เคยเล่นกีตาร์ได้ดี ดังนั้นจึงหันเหไปทางทดลองด้านเสียงผมมีแอมป์ตัวเล็ก ๆ กำลังขยาย 5 วัตต์ยี่ห้อ El Pedo ซึ่งจะให้เสียงกีตาร์ที่บางมาก มันมักจะทำให้ผมรำคาญใจเสมอแต่มาคิดอีกทีคุณก็ไม่มีทางที่จะออกไปหาซื้อแอมป์ที่ให้เสียงแบบนี้ได้อีกแล้ว เมื่อพ้นจากความเบื่อหน่ายออกมาได้ ผมก็เริ่มชำแหละลำโพงด้วยเสียงกีตาร์คมเฉียบ


“Your Song” / Artist : Elton John
Featured on Elton John. Released 1970 / MCA
Words & Music by Elton John and Bernie Taupin
Elton John (singer/songwriter/pianist) คุณไม่มีทางที่จะหนีเพลง “Your Song” พ้น มันเป็นเพลงที่ไพเราะ งดงามด้วยภาษา มันถูกเขียนขึ้นมาด้วยเวลาเพียง 5 นาที

Bernie Taupin ( lyricist) มันเป็นเพลงซึ่งคุณสามารถได้ยินได้ทุกที่ คุณได้ยินที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ยินในห้างสรรพสินค้า ได้ยินใน
ลิฟของโรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ ในล็อบบี้ฮอลิเดย์ อินน์ ทุกๆที่ ทุกๆมุมในฮอลิเดย์ อินน์ มันกลายเป็นเพลงประจำฮอลิเดย์ อินน์ ไปซะแล้ว

Friday, January 26, 2007

Jimmy Webb


ตอนที่ผมยังเด็ก ผมเป็นคนที่คลั่งนิยายวิทยาศาสตร์มาก จิมมี่ระลึกความหลังให้ผมฟัง วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมอยู่ที่โบสถ์ พ่อผมเป็นพลวงพ่ออยู่ที่นั่น ผมนั่งค่อนไปทางข้างหลังของโบสถ์ในมือมีบทสวดแต่ใต้บทสวดคือ
นวนิยายวิทยาศาสตร์ พ่อผมกำลังยืนนำสวดอยู่ด้านหน้า เมื่อพ่อมองมาข้างหลังสายตาของพ่อคงมองเห็นพิรุธบางอย่างในตัวผม “จิมมี่ ลูกทำอะไรอยู่น่ะ ไหนออกมาข้างหน้านี่ซิ” ผมลุกเดินออกไปด้วยระยะทางที่ไกลพอสมควรทีเดียว “ยืนตรงนี้แล้วหันหน้าไปหาทุกคน” พ่อออกคำสั่ง “บอกกับทุกคนสิว่าแกอ่านอะไรอยู่”
ผมจำต้องพูดออกไปว่า “Martian Chronicles” ครับ
ด้วยสำเนียงโอคลาโฮมาที่นุ่มนวลและเนิบช้า ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าจิมมีกำลังพาเราเดินทางไปสู่เหตุการณ์บางอย่าง ทุกภาพที่เขาเล่าไม่ได้เพียงแค่รื้อฟื้นความทรงจำแต่มันนำเขากลับไปที่นั่นเลยทีเดียว และเช่นกันเพลงที่เขาเขียนก็นำผู้ฟังไปยังที่ๆเขาเล่าไว้ในบทเพลง
จิมมีเกิด 15 สิงหาคม 1946 ที่ เอลค์ ซิตี้(Elk City) โอคลาโฮมา ดินแดนที่สร้างสีสีนให้กับบทเพลงและความคิดแก่เขาอย่างมหาศาล เมื่อผมถามถึงที่มาของเพลง”Wichita Lineman” เขาบอกว่า ไอเดียมาจากโอคลาโอมานี่แหละ เมืองที่ใกล้ๆกับแคนซัส เมืองที่แบนราบ เวิ้งว้าง โดดเดี่ยว ไฮเวย์ที่ทอดยาวกับเสาไฟข้างถนนไกลจนสุดลูกหูลูกตา เขาเกิดและโตนี่นั่นตังแต่เด็ก และย้ายไปแอลเอกับครอบครัวเมื่ออายุ 18 ปี เริ่มต้นเป็นคนบันทึกเสียงเมื่อปี 1964 อายุ 21 จิมมี่ก็กลายเป็นคนแต่งเพลงที่โด่งดังคนหนึ่งของฮอลลี่วู้ด เขาเขียนเพลงดังหลายเพลง อย่างเช่นเพลง “By the Time I Got to Pheonix”ซึ่งร้องโดย จอห์นนี่ รีฟเวอร์(Johny Rivers) เพลง “Up Up and Away” โดย เดอะฟิฟ ไดเม็นชั่น (The Fifth Dimention) เกลน แคมเบล
(Glen Campbell) นักร้องที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควรจนกระทั่งเขาได้นำเพลงของจิมมีมาขับร้องเช่นเพลง “Wichita Lineman” “Galveston” “Where the Playground,Susie” “By the Time I Get to Phoenix” “Honey Come Back” รวมถึงริชาร์ด แฮร์ริสซึ่งพาตัวเองถึงจุดโด่งดังสุดขีดด้วยเพลงที่กล่าวถึงสถานที่สำคัญของแอลเอ “MacArthur Park”
จิมมี่ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องเท่าไรเมื่อเทียบกับการเป็นนักแต่งเพลงของเขา อย่างไรก็ดีเขามีอัลบั้มที่ถือว่ายิ่งใหญ่ เริ่มต้นจาก “Words & Music” ในปี 1970 “Suspending Disbelief” ในปี 1993 และในปี 1996 กับอัลบั้มที่นักฟังเพลงไม่สามารถมองข้ามได้ “Ten Easy Pieces”

คุณได้ทำนองแต่ละเพลงมาจากไหน
จากหลายวิธี หลายทาง ผมเขียนเนื้อเพลงเยอะ ในสมัยก่อนผมแต่งเพลงในรถโดยที่ไม่ต้องมีเปียโน ผมร้องทำนองออกมา ร้องเนื้อเพลงออกมาในขณะที่ขับรถไปเรื่อยๆ นั่นเป็นครั้งเดียวมั๊งที่ผมทำได้อย่างนั้น การเขียนเพลงของผม บางครั้งก็ได้เนื้อร้องก่อน บางทีก็ได้ทำนองก่อน บางครั้งก็มาพร้อมๆกันเลยทั้งเนื้อร้องและทำนอง
สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดก็คือการได้จดไอเดียหรือเนื้อเพลงลงในสมุดบันทึก ผมจะมีสมุดโน้ตไว้บันทึกไอเดียเหล่านี้
ผมมักจะบันทึกเนื้อเพลงที่ยังคร่าวๆไว้ก่อน จากนั้นผมก็จะไปที่เปียโนและเริ่มต้นค้นหาทำนองและสร้างอารมณ์ให้กับเพลงๆนั้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผมจะรู้ว่าตัวผมเองกำลังตามหาอะไร ผมจะรู้ว่ากำลังจะทำอะไรตั้งแต่ตอนที่เริ่มต้นเสมอ ผมไปไม่ถึงที่นั่นทุกครั้งหรอกนะ แต่ผมก็พยายามที่จะสร้างภาพเหล่านั้นออกมาในเพลงให้ชัดเจนที่สุด ภาพที่เพลงนั้นๆมันควรจะเป็น



ส่วนตัวแล้ว คุณมักเริ่มต้นจากเนื้อเพลงก่อน
มันเป็นเช่นนั้นบ่อยๆ ใช่ ผมชอบตั้งชื่อเพลง ผมชอบที่จะเริ่มต้นจากชื่อเพลง ผมชอบที่จะใช้ชื่อเพลงที่ดีนำทางผมต่อไปในการแต่งส่วนที่เหลือแม้บางครั้งมันอาจจะไปจบลงที่ชื่อเพลงอีกชื่อหนึ่งไปเลยก็ได้ ชื่อเพลงมักจะเป็นส่วนหนึ่งหรือวลีหนึ่งในเนื้อเพลงเสมอ ถ้าคุณเริ่มต้นจากอะไรที่ชัดเจนแบบนี้ ในเวลาที่คุณเขียนเนื้อเพลงโอกาสที่คุณจะโฟกัสในเรื่องนั้นๆได้ตรงขึ้นก็มีมากขึ้น โอกาสที่จะหลงไปทางอื่นก็น้อยลง ผมจึงชอบใช้วิธีนี้มากที่สุด

พูดถึงชื่อเพลง เพลง “The Moon’s a Harsh Mistress” คุณตั้งชื่อก่อน แล้วค่อยเขียนเพลงทั้งหมดหรือเปล่า
ชื่อเพลงนั้นมาจากจากเรื่องสั้นซึ่งเขียนโดย Robert A. Heinlein เรื่อง A Man Who Sold the Moon ผมชอบชื่อนั้นมากและมันติดอยู่ในใจผมตลอดมาเป็นปีๆ มันตามหลอกหลอนผม จนในที่สุดผมจึงต้องเขียนมันออกมาเป็นเพลง แต่โดยปกติผมจะไม่ค่อยใช้วิธีนี้ กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ การเอาชื่อของงานคนอื่นมาแต่งเพลง
แต่ผมก็ไม่อยากปกปิด เพลงไหนทำแบบนั้นผมก็เอามาเล่าให้ฟัง มันเกิดขึ้น นานๆครั้งจริงๆ

ผมรู้สึกทึ่งกับเพลงของคุณ ดูเหมือนว่าคุณมักจสร้างรูปแบบคอร์ด โครงสร้างคอร์ดแปลก และทำนองที่แปลกใหม่ คุณตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงความ”เก่า”และค้นหาสิ่งที่แปลกใหม่เหล่านั้น โดยตั้งใจหรือเปล่า
นั่นไม่ใช่เรื่องที่สนุกสำหรับผมเลย ผมไม่ได้ชอบเลย ผมเลือกที่จะตัดต้นไม้ยังสนุกซะกว่า แต่ทุกครั้งก่อนที่ผมจะเริ่มแต่งเพลง ผมจำเป็นจะต้องมีบางอย่างมารองรับคล้ายกับเท้าและขาของผม นั่นจะช่วยให้ผมรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้โครงสร้างที่ดีรองรับอยู่ และทำให้ผมกล้าที่จะเดินหน้าเพื่อเดินหน้าทำงานในขั้นตอนต่อๆไปในการเขียนเพลง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถทำได้หรือเปล่า ทุกครั้งที่ผมเริ่มนั่งลงและลงมือทำผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองจะทำได้เลย มันน่าหวาดเสียวมาก ดังนั้นก่อนที่ตัวผมเองจะบอกกับตัวเองว่าจะลงมือแต่งเพลงด้วยไอเดียใดก็ตาม ผมจะต้องมีโครงสร้าง ทางคอร์ดที่ดีรองรับเสียก่อนและเป็นทางคอร์ดที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผม นั่นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสิ่งแรกเลยทีเดียวสำหรับผม

ถ้าอย่างนั้นคุณก็ใช้เวลามากกับการค้นหารูปแบบและโครงสร้างของคอร์ดโดยที่ยังไม่มีทำนองและเนื้อร้องเลย
ใช่

ในตอนที่คุณค้นหาคอร์ด มันช่วยให้คุณคิดทำนองได้ด้วย หรือว่า ต้องมาคิดทีหลัง
ผมจะเริ่มต้นทำงานจากการหาโครงสร้างของคอร์ดก่อนและหากผมพบโครงสร้างคอร์ดที่น่าสนใจมันก็จะช่วยสร้างทำนองที่น่าสนใจตามมา มันยากมากที่โครงสร้างคอร์ดที่ดีจะสร้างทำนองที่น่าเบื่อ โครงสร้างคอร์ดที่น่าสนใจจะช่วยทำให้ตัวทำนองของเพลงนั้นๆน่าสนใจโดยคาดไม่ถึง

โครงสร้างของเพลงควรจะต้องแตกต่าง โดดเด่น เช่นไร
ใช่ มันต้องโดดเด่นและแตกต่าง โครงสร้างของเพลงแบบ เวิร์ส คอรัส บริดจ์ เวิร์ส คอรัส เป็นรูปแบบโครงสร้างที่ใช้เขียนเพลงกันมาเป็นล้านๆเพลงแล้ว ผมรู้สึกว่าเราควรลืมโครงสร้างแบบนั้นไปได้เลย เรารู้อยู่แล้วว่าเพลงมันจะออกมาเป็นอย่างไร เรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

โครงสร้างเพลงที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เหมือนจะเป็นตัวจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งเพลง ?
ผมรู้สึกเบื่อเพราะผมจะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าเพลงมันจะออกมาเป็นยังไง ผมคิดว่าพวกเราในฐานะที่อยู่ในธุรกิจเพลงนี้พวกเราควรที่จะต้องสร้างความรู้สึกนี้ให้กับสังคมและคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขารู้สึกประทับใจโดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ที่พร้อมจะยอมรับทุกสิ่งที่แปลกใหม่ และตกใจกับเรื่องใหม่ๆตลอดเวลาอยู่แล้ว
โครงสร้างแบบเดิมนี้ ทำให้ผมเบื่อหน่าย แต่ผมเองก็จะไม่ออกอัลบั้มใหม่ของผมโดยการแต่งเพลงแบบอิสระอย่างที่ว่าหรอกนะ ผมไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพียงคนเดียว ผมก็มีปัญหาที่จะหาทางขายอัลบั้มของผมอยู่แล้ว คำถามก็คือ เราทำอย่างอื่นได้อีกหรือเปล่า มันมีอีกโลกอีกโลกให้เราพิชิตหรือเปล่า มันมีอะไรเหลือให้เราค้นพบอีกหรือไม่ มันมีอะไรอีกนอกจากที่มีอยู่ให้เราสำรวจรึเปล่า นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะถามพวกคุณ ผมคิดว่ามันยังมีจักรวาลแห่งความเป็นไปได้อยู่ข้างนอกนั่น

Sunday, January 21, 2007

100








วันนี้เป็นวันที่ผมเดินทางมาถึงหน้าสุดท้ายของ หนังสือ “ร้อยเพลงแห่งความโดดเดี่ยว” หนังสือที่รวบรวม 100 เพลงจากปลายปากกาของบอย ตรัย ที่รวบรวมเรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละบทเพลงมาเล่าสั้น ๆ พร้อมกับได้รับการช่วยเหลือจากคุณวิภว์ (อดีตบรรณาธิการนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์) มาช่วยเล่าเรื่องตั้งแต่วัยเด็กของบอย เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ผมใช้เวลาในห้องน้ำอยู่หลายวันทีเดียวกว่าจะเดินทางมาถึงหน้าสุดท้ายของร้อยเพลงของคุณบอย (ต้องขออภัยที่ผมใช้เวลาถ่ายทุกข์ศึกษาการเดินทางของชีวิตคุณบอย แต่ผมรู้สึกว่าแต่ละบทของ ร้อยเพลง มันกำลังพอดิบพอดีกับระยะทางในการถ่ายทุกข์ของผมพอดี ) ผมชื่นชมในไอเดียของคุณบอย ที่ทำหนังสือลักษณะนี้ออกมา แม้จะอยากให้มีข้อมูลเบื้องหลังของแต่ละเพลงให้มากกว่านี้ แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่นับว่ากล้าทีเดียว เพราะบอยนับเป็นคนแต่งเพลงที่ยังเด็ก ถือเป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่มีผลงานครบ 100 เพลงไปแล้ว และยังนำเรื่องราวทั้งหมดทั้งที่เกี่ยวกับการเดินทางของชีวิตตัวเอง และการเดินทางของบทเพลง มาบันทึกไว้ในวันนี้ ในโอกาสครบ 100 เพลง ..........หากยังไม่ครบ 100 ผมก็คงยังไม่ได้เห็นหนังสือดีดี เล่มนี้

วันนี้ เป็นวันที่ผมเห็นภาพที่คิดว่าตัวเองไม่เคยเห็นมาก่อนในจอทีวี ผมเห็นภาพกรุงเทพในอดีต เห็นรถราง รถลาก เห็นแม่น้ำและมีคนภายเรือยิ้มแย้มแต่ฉากหลังกลับเป็นภาพคุ้นๆ นั่นคือพระที่นั่งอนันตสมาคม ผมไม่ทราบว่าตรงนั้นเคยเป็นแม่น้ำหรือว่าปีนั้นน้ำท่วมหนักกรุงเทพ ฯ ผมตกตะลึงกับภาพดังกล่าว อยากจะรู้นักว่าเป็นโฆษณาของสินค้าอะไร เป็นโฆษณา ธนาคารไทยพาณิชย์ ครบรอบ 100 ปี
..........หากยังไม่ครบ 100 ผมก็คงยังไม่ได้เห็นภาพเก่า ๆ เหล่านี้

วันนี้เป็นวันที่ผมอดที่จะมานั่งคิดไม่ได้ว่า 100 นั้นมันเข้ามาวนเวียนกับชีวิตผมช่วงนี้ถี่เหลือเกิน เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ผมก็เพิ่งได้รับเมลจากเพื่อนคนหนึ่งส่งมาให้ เป็นสถิติที่แปลกประหลาด ของชีวิตคนสองคนที่มีเส้นทางชีวิตอยู่ในยุคที่ต่างกันอยู่ 100 ปี
แต่กลับมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างประหลาด สองคนที่ว่านี้คือ ประธานาธิบดี ลินคอน และ ประธานาธิบดี เคเนดี้ ความแปลกประหลาดของสถิติเริ่มต้นดังนี้

ลินคอนได้รับเลือกเข้าสภาในปี 1846
เคเนดี้ได้รับเลือกเข้าสภาในปี 1946

ลินคอนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ในปี 1860
เคเนดี้ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ในปี 1960

ทั้งคู่ถูกลอบสังหารในวันศุกร์ และ ถูกยิงที่ศรีษะเหมือนกัน

หากสถิติดังกล่าวยังไม่แปลกพอ ขอให้อ่านต่อไป

เลขา ของประธานาธิบดีลินคอน มีชื่อว่า เคเนดี้
ส่วนเลขาของประธานาธิบดีเคนเนดี้ มีชื่อว่า ลินคอน

ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากทั้งคู่เป็นชาวใต้เหมือนกันและชื่อจอห์นสันเหมือนกันอีก
แอนดรูว์ จอห์นสัน ผู้รับตำแหน่งต่อจากลินคอน เกิดในปี 1808
ลินดอน จอห์นสัน ผู้รับตำแหน่งต่อจากเคเนดี้ เกิดในปี 1908

จอห์น วิลเกส บูท มือปืนผู้รอบยิงลินคอน เกิดในปี 1839
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอน มือปืนผู้รอบยิงเคเนดี้ เกิดในปี 1939

ลินคอนถูกลอบยิงในโรงหนังชื่อ “ฟอร์ด”
เคเนดี้ถูกลอบยิงในรถลินคอน ของ “ฟอร์ด”

ลินคอนถูกลอบยิงในโรงหนัง ฆาตกรวิ่งหนีไปซ่อนตัวในโกดังเก็บของ
เคเนดี้ ถูกลอบยิงจากโกดังเก็บของแล้วฆาตกรวิ่งหนีเข้าไปหลบในโรงหนัง

ฆาตกรทั้งคู่ถูกเก็บก่อนที่จะได้ขึ้นศาล

ข้อมูลสุดท้าย

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ลินคอนจะถูกลอบสังหารเขาอยู่ที่เมืองมอนโรว์ แมรีแลนด์
หนึ่งสัปดาห์ก่อนเคเนดี้จะถูกยิง เขาอยู่กับมารีรีน มอนโรว์