Friday, February 27, 2009

มาทำงานตรงเวลาหรือว่ามาสายกลับดึก ดีกว่ากัน

เมื่อสมัยเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ผมไปทำงานแต่เช้าและกลับบ้านดึก การไปทำงานแต่เช้าเป็นเพราะว่าตื่นเต้นกับชีวิตใหม่ ชีวิตคนทำงาน และการกลับบ้านดึกดื่นก็เป็นเพราะว่าอยากทำงานเยอะ รู้อะไรให้ไว ๆ จะได้ก้าวหน้าเร็ว ๆ

แต่จากนั้นเมื่อทำงานไปได้สักสองสามปี ผมเริ่มมาทำงานสายขึ้นนิดหน่อยแต่ยังคงกลับบ้านดึกดื่น เป็นเพราะความตื่นเต้นลดน้อยลง และความเก่าแก่ของการเป็นพนักงานเพิ่มขึ้นเรียกว่าชักคุ้นกับองค์กร แต่การกลับบ้านยังคงดึกดื่น ขยันหรือเปล่า ไม่แน่ใจ เพียงแต่รู้สึกว่าการทำงานหลังจากคนอื่น ๆ กลับบ้านแล้วมันลื่นไหลดี เพราะผมทำงานครีเอทีฟ ช่วงเวลากลางวันมันรู้สึกว่าบริษัทพลุกพล่าน ไหนจะเสียงคนงานพูดคุย เสียงโทรศัพท์ที่ดังไม่ขาดสาย ผมจึงจัดระเบียบการทำงานใหม่นั่นคืองานติดต่อต่าง ๆ จะทำในเวลากลางวัน พอตกค่ำผมจะเริ่มต้นคิดงานครีเอทีฟ แล้วก็ได้ผล จึงยึดวิธีนี้ในการทำงานมาตลอด ระยะหลัง ๆ เมื่อทำงานด้านนี้มาได้กว่าสิบปี ผมเริ่มมาทำงานบ่าย แต่ยังคงกลับดึกเหมือนเดิม ผมเริ่มรู้ว่างานครีเอทีฟนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาทำงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดที่โต๊ะทำงาน เราสามารถทำที่ไหนก็ได้เมื่อเจองานซ้อนกันเยอะ ๆ ผมเริ่มเอามันกลับไปบ้านด้วย นอนกับมัน ฝันถึงมัน คุยกับมันตลอดเวลา แต่ยังมาถึงที่ทำงานบ่าย ๆ อยู่ดี
ไม่นานงานผมก็รู้สึกเหมือนจะมีอิสระมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาหรือว่าสถานที่ ไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่ออฟฟิต เพราะคิดที่ไหนก็ได้ โชคดีที่องค์กรผมเขาไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องเวลาเข้างานมากนัก(โชคดีของผม)แต่ซีเรียสกับไอเดียที่คิดออกมามากกว่า จนในที่สุดผมก็กลายเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่คนที่ทำงานครีเอทีฟในบริษัทก็จะได้รับความเข้าใจและเห็นอกเห็นจากบริษัทไปด้วยกันหมด โดยการเลื่อนเวลาตอกบัตรให้ หรือไม่ก็ยกเว้นกฏข้อนี้ไปเลย
ผมจึงกลายเป็นพนักงานที่ไม่ได้สนใจเรื่องเวลาเข้าออกงานมากนักมาโดยตลอด
บางครั้งรู้สึกว่าคนอื่น ๆ จะมองว่าผมเป็นพวกอภิสิทธิ์หรือเปล่า คงมี แต่ผมไม่สนใจเท่าไร ขอให้งานออกมาดีมันก็เป็นเกราะป้องกันตัวดีดีนี่เอง

วันก่อนเพื่อนเก่าซึ่งไปเปิดบริษัทของตัวเองมาเล่าให้ฟังถึงปัญหาพนักงาน เขาบอกว่ามีพนักงานสองแบบที่ออฟฟิตเขา คือมาเช้ากลับตรงเวลา กับพวกมาสายแต่กลับดึก เราคุยกันเพื่อหาข้อยุติว่าพนักงานแบบใดดีกว่ากัน เป็นการตั้งกระทู้แบบลับสมองกันเล่น ๆ
ผมถามเขาว่ามีแค่สองแบบเองหรือ ไม่มีแบบว่ามาเช้ากลับดึกหรือ คำตอบคือไม่มี
หากคำถามคือเท่านี้และไม่มีข้อมูลรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ผมก็เลยตอบไปว่า พวกมาสายกลับดึกดิ เพราะอะไรหรือ เพราะผมเป็นพนักงานประเภทนั้นเหมือนกันเหตุผลก็ง่าย ๆ แค่นี้ แต่ในความเป็นจริงมันคงมีรายละเอียดในการพิจารณามากกว่านั้น มาเช้ากลับตรงเวลาก็ไม่ได้แปลว่าพนักงานคนนั้นไม่มีใจให้บริษัท และการกลับดึก ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าพนักงานคนนั้นอุทิศตัวเองให้บริษัทอย่างเต็มที่ อาจจะเป็นเพราะว่าทำงานช้าและจบงานไม่ทัน ไม่มีการวางแผนงานที่ดีพอ และการอยู่ดึก ๆ ดื่น ๆ ยังจะทำให้ค่าใช้จ่ายออฟฟิตสูงขึ้น เช่นค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทะนุบำรุงเพิ่มขึ้น พนักงานคนนั้นได้พักผ่อนน้อยลง ประสิทธิภาพในการทำงานในวันต่อมาก็จะลดลง และยิ่งไปกันใหญ่หากใครคนนั้นคิดว่าการอยู่ดึกทำให้ตัวเองดูขยันซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะพอใจและส่งผลถึงโบนัสในตอนปลายปี
ถึงตรงนี้เจ้าเพื่อนผมมันทำท่าเหมือนผมไปจี้จุดอะไรมันเข้า มันตบขาตัวเองเหมือนปัญหาถูกไขให้กระจ่างสว่างคาตา

“เป็นไปได้ว่ะ เพราะกูสังเกตุพอใกล้ ๆ ปีใหม่ทีไร พนักงานกูแม่งกลับดึก ๆ ทุกคนเลย”
“มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”
คุณล่ะคิดยังไง

“ทำงานตามเงินเดือน”

เงินเดือน มีความหมายในหลาย ๆ มิติแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
เงินเดือนควรจะเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสมควรของแต่ละคน แต่ละเวลาและแต่ละเงื่อนไข แตกต่างกันไป
ไม่มีใครสามารถบอกเงินเดือนที่สมควรสำหรับคุณได้อย่างแม่นยำ เพราะมันเป็นเรื่องของความพอใจและความเหมาะของคุณเอง คุณเองเท่านั้นที่จะรู้ถึงจุดสมควรตรงนั้นได้
ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถตอบคำถามให้กับน้องคนหนึ่งได้ว่า เธอสมควรจะเรียกเงินเดือนเท่าไรต่อการสมัครงานในตำแหน่งพีอาร์(จูเนียร์)ในบริษัทแห่งหนึ่ง คำแนะนำผมในตอนนั้นก็คือ ดูราคาตลาดทั่ว ๆ ไปเขาได้กันเท่าไรก็ตามนั้นไปก่อน เพราะการเข้าทำงานในครั้งแรกนั้น ความสำคัญไม่น่าจะอยู่ที่ตัวเลขเงินเดือน เราน่าจะมองที่โอกาสซึ่งเปิดให้เราพิสูจน์ตัวเองและโอกาสที่เราจะได้เข้าไปเรียนรู้งานในสนามจริง
บางคนก็แย้งว่าหากเราเริ่มงานที่เงินเดือนต่ำการที่บริษัทจะเพิ่มเงินเดือนให้ในเวลาต่อมานั้น แม้จะขึ้นแต่ก็อยู่ในอัตราที่ช้ามาก ทำให้บางคนเมื่อทำงานไปสักพักจนเชี่ยวชาญพอสมควรก็มักจะออกไปสมัครงานที่อื่น เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะอัพเงินเดือนได้ในอัตราที่ทันใจ
เมื่อพูดถึงเรื่องเงินเดือนจึงมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดมากมายหลายมุม แต่วันนี้ว่าจะมาชวนพวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือนมาช่วยกันคิดหน่อยว่า เราควรจะ
“ทำงานตามเงินเดือนที่ได้รับ” หรือ “ทำงานเกินเงินเดือนที่ได้รับ”

“ก็ได้เงินเดือนเท่านี้ ก็ทำเท่านี้แหละ” ประโยคที่ผมมักจะได้ยินน้อง ๆ และเพื่อนฝูงบางคนพูดกันบ่อย ๆ ได้เงินน้อย ก็ทำงานให้น้อยตามเงิน ดูเหมือนจะยุติธรรมดีแล้ว แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเงินถึงน้อย แล้วเมื่อคุณไม่พอใจจำนวนเงิน ทำไมถึงยอมตกลงทำงานให้กับเขาตั้งแต่แรก ทำไมไม่เจรจาเพื่อให้ได้เงินตามที่คุณต้องการ

“อ้าว ก็เมื่อสักครุ๋พี่ยังบอกให้ผมมองที่โอกาสนี่นา เงินเท่าไรไม่ใช่เรื่องใหญ่ในตอนเริ่มต้น แล้วตอนนี้จะมาบอกว่า ผมไปยอมเขาได้ยังไง”

“ก็ใช่ครับ ยอมรับเงินที่พอประมาณ (แม้ส่วนใหญ่คงรู้สึกว่ามันน้อย) แต่อย่างที่บอกไว้ให้จ้องไปที่โอกาสที่จะได้โชว์ฝีมือมากกว่า”

และเมื่อมีโอกาส การทำงานโดยยึดคติที่ว่า ทำงานตามเงินเดือน มันจึงเหมือนตัดโอกาสก้าวหน้าของตัวเอง ด้วยคำพูดประโยคนั้น มันเหมือนกับว่าคุณกำลังจะทำให้ทั้งคุณและบริษัทที่คุณทำงานด้วยจะไม่ก้าวหน้าไปไหน เสียหายทั้งสองฝ่าย

เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าเรากำลังมีความรู้สึกว่า ทำงานตามเงินเดือน ผมรู้สึกว่ากำลังมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ควรที่จะต้องมีการจัดการอะไรสักอย่างเพื่อกำจัดความคิดแบบนั้นออกไปให้เร็วที่สุด
แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าเป็นผม ผมจะกลับมาสำรวจตัวเองก่อนว่า เราสมควรหรือยังที่จะได้รับค่าตอบแทน
มากกว่าที่กำลังได้รับอยู่ ฝีมือเราพัฒนาไปไกลกว่าเดิม ความสามารถเราตอนนี้เหนือกว่าเมื่อก่อนเยอะ
และนายจ้างเราเขาเห็นหรือเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่านายจ้างเราเขารู้และเห็นพัฒนาการของเราหรือยัง ไม่มีวิธีใดที่จะชัดเจนเท่ากับการนั่งลงคุยกับเขา ถามเขาเลยว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ คิดว่าเรามีความสามารถที่จะช่วยบริษัทได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เรามีประโยชน์ต่อองค์กรหรือไม่ การขอเพิ่มเงินเดือนอาจจะใช้วิธีขอรับผิดชอบงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปก็ได้ เมื่อตำแหน่งสูงขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้นก็เป็นเหตุเป็นผลที่จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น
จะดีมากหากเรานำเสนอเขาเลยว่าให้เรารับผิดชอบตรงนั้นตรงนี้เพิ่มขึ้นน่าจะดีต่อองค์กร ผมหมายถึง นอกจากการจ้องจะขอเงินขึ้นเพียงอย่างเดียว ลองคิดวิธีที่เราจะเข้าไปช่วยทำ ช่วยสร้าง ช่วยเพิ่ม ตรงส่วนไหนได้อีกเพื่อให้องค์กรก้าวหน้าต่อไป บางทีไอเดียเราอาจจะไปปิ๊งเจ้านายเข้าโดยที่เขาอาจจะไม่เคยคิดไม่เคยมองเลยก็ได้ ในมุมของเจ้านายเขาก็จะเห็นว่าเรามีใจให้กับบริษัทจริง ๆ ไม่ใช่จ้องจะขอขึ้นแต่เงินเดือนโดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอะไรให้บริษัทดีขึ้นบ้าง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของตัวเองเป็นประสบการณ์ที่พบมาเมื่อหลายปีมาแล้ว
ผมเริ่มงานเป็น copywriter ในบริษัทโฆษณาทำไป 6 ปีตำแหน่งสุดท้ายคือ creative group head จากนั้น แกรมมีก็มาชวนไปทำงานในตำแหน่ง creative อีกนั่นแหละ ดูเหมือนผมน่าจะสบายใจเพราะงานที่จะไปทำมันก็เหมือนงานที่เคยทำ แต่ผมไม่ได้คิด
แบบนั้น ผมเห็นว่ามันแค่คล้าย ๆ กัน เพราะสินค้าเดิม ๆ ที่ผมทำนั้นมันไม่มีชีวิต มันเป็นสิ่งของ เป็นสบู่ ยาสีฟัน เป็นรถยนต์ แต่ที่แกรมมีผมไปทำครีเอทีฟก็จริงแต่สินค้ามันไม่ใช่สิ่งของมันเป็นคนและเป็นเพลง มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เรื่องนี้ทำให้ผมไม่ค่อยมั่นใจตัวเองว่าจะไปทำได้ดีหรือไม่ แต่ใจนั้นอยากไปทำมาก ๆ เพราะ 9 ปีกับงานโฆษณามันเริ่มสร้างความตื่นเต้นและตื่นตัวให้ผมน้อยลงทุกวัน และอีกอย่างก็อยากได้เงินเพิ่มขึ้นด้วย แต่ด้วยความไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีผมจึงไม่ได้เรียกร้องเงินจากแกรมมีสูงมากนัก หากจำไม่ผิดผมขอเงินเพิ่มจากเดิมที่เคยได้รับเพียงสี่ห้าพันบาทเอง และผมก็บอกความคิดผมให้กับนายจ้างรับรู้ คือด้วยความที่ผมยังไม่มั่นใจตัวเองว่าจะทำได้ดี(แม้ว่านายจ้างดูจะมั่นใจมาก)ผมจึงขอเงินค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นจากที่เดิมเพียงนิดหน่อย แต่หากทำไปแล้วผมสามารถทำได้ดี ผมขอคุยเรื่องเงินอีกทีภายหลังนะ ซึ่งก็ตกลงตามนั้น
เมื่อเริ่มงานจะด้วยความชอบ ความตื่นเต้น หรืออะไรก็ตาม ผมทำได้ดี อัลบั้มแรกที่ดูแลประสบความสำเร็จอย่างดี เมื่อมีโอกาสผมก็คุยกับเจ้านายเกี่ยวกับเรื่องเงิน แล้วผมก็ได้รับมันมากเกินกว่าที่ตัวผมเองคาดหมายไว้ซะอีก
ผมจึงไม่เห็นด้วยจริง ๆ สำหรับคนที่กำลังทำงานตามเงินเดือน มันเสียเวลาครับ

ถ้าเป็นคุณล่ะ
pom_goodbooks@hotmail.com