Friday, January 26, 2007

Jimmy Webb


ตอนที่ผมยังเด็ก ผมเป็นคนที่คลั่งนิยายวิทยาศาสตร์มาก จิมมี่ระลึกความหลังให้ผมฟัง วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมอยู่ที่โบสถ์ พ่อผมเป็นพลวงพ่ออยู่ที่นั่น ผมนั่งค่อนไปทางข้างหลังของโบสถ์ในมือมีบทสวดแต่ใต้บทสวดคือ
นวนิยายวิทยาศาสตร์ พ่อผมกำลังยืนนำสวดอยู่ด้านหน้า เมื่อพ่อมองมาข้างหลังสายตาของพ่อคงมองเห็นพิรุธบางอย่างในตัวผม “จิมมี่ ลูกทำอะไรอยู่น่ะ ไหนออกมาข้างหน้านี่ซิ” ผมลุกเดินออกไปด้วยระยะทางที่ไกลพอสมควรทีเดียว “ยืนตรงนี้แล้วหันหน้าไปหาทุกคน” พ่อออกคำสั่ง “บอกกับทุกคนสิว่าแกอ่านอะไรอยู่”
ผมจำต้องพูดออกไปว่า “Martian Chronicles” ครับ
ด้วยสำเนียงโอคลาโฮมาที่นุ่มนวลและเนิบช้า ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าจิมมีกำลังพาเราเดินทางไปสู่เหตุการณ์บางอย่าง ทุกภาพที่เขาเล่าไม่ได้เพียงแค่รื้อฟื้นความทรงจำแต่มันนำเขากลับไปที่นั่นเลยทีเดียว และเช่นกันเพลงที่เขาเขียนก็นำผู้ฟังไปยังที่ๆเขาเล่าไว้ในบทเพลง
จิมมีเกิด 15 สิงหาคม 1946 ที่ เอลค์ ซิตี้(Elk City) โอคลาโฮมา ดินแดนที่สร้างสีสีนให้กับบทเพลงและความคิดแก่เขาอย่างมหาศาล เมื่อผมถามถึงที่มาของเพลง”Wichita Lineman” เขาบอกว่า ไอเดียมาจากโอคลาโอมานี่แหละ เมืองที่ใกล้ๆกับแคนซัส เมืองที่แบนราบ เวิ้งว้าง โดดเดี่ยว ไฮเวย์ที่ทอดยาวกับเสาไฟข้างถนนไกลจนสุดลูกหูลูกตา เขาเกิดและโตนี่นั่นตังแต่เด็ก และย้ายไปแอลเอกับครอบครัวเมื่ออายุ 18 ปี เริ่มต้นเป็นคนบันทึกเสียงเมื่อปี 1964 อายุ 21 จิมมี่ก็กลายเป็นคนแต่งเพลงที่โด่งดังคนหนึ่งของฮอลลี่วู้ด เขาเขียนเพลงดังหลายเพลง อย่างเช่นเพลง “By the Time I Got to Pheonix”ซึ่งร้องโดย จอห์นนี่ รีฟเวอร์(Johny Rivers) เพลง “Up Up and Away” โดย เดอะฟิฟ ไดเม็นชั่น (The Fifth Dimention) เกลน แคมเบล
(Glen Campbell) นักร้องที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควรจนกระทั่งเขาได้นำเพลงของจิมมีมาขับร้องเช่นเพลง “Wichita Lineman” “Galveston” “Where the Playground,Susie” “By the Time I Get to Phoenix” “Honey Come Back” รวมถึงริชาร์ด แฮร์ริสซึ่งพาตัวเองถึงจุดโด่งดังสุดขีดด้วยเพลงที่กล่าวถึงสถานที่สำคัญของแอลเอ “MacArthur Park”
จิมมี่ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องเท่าไรเมื่อเทียบกับการเป็นนักแต่งเพลงของเขา อย่างไรก็ดีเขามีอัลบั้มที่ถือว่ายิ่งใหญ่ เริ่มต้นจาก “Words & Music” ในปี 1970 “Suspending Disbelief” ในปี 1993 และในปี 1996 กับอัลบั้มที่นักฟังเพลงไม่สามารถมองข้ามได้ “Ten Easy Pieces”

คุณได้ทำนองแต่ละเพลงมาจากไหน
จากหลายวิธี หลายทาง ผมเขียนเนื้อเพลงเยอะ ในสมัยก่อนผมแต่งเพลงในรถโดยที่ไม่ต้องมีเปียโน ผมร้องทำนองออกมา ร้องเนื้อเพลงออกมาในขณะที่ขับรถไปเรื่อยๆ นั่นเป็นครั้งเดียวมั๊งที่ผมทำได้อย่างนั้น การเขียนเพลงของผม บางครั้งก็ได้เนื้อร้องก่อน บางทีก็ได้ทำนองก่อน บางครั้งก็มาพร้อมๆกันเลยทั้งเนื้อร้องและทำนอง
สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดก็คือการได้จดไอเดียหรือเนื้อเพลงลงในสมุดบันทึก ผมจะมีสมุดโน้ตไว้บันทึกไอเดียเหล่านี้
ผมมักจะบันทึกเนื้อเพลงที่ยังคร่าวๆไว้ก่อน จากนั้นผมก็จะไปที่เปียโนและเริ่มต้นค้นหาทำนองและสร้างอารมณ์ให้กับเพลงๆนั้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผมจะรู้ว่าตัวผมเองกำลังตามหาอะไร ผมจะรู้ว่ากำลังจะทำอะไรตั้งแต่ตอนที่เริ่มต้นเสมอ ผมไปไม่ถึงที่นั่นทุกครั้งหรอกนะ แต่ผมก็พยายามที่จะสร้างภาพเหล่านั้นออกมาในเพลงให้ชัดเจนที่สุด ภาพที่เพลงนั้นๆมันควรจะเป็น



ส่วนตัวแล้ว คุณมักเริ่มต้นจากเนื้อเพลงก่อน
มันเป็นเช่นนั้นบ่อยๆ ใช่ ผมชอบตั้งชื่อเพลง ผมชอบที่จะเริ่มต้นจากชื่อเพลง ผมชอบที่จะใช้ชื่อเพลงที่ดีนำทางผมต่อไปในการแต่งส่วนที่เหลือแม้บางครั้งมันอาจจะไปจบลงที่ชื่อเพลงอีกชื่อหนึ่งไปเลยก็ได้ ชื่อเพลงมักจะเป็นส่วนหนึ่งหรือวลีหนึ่งในเนื้อเพลงเสมอ ถ้าคุณเริ่มต้นจากอะไรที่ชัดเจนแบบนี้ ในเวลาที่คุณเขียนเนื้อเพลงโอกาสที่คุณจะโฟกัสในเรื่องนั้นๆได้ตรงขึ้นก็มีมากขึ้น โอกาสที่จะหลงไปทางอื่นก็น้อยลง ผมจึงชอบใช้วิธีนี้มากที่สุด

พูดถึงชื่อเพลง เพลง “The Moon’s a Harsh Mistress” คุณตั้งชื่อก่อน แล้วค่อยเขียนเพลงทั้งหมดหรือเปล่า
ชื่อเพลงนั้นมาจากจากเรื่องสั้นซึ่งเขียนโดย Robert A. Heinlein เรื่อง A Man Who Sold the Moon ผมชอบชื่อนั้นมากและมันติดอยู่ในใจผมตลอดมาเป็นปีๆ มันตามหลอกหลอนผม จนในที่สุดผมจึงต้องเขียนมันออกมาเป็นเพลง แต่โดยปกติผมจะไม่ค่อยใช้วิธีนี้ กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ การเอาชื่อของงานคนอื่นมาแต่งเพลง
แต่ผมก็ไม่อยากปกปิด เพลงไหนทำแบบนั้นผมก็เอามาเล่าให้ฟัง มันเกิดขึ้น นานๆครั้งจริงๆ

ผมรู้สึกทึ่งกับเพลงของคุณ ดูเหมือนว่าคุณมักจสร้างรูปแบบคอร์ด โครงสร้างคอร์ดแปลก และทำนองที่แปลกใหม่ คุณตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงความ”เก่า”และค้นหาสิ่งที่แปลกใหม่เหล่านั้น โดยตั้งใจหรือเปล่า
นั่นไม่ใช่เรื่องที่สนุกสำหรับผมเลย ผมไม่ได้ชอบเลย ผมเลือกที่จะตัดต้นไม้ยังสนุกซะกว่า แต่ทุกครั้งก่อนที่ผมจะเริ่มแต่งเพลง ผมจำเป็นจะต้องมีบางอย่างมารองรับคล้ายกับเท้าและขาของผม นั่นจะช่วยให้ผมรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้โครงสร้างที่ดีรองรับอยู่ และทำให้ผมกล้าที่จะเดินหน้าเพื่อเดินหน้าทำงานในขั้นตอนต่อๆไปในการเขียนเพลง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถทำได้หรือเปล่า ทุกครั้งที่ผมเริ่มนั่งลงและลงมือทำผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองจะทำได้เลย มันน่าหวาดเสียวมาก ดังนั้นก่อนที่ตัวผมเองจะบอกกับตัวเองว่าจะลงมือแต่งเพลงด้วยไอเดียใดก็ตาม ผมจะต้องมีโครงสร้าง ทางคอร์ดที่ดีรองรับเสียก่อนและเป็นทางคอร์ดที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผม นั่นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสิ่งแรกเลยทีเดียวสำหรับผม

ถ้าอย่างนั้นคุณก็ใช้เวลามากกับการค้นหารูปแบบและโครงสร้างของคอร์ดโดยที่ยังไม่มีทำนองและเนื้อร้องเลย
ใช่

ในตอนที่คุณค้นหาคอร์ด มันช่วยให้คุณคิดทำนองได้ด้วย หรือว่า ต้องมาคิดทีหลัง
ผมจะเริ่มต้นทำงานจากการหาโครงสร้างของคอร์ดก่อนและหากผมพบโครงสร้างคอร์ดที่น่าสนใจมันก็จะช่วยสร้างทำนองที่น่าสนใจตามมา มันยากมากที่โครงสร้างคอร์ดที่ดีจะสร้างทำนองที่น่าเบื่อ โครงสร้างคอร์ดที่น่าสนใจจะช่วยทำให้ตัวทำนองของเพลงนั้นๆน่าสนใจโดยคาดไม่ถึง

โครงสร้างของเพลงควรจะต้องแตกต่าง โดดเด่น เช่นไร
ใช่ มันต้องโดดเด่นและแตกต่าง โครงสร้างของเพลงแบบ เวิร์ส คอรัส บริดจ์ เวิร์ส คอรัส เป็นรูปแบบโครงสร้างที่ใช้เขียนเพลงกันมาเป็นล้านๆเพลงแล้ว ผมรู้สึกว่าเราควรลืมโครงสร้างแบบนั้นไปได้เลย เรารู้อยู่แล้วว่าเพลงมันจะออกมาเป็นอย่างไร เรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

โครงสร้างเพลงที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เหมือนจะเป็นตัวจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งเพลง ?
ผมรู้สึกเบื่อเพราะผมจะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าเพลงมันจะออกมาเป็นยังไง ผมคิดว่าพวกเราในฐานะที่อยู่ในธุรกิจเพลงนี้พวกเราควรที่จะต้องสร้างความรู้สึกนี้ให้กับสังคมและคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขารู้สึกประทับใจโดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ที่พร้อมจะยอมรับทุกสิ่งที่แปลกใหม่ และตกใจกับเรื่องใหม่ๆตลอดเวลาอยู่แล้ว
โครงสร้างแบบเดิมนี้ ทำให้ผมเบื่อหน่าย แต่ผมเองก็จะไม่ออกอัลบั้มใหม่ของผมโดยการแต่งเพลงแบบอิสระอย่างที่ว่าหรอกนะ ผมไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพียงคนเดียว ผมก็มีปัญหาที่จะหาทางขายอัลบั้มของผมอยู่แล้ว คำถามก็คือ เราทำอย่างอื่นได้อีกหรือเปล่า มันมีอีกโลกอีกโลกให้เราพิชิตหรือเปล่า มันมีอะไรเหลือให้เราค้นพบอีกหรือไม่ มันมีอะไรอีกนอกจากที่มีอยู่ให้เราสำรวจรึเปล่า นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะถามพวกคุณ ผมคิดว่ามันยังมีจักรวาลแห่งความเป็นไปได้อยู่ข้างนอกนั่น

Sunday, January 21, 2007

100








วันนี้เป็นวันที่ผมเดินทางมาถึงหน้าสุดท้ายของ หนังสือ “ร้อยเพลงแห่งความโดดเดี่ยว” หนังสือที่รวบรวม 100 เพลงจากปลายปากกาของบอย ตรัย ที่รวบรวมเรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละบทเพลงมาเล่าสั้น ๆ พร้อมกับได้รับการช่วยเหลือจากคุณวิภว์ (อดีตบรรณาธิการนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์) มาช่วยเล่าเรื่องตั้งแต่วัยเด็กของบอย เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ผมใช้เวลาในห้องน้ำอยู่หลายวันทีเดียวกว่าจะเดินทางมาถึงหน้าสุดท้ายของร้อยเพลงของคุณบอย (ต้องขออภัยที่ผมใช้เวลาถ่ายทุกข์ศึกษาการเดินทางของชีวิตคุณบอย แต่ผมรู้สึกว่าแต่ละบทของ ร้อยเพลง มันกำลังพอดิบพอดีกับระยะทางในการถ่ายทุกข์ของผมพอดี ) ผมชื่นชมในไอเดียของคุณบอย ที่ทำหนังสือลักษณะนี้ออกมา แม้จะอยากให้มีข้อมูลเบื้องหลังของแต่ละเพลงให้มากกว่านี้ แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่นับว่ากล้าทีเดียว เพราะบอยนับเป็นคนแต่งเพลงที่ยังเด็ก ถือเป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่มีผลงานครบ 100 เพลงไปแล้ว และยังนำเรื่องราวทั้งหมดทั้งที่เกี่ยวกับการเดินทางของชีวิตตัวเอง และการเดินทางของบทเพลง มาบันทึกไว้ในวันนี้ ในโอกาสครบ 100 เพลง ..........หากยังไม่ครบ 100 ผมก็คงยังไม่ได้เห็นหนังสือดีดี เล่มนี้

วันนี้ เป็นวันที่ผมเห็นภาพที่คิดว่าตัวเองไม่เคยเห็นมาก่อนในจอทีวี ผมเห็นภาพกรุงเทพในอดีต เห็นรถราง รถลาก เห็นแม่น้ำและมีคนภายเรือยิ้มแย้มแต่ฉากหลังกลับเป็นภาพคุ้นๆ นั่นคือพระที่นั่งอนันตสมาคม ผมไม่ทราบว่าตรงนั้นเคยเป็นแม่น้ำหรือว่าปีนั้นน้ำท่วมหนักกรุงเทพ ฯ ผมตกตะลึงกับภาพดังกล่าว อยากจะรู้นักว่าเป็นโฆษณาของสินค้าอะไร เป็นโฆษณา ธนาคารไทยพาณิชย์ ครบรอบ 100 ปี
..........หากยังไม่ครบ 100 ผมก็คงยังไม่ได้เห็นภาพเก่า ๆ เหล่านี้

วันนี้เป็นวันที่ผมอดที่จะมานั่งคิดไม่ได้ว่า 100 นั้นมันเข้ามาวนเวียนกับชีวิตผมช่วงนี้ถี่เหลือเกิน เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ผมก็เพิ่งได้รับเมลจากเพื่อนคนหนึ่งส่งมาให้ เป็นสถิติที่แปลกประหลาด ของชีวิตคนสองคนที่มีเส้นทางชีวิตอยู่ในยุคที่ต่างกันอยู่ 100 ปี
แต่กลับมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างประหลาด สองคนที่ว่านี้คือ ประธานาธิบดี ลินคอน และ ประธานาธิบดี เคเนดี้ ความแปลกประหลาดของสถิติเริ่มต้นดังนี้

ลินคอนได้รับเลือกเข้าสภาในปี 1846
เคเนดี้ได้รับเลือกเข้าสภาในปี 1946

ลินคอนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ในปี 1860
เคเนดี้ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ในปี 1960

ทั้งคู่ถูกลอบสังหารในวันศุกร์ และ ถูกยิงที่ศรีษะเหมือนกัน

หากสถิติดังกล่าวยังไม่แปลกพอ ขอให้อ่านต่อไป

เลขา ของประธานาธิบดีลินคอน มีชื่อว่า เคเนดี้
ส่วนเลขาของประธานาธิบดีเคนเนดี้ มีชื่อว่า ลินคอน

ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากทั้งคู่เป็นชาวใต้เหมือนกันและชื่อจอห์นสันเหมือนกันอีก
แอนดรูว์ จอห์นสัน ผู้รับตำแหน่งต่อจากลินคอน เกิดในปี 1808
ลินดอน จอห์นสัน ผู้รับตำแหน่งต่อจากเคเนดี้ เกิดในปี 1908

จอห์น วิลเกส บูท มือปืนผู้รอบยิงลินคอน เกิดในปี 1839
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอน มือปืนผู้รอบยิงเคเนดี้ เกิดในปี 1939

ลินคอนถูกลอบยิงในโรงหนังชื่อ “ฟอร์ด”
เคเนดี้ถูกลอบยิงในรถลินคอน ของ “ฟอร์ด”

ลินคอนถูกลอบยิงในโรงหนัง ฆาตกรวิ่งหนีไปซ่อนตัวในโกดังเก็บของ
เคเนดี้ ถูกลอบยิงจากโกดังเก็บของแล้วฆาตกรวิ่งหนีเข้าไปหลบในโรงหนัง

ฆาตกรทั้งคู่ถูกเก็บก่อนที่จะได้ขึ้นศาล

ข้อมูลสุดท้าย

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ลินคอนจะถูกลอบสังหารเขาอยู่ที่เมืองมอนโรว์ แมรีแลนด์
หนึ่งสัปดาห์ก่อนเคเนดี้จะถูกยิง เขาอยู่กับมารีรีน มอนโรว์