Thursday, November 24, 2005

คนไทยบนเรือไททานิค:ความทรงจำที่ไม่มีวันจม



“บ้านของคุณอยู่ที่ไหน”

“สำหรับตอนนี้ บ้านของผมก็คือ เรือไททานิค
หลังจากนั้น ก็แล้วแต่พระเจ้า
ผมมาอยู่บนเรือลำนี้ได้เพราะเล่นไพ่ชนะ
ช่างโชคดีจริง ๆ
ชีวิตคือเกมส์แห่งโชค”

“คุณพอใจที่จะมีชีวิตอยู่โดยไร้อนาคตงั้นหรือ”

“...ใช่ครับ , ผมมีสิ่งที่ผมต้องการอยู่กับตัว
ผมมีอากาศสำหรับหายใจ มีกระดาษเปล่าสำหรับวาดภาพ
ผมรักที่จะตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าจะต้องพบเจอกับอะไร
จะกินอะไร จะนอนที่ไหน
คืนก่อนผมยังนอนอยู่ใต้สะพาน
คืนนี้ได้มานอนบนเรือที่ยิ่งใหญ่
ดื่มเหล้ากับพวกผู้ดี
ชีวิตคือของขวัญ อย่าเสียเวลาเปล่า ๆ
เพราะเราไม่รู้ว่าไพ่ในมือจะขึ้นมาแบบไหน
ต้องพร้อมเผชิญกับชีวิตให้ได้ทุกรูปแบบ
.......ทำแต่ละวันให้มีค่าที่สุด”

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารระหว่างพวกผู้ดีกับแจ็ค ดอร์สัน หนุ่มพเนจรซึ่งโชคดีได้ตั๋วขึ้นเรือมาจากการเล่นไพ่ ในค่ำคืนสุดท้าย 14เมษายน 2455 ก่อนที่เรือไททานิคจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ว่าแจ็ค ดอร์สันจะมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเขาเป็นแค่เพียงบุคคลในจินตนาการที่เจมส์ คาเมรอนผู้เขียนบทภาพยนตร์สร้างขึ้นมา หากแต่ว่าคนแบบแจ็คนั้นมีตัวจริงแน่นอนบนโลกใบนี้ ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้นับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งที่ดูผมรู้สึกซาบซึ้งและทุกครั้งจะรู้สึกอินไปกับเหตุการณ์ แม้เรือลำนี้จะจมลงไปนับถึงวันนี้ก็เกือบจะ 100ปีแล้วก็ตาม
ต้องยอมรับว่าผมมาหลงเสน่ห์เรือลำนี้เข้าก็ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย จากนั้นก็เริ่มออกสำรวจทุกอย่างเกี่ยวกับเรือลำนี้ เมื่อเริ่มต้นสำรวจผมอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองทำไปเพราะอะไร รู้แต่เพียงว่าตัวเองรู้สึกผูกพันอย่างมาก สิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ แม้จะรู้ว่าเป็นการเขียนบทขึ้นมา แต่ทุกครั้งที่หยิบดีวีดีขึ้นมาดู เหมือนตัวเองได้หลุดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น แล้วก็คิดต่อเอาเองว่าไม่แน่ มันอาจจะมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ได้ เพราะตั้งแต่ไททานิคจมลง นอกจากจะทิ้งเรื่องราวและข้อมูลส่วนหนึ่งให้คนรุ่นหลังสามารถติดตามความจริงออกมาได้ แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังเป็นความลับที่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ช่องว่างตรงนี้จึงเป็นโอกาสให้นักจินตนาการได้วาดฝันใส่ลงไป ผมเองยังเคยคิดเอาเองเล่น ๆ เลยว่า เรือยักษ์ลำแรกของโลกในวันนั้นกับการเดินทางครั้งแรกของเธอทำไมไม่มีคนไทยอยู่ในเรือลำนั้นเลยเชียวหรือ ผมอยากให้มีคนไทยอยากให้มีตัวแทนคนไทยสักคนได้มีโอกาสร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ผมพยายามสืบเสาะหารายชื่อผู้รอดตาย ผู้สูญหายที่อาจจะเป็นคนไทย แต่ก็ไม่พบ ครั้นจะฟันธงว่าไม่มี ก็ยังไม่ยุติธรรมเพราะมีร่างที่ไม่สามารถระบุได้ถึงที่มาที่ไปอยู่อีกมาก และร่างที่สูญหายไปกลางทะเลอีก อย่างไรก็ตามแม้การเดินทางสำรวจเรื่อไททานิคของผมจะไปสามารถค้นพบคนไทยในตอนนี้แต่แล้ววันหนึ่งผมก็เจอเข้ากับใครบางคนที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยและอยู่บนเรือไททานิคในคืนนั้น ผมเจอผู้รอดชีวิตสามคนพ่อแม่ลูก ครอบครัวคลาด์เวลล์ (Caldwell) Mr. Albert F. Caldwell ,Mrs.Sylvia Mae Cladwell และบุตรชาย Alden Gates Caldwell ซึ่งถือกำเนิดในกรุงเทพฯเวลานั้นมีอายุเพียง 1 ปี อัลเบิร์ตและซิลเวียเป็นครูทั้งคู่สอนอยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ทั้งสามเดินทางกลับบ้านเกิดในเดือนเมษายน 2455 สำหรับผมเด็กชายอัลเด็น คลาด์เวลล์ น่าจะนับว่าเป็นคนไทยได้หรือเปล่า เพราะเกิดในแผ่นดินไทย เสียดายที่ว่าในประวัติซึ่งนายอัลเบิร์ต คลาด์เวลล์เขียนเล่าไว้ภายหลังว่า ตอนที่ลูกชายเขาเกิด กงสุลอเมริกันยังไม่สามารถจดทะเบียนการเกิดให้กับลูกชายได้
อัลเบิร์ตยังเขียนเล่าต่อไปอีกว่าพวกเขาเดินทางออกจากประเทศไทยและในขณะอยู่ที่ยุโรป ได้เห็นป้ายโฆษณาของบริษัทไวท์สตาร์ เกี่ยวกับการเดินทางเที่ยวแรกของเรือไททานิค เรือที่ใหญ่ยักษ์ที่สุดในวันนั้น เรื่อที่ได้ชื่อว่าไม่มีวันจม เขาเล่าว่า เขาเห็นโฆษณาที่โรงแรมแต่ไม่สามารถที่จะซื้อตั๋วได้ เขาจะต้องเดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อซื้อตั๋ว แต่ตั๋วก็เต็มหมด เขาต้องรอว่าจะมีใครยกเลิกตั๋วเดินทางเที่ยวนี้บ้างหรือไม่ ในที่สุดพวกเขาได้ตั๋วชั้น 2และขึ้นเรือที่ท่าเรือเซาท์แธมป์ตันจนได้ โดยไม่รู้หรือไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยว่าไพ่ในมือของเขานั้นจะเป็นอย่างไร
14เม.ย. 2455 เวลาประมาณ 23.40น. เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็ง
15เม.ย.2455 เวลาประมาณ 2.20น. ใช้เวลาประมาณ 2ชั่วโมง40นาที
ไททานิคจมลงสู่ก้นทะเล
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 160นาทีนั้น ยังคงมีเสน่ห์ชวนค้นหาตลอดมา จนถึงวันนี้ก็ 93ปี
ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรือจมลง วันหลังมีโอกาสจะนำมาเล่าต่อ
ขออนุญาตปิดคอลัมน์นี้ด้วยบทพูดท้ายสุดของภาพยนตร์ไททานิค ซึ่งกล่าวโดยหัวหน้านักสำรวจ
“ 3 ปีที่ผมเฝ้าคิดถึงแต่ไททานิค แต่ไม่เคยเข้าใจเลย ไม่เคยเข้าถึงอย่างถ่องแท้เลย”

ศ.เศรษฐสิทธิ

ขั้นตอนการผลิตเพลงฮิต



คาราโอเกะ ผมถือเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่จะชี้ชัดและวัดความดังและความฮิตของเพลง ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงเก่า หรือเพลงใหม่
หากถูกใครนำมาขับร้องต้องนับว่าเพลง ๆ นั้นก็เป็นเพลงฮิต อย่างน้อยก็สำหรับคน ๆ นั้น ทุกวันนี้หากอยากรู้ว่าเพลงไหนดัง
ผมก็จะเข้าไปฟังคนร้องคาราโอเกะ ก่อนหน้านั้นอาจจะวัดไม่ได้ทันเวลานักเพราะแผ่นคาราโอเกะมักจะออกมาช้าล้าหลังกว่าอัลบั้ม
กว่าจะได้ร้องคาราโอเกะก็ต้องอย่างน้อยสองถึงสามเดือน แต่สมัยนี้ค่ายเพลงเขาเรียกว่าออกแผ่นคาราโอเกะมาพร้อม ๆ กันกับอัลบั้มเลยทีเดียว
เพลงฮิตติดปากที่เราได้ฟังได้ยินร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทราบไหมครับว่ากว่าจะออกมาเป็นเพลงฟังเพราะ ๆ ไม่เกินสี่นาทีนี่
เขาทำงานกันเป็นเดือน ๆ ทีเดียว แล้วขั้นตอนในการทำก็ไม่ใช่ง่าย ใช้ทีมงานเรียกว่าระดับมืออาชีพ ยิ่งศิลปินตัวใหญ่ ยิ่งทำยาก คิดมากเพิ่มเป็นเท่าตัว
ขั้นตอนในการผลิตเพลงให้ศิลปินสักคน หากเราตัดขั้นตอนในการสืบเสาะ ค้นหาศิลปินซึ่งก็เป็นขั้นตอนที่ยากเย็นและต้องใช้ความสามารถและ
สายตาในการค้นหา หากเลือกมาถูกมันก็ทำให้งานขั้นตอนต่อ ๆ ไปง่ายขึ้น สมมติเราได้ศิลปินมาแล้ว ทีมงานแต่งเพลงก็จะมานั่งประชุม
หาแนวทางของเพลงว่านักร้องคนที่เลือกมานี้ มีบุคลิกและความชอบในตัวเพลงประเภทใด เพลงป็อป เพลงร็อค ป็อปร็อค, แดนซ์ ,ฮิพฮอพ
หรือเพลงฟังสบาย ๆ การวางแนวเพลงตรงนี้อาจจะไม่ยากเท่าไรนักเพราะโดยปกติแล้วก็สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่านายคนนี้หรือน้องคนนี้เหมาะที่จะร้องเพลงแนวไหน จากนั้นโปรดิวส์เซอร์ซึ่งเป็นคนที่ใหญ่ที่สุดในขั้นตอนแต่งเพลงก็จะสั่งการให้ทีมงานไปแต่งเพลงกันมาโดยอยู่บนแนวทางของเพลงที่เลือกกันไว้แล้ว โดยทีมดนตรีก็จะแยกย้ายไปแต่งทำนองมาก่อน จากนั้นก็จะนำมาเข้าที่ประชุมเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ว่าทำนองที่แต่งมานั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ หากใช้ได้ก็จะถูกส่งผ่านไปยังทีมงานแต่งเนื้อร้อง ซึ่งจะมีหน้าที่หาคำ หาเรื่องราว และใส่ลงไปในทำนองที่เลือกแล้วให้ได้อย่างลงตัว ซึ่งงานตรงนี้นับว่ายากมาก ยากกว่าเพลงฝรั่งอีก เพราะภาษาไทยเรามีเสียงวรรณยุกต์ แต่ภาษาอังกฤษนั้นไม่มีจึงสามารถใส่คำลงไปได้ในทุกเสียงโน้ต แต่ภาษาไทยทำไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ความหมายผิดไปและฟังพิกล บางคนเรียกว่าโกงโน้ต เมื่อได้เนื้อร้องมาก็เอามาเข้าที่ประชุม(อีกแล้ว) พร้อมเนื้อที่พิมพ์มาแจกจ่ายให้ครบทุกคนในที่ประชุม แล้วทุกคนก็เริ่มวิเคราะห์และวิจารณ์(เหมือนเดิม) เมื่อพอใจก็นำไปให้นักร้องเข้าห้องอัดร้องออกมา แล้วก็นำมาเข้าที่ประชุมเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์(อีก) นั่นคือขั้นตอนคร่าวๆ ในการผลิตเพลง ความยากของการทำงานแบบนี้ก็คือการชั่งน้ำหนักระหว่างความเป็นงานศิลปะหรือว่าพาณิชย์ว่าน้ำหนักจะไปตกอยู่ตรงไหน และเนื่องจากการสร้างเพลงเป็นงานศิลปะ ความถูกผิดมันจึงไม่ชัดเหมือนงานบัญชีหรืองานตัวเลขซึ่งผิดหรือถูกจะชัดเจนกว่า ดังนั้นบนเส้นทางการสร้างนักร้องและสร้างเพลงฮิตขึ้นมาจึงเต็มไปด้วยสงครามแห่งอัตตา เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรจะถูก อะไรจะผิด จนกว่าเพลง ๆ นั้นจะถูกออกอากาศและเดินทางไปสู่หูผู้ฟัง บางเพลงอาจจะเข้าหูซ้ายแล้วทะลุหูขวา แต่ว่าบางเพลงอาจจะเลี้ยวลงไปอยู่ในใจคนฟังและฝังอยู่ในนั้นไปตลอดกาลก็ได้ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ด้วยธรรมชาติการทำงานที่ต้องอยู่บนเงื่อนไขดังกล่าวทำให้มันกลายเป็นธุรกิจเพื่อความบันเทิงที่คนทำงานนั้นไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่บันเทิงเลย
แต่เพลงฮิตบางครั้งมันก็มาของมันเอง หากใครที่อายุสามสิบขึ้นคงจะรู้จักเพลงฝรั่ง Kung Fu Fighting เพลงฮิตที่ดังมากในเมืองไทยในช่วงปี 1974-75 เพลงนี้ร้องโดยคาร์ล ดักลาส (Carl Douglas) อยู่ในอันดับ 1 ของ Billboard ในเดือนธันวาคม 1974 ที่บ้านเราในช่วงนั้นทุกไนท์คลับจะต้องเล่นเพลงนี้ รายการวิทยุเพลงสากลเปิดกันสนั่นเมือง เกี่ยวกับที่มาของเพลงก็มีอยู่ว่า ฤดูใบไม้ผลิปี 1974 บิดดู (Biddu) โปรดิวส์เซอร์ชาวอินเดียซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน กำลังมองหานักร้องที่จะมาบันทึกเสียงในเพลงซึ่งแต่งโดยลาร์ลี่ ไวส์ (Lary weiss) เจ้าของเพลงดังอย่าง Rhinestone Cowboy
แล้วบิดดู ก็นึกถึงนักร้องคนหนึ่งซึ่งเคยมาร้องเพลงประกอบหนังที่เขาเป็นคนแต่งเมื่อสองปีก่อนเขาคือ
คาร์ล ดักกลาส
“นายจะเอาอะไร ฉันให้ทุกอย่างเลย” บิดดูโทรไปหาคาร์ล
แล้วคาร์ลก็ตกลงที่จะมาร้องให้ เพลงของไวซ์นั้นเป็นซิงเกิ้ลที่จะบรรจุไว้ในหน้า A แล้วเพลงหน้า B ล่ะ
บิดดู ถามคาร์ลว่ามีเพลงที่คาร์ล แต่งทิ้งไว้บ้างไหม
คาร์ลหยิบเนื้อเพลงที่เขาแต่งไว้ขึ้นมา 4-5 เพลง หนึ่งในนั้นคือเพลง Kung Fu Fighting
บิดดูชอบ แล้วก็ลงมือแต่งทำนองเดี๋ยวนั้นทันที ไม่มีอะไรต้องซีเรียส ไม่มีอะไรต้องวิเคราะห์
และด้วยเวลาเพียงสิบนาทีที่เหลือในสตูดิโอ เพลง Kung Fu Fighting ก็เสร็จออกมา บิดดู บอกว่า ”เราใส่เสียง hoo! Haa! เหมือนคนกำลังคาราเต้กัน มันสนุกมาก”
Kung Fu Fighting ขึ้นอันดันดับหนึ่งทั่วโลก ด้วยจำนวนแผ่นที่ขายไปได้ทั้งหมดเก้าล้านแผ่น

Monday, November 07, 2005

ชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว ชื่อมั่วบางทีก็ชัวร์ดี





“ชื่อ” มีอิทธิพลต่อดวงชะตาของผู้เป็นเจ้าของชื่อหรือไม่ คำถามนี้ไม่เคยอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผมมาโดยตลอดสี่สิบกว่าปี จนมาระยะหลัง ๆ เมื่อเห็นเพื่อนฝูงบางคนเริ่มเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียง ก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก คงเป็นเพราะความวุ่นวายในชีวิตประจำวันส่วนตัวกระมัง เลยไม่ทันได้ไปคิดถึงเรื่องนอกตัว สิ่งหนึ่งที่มากระทบหยักสมองของผมก็ตอนที่ได้เห็นรายชื่อของเด็กนักเรียนเพื่อนร่วมชั้นของลูกชาย เกือบทุกคนเรียกว่าแปดสิบ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์มีชื่อที่ผมอ่านแล้วรู้สึกไม่คุ้นเคยเป็นอย่างมาก การสะกด การออกเสียง ผมว่ามันยากกว่าชื่อสมัยที่พ่อแม่ของผมตั้งกัน ชื่อที่คุ้น ๆ เคย ๆ อย่างสมศักดิ์ สมชาย วิทยา จารุณี วราภรณ์
สมศรี อะไรแบบนี้ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมตั้งกันสักเท่าไรแล้ว แต่จะเป็นชื่อที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเลอเลิศ ไพเราะ และมีความหมายที่ดีเกือบจะทั้งสิ้น แต่สะกดยาก เรียกว่าเมื่อคุณถามเขาว่าชื่ออะไร เมื่อเขาตอบกลับมา รับรองว่าคุณจะต้องมีคำถามต่อไปว่า สะกดอย่างไรครับอย่างแน่นอน ทำให้นึกย้อนภาพกลับไปสมัยที่ผมยังทำงานเป็น ครีเอทีฟอยู่ที่แกรมมีก็มีพี่โปรดิวส์เซอร์คนหนึ่งแกเปลี่ยนชื่อเมื่ออายุผมเดา ๆ ว่าน่าจะประมาณเกือบ ๆ 50ปี ทั้งชื่อเล่น ชื่อจริง เหตุผลใดนั้น ก็ไม่เคยได้คุยกับแกตรง ๆ สักที แต่ที่ได้ยินมาก็เป็นเรื่องของดวงชะตา เหมือนว่าชื่อไม่เป็นสิริมงคลกับตัวประมาณนั้น

ทุกวันนี้มีหมอดู ซึ่งเมื่อก่อนก็ดูดวงชะตาจากวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟากอะไรประมาณนั้น แต่ระยะหลัง(จะมีมานานแค่ไหนอย่างไรผมก็ไม่แน่ใจ แต่ผมเพิ่งจะรู้ว่ามีเมื่อประมาณต้นปีนี้นี่เอง)
มีการดูดวงชะตาจากชื่อ นามสกุล และให้บริการตั้งชื่อใหม่ เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อไปในภายภาคหน้า และก็เป็นที่นิยมอยู่พอสมควรทีเดียว ผมจับข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วลองคิดเอาเองว่าการที่ชื่อในยุคสมัยนี้เปลี่ยนไปจากสมัยผม อาจจะเป็นเพราะคนเริ่มคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนชื่อจะมีอิทธิพลต่อดวงชะตาของเจ้าของหรือไม่ ไม่มีใครฟันธงได้ แต่เชื่อไว้มันก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย (ระยะหลัง ๆ นี่นักธุรกิจดัง ๆ ก็ไปเปลี่ยนเหมือนกัน)

พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ให้นึกถึงวงดนตรีจากเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ในยุค 70’s ชื่อวงว่า 10CC หากใครที่โตมากับยุคนั้นคงพอจะเคยได้ยินชื่อของวง ๆ นี้บ้าง เพราะมีเพลงดังในบ้านเราตอนนั้นอย่างน้อย ๆ ก็ 2เพลง I’m not in love และ The Thing We Do For Love.
10CC มีสมาชิก 4 คน Graham Gouldman,Eric Stewart,Kevin Godley,และ Lol Crème
ในประเทศอังกฤษ 10CC ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพลงของเขาอยู่ในชาร์ตท็อปเท็นอย่างต่อเนื่องโดยตลอดในช่วงระหว่างปี 1972-1978 และสามารถขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ1ใน UK Chart ได้ถึง 3เพลง คือ “Rubber Bullets” ในปี 1973
เพลง “I’m not in love”ในปี 1975
และ “Dearlock Holiday” ในปี 1978
ส่วนเพลง “The things we do for love”ซึ่งเป็นอีกเพลงที่ฮิตในบ้านเราเวลานั้นก็ติดอันดับ 6ใน UK และอันดับ 5 ใน US
นั่นเป็นเรื่อง “ผล” ของ “งาน” ของพวกเขา แต่ที่หยิบวงนี้ขึ้นมา สาเหตุก็เพราะชื่อวงครับ เคยสงสัยตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่ามันมีความหมายอะไรหรือเปล่า รู้สึกแต่ว่าชื่อมันแปลกและโดดเด่นดี ตอนนั้นก็ไม่ได้พยายามหาคำตอบแต่อย่างไร ปล่อยให้ตัวเองสงสัยจนลืม แล้ววันหนึ่งผมได้อ่านหนังสือชื่อ Losing my Virginity เขียนโดย Richard Branson ส่วนหนึ่งของเนื้อในพูดถึงชื่อวง 10CC ว่ามีที่มาอย่างไร เมื่อได้รู้แล้วผมเองพูดไม่ออกบอกไม่ได้เหมือนกันว่าความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นคืออะไร แปลกใจ ประหลาดใจ ไม่น่าเชื่อ สะใจ หรือทุกอย่างรวมกัน ความหมายมันมาจากไอเดียที่ว่า “ทุกครั้งที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์ ปริมาณน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาแต่ละครั้งจะมีปริมาณโดยเฉลี่ย 10ซีซี” สนุกดีไหมล่ะครับ
นี่คือความหมายของชื่อ 10CC วงดนตรีที่โด่งดังวงหนึ่งในยุค 70’s ......คิดต่อเอาเองครับ



เศรษฐสิทธิ์ บุลเสฏฐ์