Thursday, November 24, 2005

ขั้นตอนการผลิตเพลงฮิต



คาราโอเกะ ผมถือเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่จะชี้ชัดและวัดความดังและความฮิตของเพลง ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงเก่า หรือเพลงใหม่
หากถูกใครนำมาขับร้องต้องนับว่าเพลง ๆ นั้นก็เป็นเพลงฮิต อย่างน้อยก็สำหรับคน ๆ นั้น ทุกวันนี้หากอยากรู้ว่าเพลงไหนดัง
ผมก็จะเข้าไปฟังคนร้องคาราโอเกะ ก่อนหน้านั้นอาจจะวัดไม่ได้ทันเวลานักเพราะแผ่นคาราโอเกะมักจะออกมาช้าล้าหลังกว่าอัลบั้ม
กว่าจะได้ร้องคาราโอเกะก็ต้องอย่างน้อยสองถึงสามเดือน แต่สมัยนี้ค่ายเพลงเขาเรียกว่าออกแผ่นคาราโอเกะมาพร้อม ๆ กันกับอัลบั้มเลยทีเดียว
เพลงฮิตติดปากที่เราได้ฟังได้ยินร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทราบไหมครับว่ากว่าจะออกมาเป็นเพลงฟังเพราะ ๆ ไม่เกินสี่นาทีนี่
เขาทำงานกันเป็นเดือน ๆ ทีเดียว แล้วขั้นตอนในการทำก็ไม่ใช่ง่าย ใช้ทีมงานเรียกว่าระดับมืออาชีพ ยิ่งศิลปินตัวใหญ่ ยิ่งทำยาก คิดมากเพิ่มเป็นเท่าตัว
ขั้นตอนในการผลิตเพลงให้ศิลปินสักคน หากเราตัดขั้นตอนในการสืบเสาะ ค้นหาศิลปินซึ่งก็เป็นขั้นตอนที่ยากเย็นและต้องใช้ความสามารถและ
สายตาในการค้นหา หากเลือกมาถูกมันก็ทำให้งานขั้นตอนต่อ ๆ ไปง่ายขึ้น สมมติเราได้ศิลปินมาแล้ว ทีมงานแต่งเพลงก็จะมานั่งประชุม
หาแนวทางของเพลงว่านักร้องคนที่เลือกมานี้ มีบุคลิกและความชอบในตัวเพลงประเภทใด เพลงป็อป เพลงร็อค ป็อปร็อค, แดนซ์ ,ฮิพฮอพ
หรือเพลงฟังสบาย ๆ การวางแนวเพลงตรงนี้อาจจะไม่ยากเท่าไรนักเพราะโดยปกติแล้วก็สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่านายคนนี้หรือน้องคนนี้เหมาะที่จะร้องเพลงแนวไหน จากนั้นโปรดิวส์เซอร์ซึ่งเป็นคนที่ใหญ่ที่สุดในขั้นตอนแต่งเพลงก็จะสั่งการให้ทีมงานไปแต่งเพลงกันมาโดยอยู่บนแนวทางของเพลงที่เลือกกันไว้แล้ว โดยทีมดนตรีก็จะแยกย้ายไปแต่งทำนองมาก่อน จากนั้นก็จะนำมาเข้าที่ประชุมเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ว่าทำนองที่แต่งมานั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ หากใช้ได้ก็จะถูกส่งผ่านไปยังทีมงานแต่งเนื้อร้อง ซึ่งจะมีหน้าที่หาคำ หาเรื่องราว และใส่ลงไปในทำนองที่เลือกแล้วให้ได้อย่างลงตัว ซึ่งงานตรงนี้นับว่ายากมาก ยากกว่าเพลงฝรั่งอีก เพราะภาษาไทยเรามีเสียงวรรณยุกต์ แต่ภาษาอังกฤษนั้นไม่มีจึงสามารถใส่คำลงไปได้ในทุกเสียงโน้ต แต่ภาษาไทยทำไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ความหมายผิดไปและฟังพิกล บางคนเรียกว่าโกงโน้ต เมื่อได้เนื้อร้องมาก็เอามาเข้าที่ประชุม(อีกแล้ว) พร้อมเนื้อที่พิมพ์มาแจกจ่ายให้ครบทุกคนในที่ประชุม แล้วทุกคนก็เริ่มวิเคราะห์และวิจารณ์(เหมือนเดิม) เมื่อพอใจก็นำไปให้นักร้องเข้าห้องอัดร้องออกมา แล้วก็นำมาเข้าที่ประชุมเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์(อีก) นั่นคือขั้นตอนคร่าวๆ ในการผลิตเพลง ความยากของการทำงานแบบนี้ก็คือการชั่งน้ำหนักระหว่างความเป็นงานศิลปะหรือว่าพาณิชย์ว่าน้ำหนักจะไปตกอยู่ตรงไหน และเนื่องจากการสร้างเพลงเป็นงานศิลปะ ความถูกผิดมันจึงไม่ชัดเหมือนงานบัญชีหรืองานตัวเลขซึ่งผิดหรือถูกจะชัดเจนกว่า ดังนั้นบนเส้นทางการสร้างนักร้องและสร้างเพลงฮิตขึ้นมาจึงเต็มไปด้วยสงครามแห่งอัตตา เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรจะถูก อะไรจะผิด จนกว่าเพลง ๆ นั้นจะถูกออกอากาศและเดินทางไปสู่หูผู้ฟัง บางเพลงอาจจะเข้าหูซ้ายแล้วทะลุหูขวา แต่ว่าบางเพลงอาจจะเลี้ยวลงไปอยู่ในใจคนฟังและฝังอยู่ในนั้นไปตลอดกาลก็ได้ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ด้วยธรรมชาติการทำงานที่ต้องอยู่บนเงื่อนไขดังกล่าวทำให้มันกลายเป็นธุรกิจเพื่อความบันเทิงที่คนทำงานนั้นไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่บันเทิงเลย
แต่เพลงฮิตบางครั้งมันก็มาของมันเอง หากใครที่อายุสามสิบขึ้นคงจะรู้จักเพลงฝรั่ง Kung Fu Fighting เพลงฮิตที่ดังมากในเมืองไทยในช่วงปี 1974-75 เพลงนี้ร้องโดยคาร์ล ดักลาส (Carl Douglas) อยู่ในอันดับ 1 ของ Billboard ในเดือนธันวาคม 1974 ที่บ้านเราในช่วงนั้นทุกไนท์คลับจะต้องเล่นเพลงนี้ รายการวิทยุเพลงสากลเปิดกันสนั่นเมือง เกี่ยวกับที่มาของเพลงก็มีอยู่ว่า ฤดูใบไม้ผลิปี 1974 บิดดู (Biddu) โปรดิวส์เซอร์ชาวอินเดียซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน กำลังมองหานักร้องที่จะมาบันทึกเสียงในเพลงซึ่งแต่งโดยลาร์ลี่ ไวส์ (Lary weiss) เจ้าของเพลงดังอย่าง Rhinestone Cowboy
แล้วบิดดู ก็นึกถึงนักร้องคนหนึ่งซึ่งเคยมาร้องเพลงประกอบหนังที่เขาเป็นคนแต่งเมื่อสองปีก่อนเขาคือ
คาร์ล ดักกลาส
“นายจะเอาอะไร ฉันให้ทุกอย่างเลย” บิดดูโทรไปหาคาร์ล
แล้วคาร์ลก็ตกลงที่จะมาร้องให้ เพลงของไวซ์นั้นเป็นซิงเกิ้ลที่จะบรรจุไว้ในหน้า A แล้วเพลงหน้า B ล่ะ
บิดดู ถามคาร์ลว่ามีเพลงที่คาร์ล แต่งทิ้งไว้บ้างไหม
คาร์ลหยิบเนื้อเพลงที่เขาแต่งไว้ขึ้นมา 4-5 เพลง หนึ่งในนั้นคือเพลง Kung Fu Fighting
บิดดูชอบ แล้วก็ลงมือแต่งทำนองเดี๋ยวนั้นทันที ไม่มีอะไรต้องซีเรียส ไม่มีอะไรต้องวิเคราะห์
และด้วยเวลาเพียงสิบนาทีที่เหลือในสตูดิโอ เพลง Kung Fu Fighting ก็เสร็จออกมา บิดดู บอกว่า ”เราใส่เสียง hoo! Haa! เหมือนคนกำลังคาราเต้กัน มันสนุกมาก”
Kung Fu Fighting ขึ้นอันดันดับหนึ่งทั่วโลก ด้วยจำนวนแผ่นที่ขายไปได้ทั้งหมดเก้าล้านแผ่น

No comments: