Friday, March 20, 2009

สนามความคิด OFFICE’S STORIES

เป็นคอลัมน์ที่ตั้งใจจะนำเรื่องราวและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในออฟฟิตในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านใด ๆ ของชีวิตการทำงาน มาพูดคุยและเปิดโอกาสให้คนอ่านร่วมส่งผ่านความคิดเห็น และแสดงวิธีการแก้ปัญหาเข้ามาในคอลัมน์ด้วย

ในหนึ่งชีวิตของคน หากแบ่งเป็นช่วงใหญ่ ๆ ในแต่ละวัย คงเริ่มต้นกันที่ วัยเยาว์ วัยเรียน และวัยทำงาน มีการแข่งขันใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในชีวิตเราอย่างน้อย ๆ ก็สองครั้ง คือการสอบเข้าเรียนและการสอบเข้าทำงาน ปัจจุบันการแข่งขันเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กว่าเมื่อก่อนนี้ การสอบเอ็นทรานซ์มีคนสมัครสอบมากขึ้นในขณะที่ความต้องการและความสามารถในการรับนักศึกษาเข้าเรียนมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่เชื่อกันว่าดีนั้นมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะสามารถรับได้ ค่านิยมและความเชื่อเดิม ๆ ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดขึ้นมามากมาย แต่นักเรียนทั้งหมดก็ยังคงมุ่งหน้าแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อที่จะเข้าเส้นชัยให้ได้
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หลายคนโล่งใจ อย่างน้อยก็ผ่านการแข่งขันสนามแรกมาได้แล้ว แต่การแข่งขันที่รออยู่เบื้องหน้านั้นมันช่างยากเย็นยิ่งกว่าหลายร้อยเท่า เพราะนักศึกษาที่เรียนจบออกมาปี ๆ หนึ่งนั้นมันมีจำนวนมากกว่าอัตราการจ้างงานในแต่ละองค์กรอย่างมาก นี่ยังไม่นับถึงการแข่งขันเพื่อที่จะได้เข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงและมั่นคง ยิ่งต้องมีการแข่งขันกันสูงยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้สมัครนอกจากจะต้องเอาชนะคู่แข่งจากการสอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์แล้ว เราจะทำอย่างไรให้โดดเด่นกว่าคนอื่น ทำอย่างไรให้ชนะใจกรรมการ ทำอย่างไรให้ตัวเรานั้นเข้าตากรรมการ วันนี้หากเรามาตั้งเป้าว่า จะทำอย่างไรให้ชนะใจกรรมการและได้งาน คุณ ๆ ผู้อ่านคิดว่ามีวิธีใดบ้างที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเราในวันที่เราต้องไปแข่งขันเพื่อให้ได้รับเลือกและเข้าทำงานในองค์กรเป้าหมาย
เรามาเริ่มต้นกันที่จะต้องทำอะไรบ้าง มีขั้นตอนอะไรบ้าง ก่อนที่เราจะเข้าไปถึงสนามแข่งขัน
สมมติว่าวันนี้ผมสำเร็จการศึกษา ผมอยากทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟหรือก็อปปี้ ไรท์เตอร์ในบริษัทโฆษณา สิ่งที่ผมจะต้องทำคือ เปิดหนังสือพิมพ์ เปิดเว็บไซด์ หาข้อมูลว่ามีบริษัทโฆษณาใดบ้าง ที่ต้องการรับสมัครพนักงานในตำแหน่งที่ผมต้องการ สมมติว่าหาแล้วไม่มีบริษัทไหนลงประกาศรับเลย คุณคิดว่าคุณจะทำอย่างไรต่อไป ยกเลิกความฝันแล้วไปมองหางานอื่น หรือยังคงมุ่งมั่นค้นหาและนั่งรอนอนรอต่อไปจนกว่าจะพบประกาศรับสมัครของบริษัทที่ต้องการครีเอทีฟ
นอกจากสองทางเลือกนี้ มันมีทางอื่นอีกหรือไม่

ถ้าเป็นคุณ ๆ จะทำอย่างไร
ถ้าเป็นผม ผมจะยังคงความฝันของตัวเองเอาไว้ แต่จะไม่นั่งรอประกาศรับสมัคร ผมจะไปค้นหาที่อยู่ของบริษัทแล้วส่งใบสมัครไปทิ้งไว้ทุกที่เลย ไม่ต้องรอให้เขาประกาศรับ ร่อนใบสมัครไปทุกที่เลย พอถึงวันที่เขาขาดครีเอทีฟหรือว่าต้องการรับครีเอทีฟเพิ่ม เราก็จะเป็นคนแรก ๆ เลยที่เขาจะเรียกไปสัมภาษณ์หรือทดสอบ

สมมติต่อไปอีกว่าหากมีคนคิดแบบนี้เหมือนกันหลายคน ก็จะมีใบสมัครแบบเดียวกับเราอีกหลายใบ ทีนี้จะทำยังไงดีให้เราโดดเด่นและประทับใจกรรมการเหนือกว่าคนอื่น ๆ เหนือกว่าใบสมัครใบอื่น ๆ
แน่นอนในใบสมัครทุกใบก็คงมีรายละเอียดทั่วไปบวกประวัติการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่จบมา กรรมการก็คงต้องดูจากข้อมูลเหล่านี้ ใบสมัครที่ระบุว่านิเทศน์ศาสตร์ จุฬา ก็คงจะน่าสนใจและได้เปรียบใบสมัครใบอื่น ๆ และสมมติต่อไปอีกว่า ในรายละเอียดการศึกษาของคุณไม่ได้จบมาทางนี้ เช่นคุณจบมาทางเศรษฐศาสตร์ และยังมาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณจะทำอย่างไรล่ะที่นี้ แม้จะตัดหน้าคนอื่นโดยส่งใบสมัครไปดักรอไว้ก่อน แต่ก็ต้องไปเจอกับคนที่คิดเหมือนกัน แต่มาจากสถาบันและคณะที่ตรงกับตำแหน่งมากกว่า
แม้จะรู้ตัวเองดีว่า คุณนั้นเป็นครีเอทีฟเต็มตัวและหัวใจ
คิดมาถึงตรงนี้คุณก็มีทางเลือกสองทาง หนึ่งเลิกล้มความฝันแล้วผันตัวเองไปสมัครงานในตำแหน่งที่ตรงกับที่เรียนจบมา หรือสองรอโชคช่วยและลุ้นว่าอาจจะไม่มีใบสมัครของเด็กนิเทศน์จุฬาเลยก็ได้

ถ้าเป็นคุณ ๆ จะทำอย่างไร
ถ้าเป็นผม ผมจะทำใบสมัครที่มันแหกคอก ออกไปจากรูปแบบของใบสมัครงานทั่วไป เช่น ทำเป็นแมกกาซีนแอด ทำเป็นหนังโฆษณา ทำเป็นสปอตวิทยุ หรืออะไรก็ได้ที่สามารถแสดงออกให้กรรมการเขารู้ว่า เราเข้าใจงานโฆษณาและเหมาะสมอย่างที่สุดแล้วที่จะเข้ารับตำแหน่งครีเอทีฟ
ผมจะแทนตัวเองเป็นสินค้า แล้วคิดไอเดียเด็ด ๆ ให้โดนใจกรรมการไปเลย

คิดเห็นเป็นอย่างไร มีไอเดียเด็ด ๆ โยนลงสนามมาเลยนะครับ เพื่อน ๆ รออ่านอยู่
ส่งมาที่ pom_goodbooks@hotmail.com

1 comment:

eskimo said...

ถ้าเป็นผม ... ซึ่งตอนนี้ทำงานอยู่ แต่ถ้าตกงานเมื่อไหร่ ผมก็จะทำตามที่พี่แนะนำไงครับ แต่ก่อนที่สิ่งนั้นมันจะเกิดขึ้น

ผมควรตั้งใจทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงอะไรแบบนั้นไปก่อนครับ

แฮ่ะๆ